ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรสิทธิแรงงานเผย บริษัทเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่ทุ่มเงินให้นักเตะ แต่ไม่ยอมเพิ่มค่าแรงให้พนักงานโรงงานผลิตเสื้อผ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมระบุว่า ส่วนแบ่งที่พนักงานเคยได้รับจากการผลิตสินค้าลดลงถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับ 25 ปีที่แล้ว

รายงานชื่อว่า Foul Play ขององค์กรสิทธิแรงงานระหว่างประเทศ Éthique sur l’étiquette และ Clean Clothes Campaign หรือ CCC ซึ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ขององค์กรเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ระบุว่า พนักงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าจาก 3 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ไม่ได้รับการจ่ายค่าแรงอย่างเป็นธรรมจากบริษัทเสื้อผ้าและสินค้ากีฬาชื่อดังที่เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ในการแข่งขันฟุตบอลโลก หรือเวิลด์คัพ ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพในปีนี้

เนื้อหาในรายงานพาดพิงถึง 'ไนกี' และ 'อาดิดาส' สองบริษัทที่ทุ่มเงินไปกับการสนับสนุนนักฟุตบอลทีมชาติ 22 ทีม จากทั้งหมด 32 ทีมที่ผ่านเข้ารอบไปแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซียปีนี้ โดยยกตัวอย่างกรณีที่ทีมชาติฝรั่งเศสได้รับเงินสนับสนุนจาก 'ไนกี' เป็นเงินกว่า 50.5 ล้านยูโร (ประมาณ 1,868 ล้านบาท) และ 'อาดิดาส' สนับสนุนเงินแก่ทีมชาติเยอรมนี 65 ล้านยูโร (ประมาณ 2,405 ล้านบาท) โดยระยะเวลาสนับสนุนจะผูกพันไปถึงฟุตบอลโลกครั้งหน้า ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2022 ที่ประเทศกาตาร์อีกด้วย

รายงานระบุว่า การทุ่มเงินของบริษัทยักษ์ใหญ่ไปกับนักกีฬาต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้าและสร้างภาพลักษณ์ที่ดี แต่แรงงานผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้กลับได้รับส่วนแบ่งเพียงน้อยนิด เพราะค่าแรงที่ได้รับเทียบกับค่าครองชีพในประเทศต้นทางการผลิตสินค้า คิดเป็นสัดส่วนที่ลดลงถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับตัวเลขเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

Clean Clothes Campaign-With Logo.jpg

(แรงงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าของอินโดนีเซีย ชูป้ายรณรงค์ประกอบรายงาน Foul Play : ข้อความที่ปรากฎในภาพกล่าวถึงคริสเตียโน โรนัลโด นักฟุตบอลชาวโปรตุเกสที่มีชื่อเสียงโด่งดัง โดยระบุว่า "คุณอาจไม่รู้จักฉัน แต่ฉันรู้จักคุณ ฉันเป็นคนเย็บเสื้อที่คุณใส่")

แรงงานในอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตสินค้าส่วนใหญ่ของไนกีและอาดิดาส ได้แก่ เสื้อฟุตบอลและรองเท้าฟุตบอล ขณะที่ร้อยละ 80 ของแรงงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าของอินโดนีเซียเป็นผู้หญิง เกือบทั้งหมดได้รับค่าแรงเฉลี่ยเดือนละ 80-200 ยูโร (ราว 2,960 - 7,400 บาท) ในขณะที่รายได้ขั้นต่ำที่เหมาะสมกับการดำรงชีพในกลุ่มประเทศเอเชีย จากการสำรวจของ Asia Floor Wage Alliance (AFWA) ชี้ว่าแรงงานในเอเชียควรมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนขั้นต่ำประมาณ 363 ยูโร (ราว 13,431 บาท)

สององค์กรผู้จัดทำรายงาน Foul Play พร้อมด้วย 'ราจา' ผู้นำสหภาพแรงงานในอินโดนีเซีย ได้ร่วมกันเรียกร้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฟุตบอลโลก เปลี่ยนนโยบายหรือพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง เพราะการทุ่มงบสปอนเซอร์หรือโฆษณาจำนวนมหาศาลส่งผลกระทบต่อการว่าจ้างแรงงานเช่นกัน

