ความเบื่อหน่ายและเหี่ยวเฉาในชีวิตกลายเป็นแรงผลักดันให้ 'ชาญไชย วิกรวงษ์วนิช' อดีตผู้จัดการใหญ่ โรงงานรองเท้าบาจาแห่งประเทศไทย เดินเข้าไปยื่นใบสมัครเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง เปลี่ยนชีวิตนั่งๆ นอนๆ หลังเกษียณแสนแห้งแล้งสู่ประสบการณ์อันน่าอิจฉา
"ผมเหมือนมีชีวิตใหม่เลยครับ" บัณฑิตป้ายแดง ปี 2563 จากภาควิชาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ วัย 73 ปี บอกด้วยรอยยิ้ม หลังเพิ่งคว้าปริญญาใบแรก
ลูกชาวจีน มีชีวิตวัยเด็กสุขสบาย จนกระทั่ง 'คุณพ่อ' เสียชีวิต เลือกเบนเข็มจากแพทย์สู่พนักงานบริษัท และก้าวกระโดดขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่ ชีวิตการทำงานประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่หลังเกษียณเหมือนคนละโลก เพราะอยู่ซังกะตายไปวันๆ
ต่อไปนี้คือบทเรียนของชายวัย 73 ปี ที่บอกว่า "ผมจะไม่ทำตัวไร้คุณค่าและเรียนไปจนวันตาย"
ชาญไชยเหมือนมนุษย์เงินเดือนทั่วๆ ไป คาดหวังมีชีวิตหลังเกษียณที่เรียบง่าย นอนเต็มอิ่ม ดื่มกาแฟยามเช้า ใช้เงินเดินทางท่องเที่ยว ออกกำลังกายเบาๆ และคอยถ่ายทอดประสบการณ์เมื่อมีโอกาส แต่แค่ปีเดียวเท่านั้น อดีตผู้จัดการใหญ่ก็เศร้าซะแล้ว
"ที่ผ่านมาผมทุ่มเทให้กับการทำงาน พอถึงวัยเกษียณ เราบอกโอ๊ย...ทำงานมาเหนื่อยแล้ว จากนี้จะไม่ทำอะไรอีกเลย กลายเป็นว่าเอาแต่นั่งๆ นอนๆ ดูทีวีทั้งวัน ชีวิตมันเริ่มเฉา เฉาลงไปเรื่อยๆ" เขาบอกถึงวันที่ตัวเองคล้ายผู้ป่วยติดเตียง
ชาญไชยทนไม่ได้กับสภาพจำเจที่เป็น จึงนั่งเรียกสติและเดินไปบอกกับภรรยาว่า "ผมอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้" เริ่มไปศึกษาหลักสูตรแพทย์แผนไทย สาขาเภสัชกรรมไทย และ ภาคทฤษฏีเวชศาสตร์ ของกระทรวงสาธารณสุข เรียนจบครบ 5 ปี ต่อด้วยการสมัครเข้าร่วม "เครือข่ายครอบครัว" คอยศึกษาและเฝ้าระวังการสื่อสารเชิงลบไม่สร้างสรรค์ให้กับสังคม
แต่ที่เปลี่ยนชีวิตไปเลย คือการสมัครเข้าเป็นนักศึกษา ภาควิชาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ม.รามคำแหง ได้เจอเพื่อนรุ่นน้องที่อายุน้อยกว่าหลานตัวเอง ทำการบ้านที่อาจารย์สั่ง อ่านหนังสือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากคนสูงอายุวัยเดียวกัน
"ผมไม่มีทักษะด้านศิลปะเลย แค่อยากวาดรูปเฉยๆ" เขาบอกถึงความตั้งใจแรกที่แสนเรียบง่าย ซึ่งพาไปเจอประสบการณ์แสนเซอร์ไพรส์หลายอย่าง
การเผชิญหน้าของคนวัยเกษียณและหนุ่มสาวนั้นน่าตื่นเต้น วางตัวไม่ถูกและมีกำแพงระหว่างเจนเนอเรชั่น
หนุ่มใหญ่บอกว่า สังคมทำงานเป็นสังคมเล็กๆ พบปะคุ้นเคยอยู่กับแค่ลูกน้อง ผู้ใหญ่ เผชิญหน้ากับงานและกลับบ้านไปหาครอบครัว เทียบกับมหาวิทยาลัยนั้นเหมือนเป็นอีกโลก
"เจอครูอาจารย์ที่อายุน้อยกว่าเรา แต่ท่านมีคุณวุฒิมากกว่า เราก็ต้องเรียนรู้กับท่าน นักเรียนที่มาเรียนด้วยกัน อายุน้อยกว่าหลานผมเสียอีก แต่เขามีจุดเด่นคือทักษะดีกว่าผมเยอะ ทั้งในแง่ปฏิบัติและการเรียนรู้ ส่วนเรามีทักษะในด้านประสบการณ์ชีวิตมันก็สามารถนำมาแลกเปลี่ยนกันได้"
(ภาพจากเฟซบุ๊ก Yanaphan Raksawong และ ชาญไชย วิกรวงษ์วนิช)
ประโยคจริงใจใสๆ ซื่อๆ ของเด็กน้อย เปลี่ยนวิธีคิดและการแสดงออกของคนวัย 70 ปี ที่แรกเริ่มมีกำแพงขวางความสัมพันธ์
"น้องเขาถามผมว่าทำไมคุณชาญไชย ต้องตีตัวห่างพวกหนูด้วย คุณเข้ามาหาพวกหนูสิ หนูก็อยากเข้าหาคุณ อยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน ตั้งแต่นั้นมาผมก็เลยคิดออกว่า ไม่ใช่เด็กนะที่มีปัญหา เราต่างหากที่มีปัญหา เราสร้างกำแพงของตัวเอง ผมทลายกำแพงนั้นออก ทีนี้ผมสนุกใหญ่เลย ได้ใกล้ชิดกับพวกเขา เจอกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ การเรียนรู้ของเราก็กว้างขึ้นและทำให้เราชอบมากขึ้น"
หลายครั้งเด็กรุ่นหลานพาเขาสะดุ้งแบบไม่นึกไม่ฝัน เช่น พูดคำหยาบจนเป็นเรื่องปกติ แสดงออกนอกกรอบที่ผู้ใหญ่ยุคเบบี้บูมเข้าใจได้ยาก การเลิกราของคู่รักและไม่รู้จะเอายังไงกับหมาที่ซื้อมาด้วยกัน เรื่องแบบนี้ไม่มีให้ได้ขบคิดแน่ สมัยเขาเป็นผู้จัดการโรงงาน
"สิ่งที่ผมแปลกใจสุดๆ คือการใช้คำพูด การแสดงออกของพวกเขา พูดจริงๆ ว่าตอนแรกผมรับไม่ได้เลยนะ พวกเขาพูดกันเหมือนเป็นเรื่องปกติ การแสดงออก โอ้โห ต่างกับรุ่นของเรามากๆ เราอยู่ในรุ่นที่โตมาในกรอบ ทุกอย่างต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่พวกเขาไม่ เขาคิดด้วยตัวเขาเอง" ชาญไชยที่ไม่กล้าพูดหยาบคายตามเด็กๆ หัวเราะ และเล่าว่าเขาพยายามช่วยเหลือเพื่อนๆ เสมอ เช่น สรุปประเด็นสำคัญในห้องเรียนยามเพื่อนไม่มา ส่งต่อในกลุ่มไลน์
ผู้ชายคนนี้ไม่เคยอายเรื่องความชรา ด้วยอุปนิสัยชอบเรียนรู้อยู่เสมอ
"ชีวิตหลังเกษียณผมกลายเป็นอีกคนเลย งานก็ไม่ต้องทำ มีเวลาไปเรียน แต่ก็พยายามจัดสรรเวลาให้กับครอบครัว สัปดาห์หนึ่ง ผมเรียน 3 วัน อีก 4 วันให้ครอบครัว" เขาเล่าภรรยาและลูกอีก 2 คน ต่างสนับสนุนความแฮปปี้ของพ่อ
"ผมบอกได้เลยว่า ถ้าคุณไม่ทำอะไร ชีวิตคุณไม่มีค่าเลย เพราะฉะนั้นต้องเริ่มหาตัวเองให้เจอ อยากทำอะไร อะไรคือความสุขของเรา"
ชาญไชยจบการศึกษาด้านบัญชี ระดับ ปวช.จากโรงเรียนกิตติพานิชย์ (วิทยาลัยเทคโนโลยีกิตติบริหารธุรกิจ) เข้าทำงานที่บริษัท รองเท้าบาจาแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เรียนจบ ไต่เต้าจากเสมียนเล็กๆ ในแผนกคิดต้นทุน ขึ้นมาเป็นผู้จัดการโรงงานฝ่ายรองเท้าหนัง ผู้จัดการฝ่ายโรงงานผ้าใบ และผู้จัดการฝ่ายโปรดักชั่นควบคุมฝ่ายผลิตทั้งหมด
"จริงๆ พ่อต้องการให้เรียนสายแพทย์ แต่ท่านเสียเมื่อตอนผมเรียน ม.3 จากครอบครัวที่พ่อหาเลี้ยง กลายเป็นต้องช่วยกัน พี่สองคนผมเสียสละออกไปทำงาน เพราะเห็นว่าเราอายุยังน้อยและความรู้ยังไม่เพียงพอ เขาบอกไปเรียนเถอะ แต่เรียนให้เร็วแล้วกัน ผมเลยเบนเข็มเลยจากแพทย์ไปเรียนบัญชี 3 ปีจบ แล้วก็เข้าทำงาน ที่เดียว ที่เดิม ผมก้าวกระโดดตลอดเวลา ผมเลยสนุกกับการทำงานที่นี่"
การจากไปของพ่อที่บังคับให้ต้องสู้ รวมถึงเส้นทางการทำงานอันยาวนานกว่า 30 ปี ถูกนำมาปรับใช้กับชีวิต ขัดเกลาให้เขามองตัวเองในภาพใหญ่ วางแผนอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งระยะสั้นและยาวเหมือนดั่งบริษัท
เริ่มจากเป้าหมายในวัยเด็กคือการเรียนให้จบและสอบเข้าในระดับที่สูงกว่า ต่อมาในช่วงการทำงาน วางแผนว่าจะเติบโตไปยังจุดไหนในทุกๆ 5 ปี เราสามารถก้าวกระโดดข้ามคนอื่นได้ หากมีความสามารถพอ เมื่อถึงจุดหนึ่ง ต้องเริ่มวางแผนพร้อมๆ กับครอบครัวถึงชีวิตหลังเกษียณ นั่นคือ 1.การไม่สร้างหนี้ และ 2. มีเงินเก็บสะสมเพื่อเลี้ยงชีพได้อย่างไม่ขัดสน และอย่าละเลยเรื่องสุขภาพรวมถึงหลักประกันชีวิต
"ถ้าเราวางแผนได้ดี หลังเกษียณเราจะออกแบบชีวิตใหม่ได้" เขาแนะนำต่อ "สิ่งที่เราทำ ต้องดูว่ามันกระทบกับเป้าหมายของเราไหม มันสร้างความเสียหายให้กับตัวเราหรือคนรอบข้างหรือไม่ ถ้าใช่อันนี้ต้องคิดให้หนัก"
ภายหลังรับปริญญาใบแรกของชีวิตจากคณะศึกษาศาสตร์ ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.37 คว้าเกียรตินิยมอันดับ 2 เป้าหมายต่อไปของเขาคือการคว้า ป.ตรีใบที่สอง จากสาขาวิชาภาษาจีน คณะมนุษยศาสตร์ และใบที่ 3 สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น โดยตั้งเป้าต้องสำเร็จภายใน 5 ปีจากนี้
"ผมจะเรียนไปตลอดชีวิตผม จนกว่าจะเรียนไม่ไหว นี่คือเป้าหมายของผม" คุณลุงของเพื่อนๆ ร่วมชั้นบอก
"สำหรับคนสูงวัย เราไม่จำเป็นต้องเรียนเพื่อจบ เราเรียนเพื่อสนุก เรียนในสิ่งที่คุณอยากเรียน ถ้าให้ผมไปเรียนกฎหมาย ไม่เอาไม่ชอบ ผมไม่สนุก ต้องนั่งท่องจำกฎหมาย ผมก็เครียด"
"73 ปี ผมวางเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา และผมพยายามเดินไปเรื่อยๆ ตามเป้าหมาย ขอแนะนำชาวสูงวัยว่า อย่าเหงา อย่าเครียด หาความสุขของตัวเองให้เจอ" ชาญไชยทิ้งท้าย
เกร็ดเล็กน้อยจากชาญไชย