ราจาระบุว่า แรงงานผู้ผลิตเสื้อผ้าและสินค้ากีฬาในอินโดนีเซียได้รับเงินส่วนแบ่งไม่ถึงร้อยละ 1 ของรายได้จากการขายสินค้าต่างๆ แต่ถ้าหากบริษัทมีผลประกอบการที่ดี ก็น่าจะพิจารณาขึ้นค่าแรงให้กับแรงงานเหล่านี้บ้าง แต่ที่ผ่านมา บริษัทสินค้ากีฬาทั้งหลายไม่เคยทบทวนเรื่องค่าแรงที่สมเหตุสมผลอย่างที่ควรจะเป็น

หลังจากที่มีการเผยแพร่รายงาน Foul Play สำนักข่าวรอยเตอร์ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์บริษัทไนกีและอาดิดาสเพิ่มเติม โดยโฆษกของไนกียืนยันว่าบริษัทมีการทำสัญญากับซัพพลายเออร์ทุกราย โดยตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องจ่ายค่าแรงแก่แรงงานผู้ผลิตสินค้าในอัตราเทียบเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำของประเทศที่เป็นฐานการผลิต รวมถึงจะต้องให้สวัสดิการและค่าล่วงเวลาตามที่กฎหมายแรงงานระบุไว้

ลูกบอล-ฟุตบอล-อาดิดาส-unsplash.jpg

ไนกีระบุว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทได้พยายามตรวจสอบและเจรจากับตัวแทนรัฐบาล รวมถึงภาคอุตสาหกรรม องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร รวมถึงสหภาพแรงงานของแต่ละประเทศที่เป็นฐานการผลิต เพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการจ้างงานและการผลิตสินค้าต่างๆ ได้มาตรฐานสากลและดำเนินไปอย่างเป็นระบบ

ส่วนโฆษกของอาดิดาสยืนยันว่าค่าแรงที่บริษัทจ่ายให้กับแรงงานชาวอินโดนีเซียปัจจุบันนั้นสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำในประเทศอยู่แล้ว และบริษัทยึดมั่นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงานมาโดยตลอด

ขณะที่ อนันยา ภัททาชาร์จี ผู้อำนวยการองค์กรเครือข่ายด้านค่าแรงขั้นต่ำในเอเชีย (AFWA) ระบุว่า ไนกีและอาดิดาสได้ลงนามร่วมกับเครือข่ายองค์กรเพื่อสิทธิแรงงานและรัฐบาลอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา และมีเงื่อนไขว่าบริษัทต้องคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและอุปกรณ์กีฬา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบมาตรฐานการผลิตของโรงงานแต่ละแห่งอยู่เสมอ และต้องทบทวนนโยบายการใช้จ่ายเงินของบริษัทไม่ให้กระทบต่อการว่าจ้างแรงงานด้วย


"ฟุตบอลเป็นกีฬาที่สร้างแรงบันดาลใจ แต่ต้องตระหนักด้วยว่าแรงงานที่อยู่เบื้องหลังการผลิตเสื้อผ้าที่นักกีฬาผู้เป็นแรงบันดาลใจเหล่านั้นสวมใส่ มีที่มาจากการเอารัดเอาเปรียบและความเจ็บปวด...เราต้องช่วยกันยุติสภาพแบบนี้" ผอ.องค์กร AFWA กล่าวทิ้งท้าย


รายงาน Foul Play ฉบับเต็มระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้บริษัทเสื้อผ้าและสินค้าแบรนด์ดังในหลายประเทศฝั่งตะวันตกเลือกจีนเป็นฐานการผลิตเพราะมีแรงงานราคาถูกเป็นจำนวนมาก แต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดอยู่ช่วงหนึ่ง ทำให้หลายบริษัทเปลี่ยนมาผลิตสินค้าใน 3 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งค่าแรงถูกกว่า


ที่มา: Clean Clothes Campaign/ Reuters

ภาพประกอบ: AP/ CCC/ Peter Glaser on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: