เมื่อสัปดาห์ก่อนเห็นข่าวที่สื่อลงกันในโซเชียลว่า คณะทำงานแก้ปัญหา ศึกษาการพนัน และบ่อนการพนันออนไลน์ ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ทาบทาม 'เสี่ย' คนหนึ่งมาให้ข้อมูลแก้ปัญหาบ่อนออนไลน์ (ไม่ได้แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา) ตอนแรกคิดว่าข่าวปลอม ถึงกับต้องหาดูจากสื่อหลายๆ เจ้า จนในที่สุดก็ได้เรียนรู้อีกเรื่องในชีวิตว่า เรื่องจริงบางทีอาจเป็นเรื่องที่งี่เง่าที่สุดก็เป็นได้
ต้องยอมรับว่าการพนันเป็นปัญหาบ้านแตกสาแหรกขาดในระดับครัวเรือน และเป็นปัญหาสังคมเมื่อผีพนันเป็นหนี้เป็นสินจนต้องก่ออาชญากรรม แต่สถานะผิดกฎหมายก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้คนไทยเล่นการพนันได้
ที่ผ่านมาจึงมีการพูดถึง 'บ่อนเสรี' กันบ่อยๆ เพราะไหนๆ ก็ห้ามไม่ได้แล้ว ก็เอาขึ้นมาอยู่บนดินซะ จะได้ตรวจสอบ-บริหารเป็นเรื่องเป็นราว แถมยังจัดเก็บเป็นรายได้ได้อีกต่างหาก ซึ่งแน่นอนว่าทุกครั้งที่เสนอเรื่องทำนองนี้จะ 'ถูกปัดตก' เพราะเราเป็นเมืองพุทธนะคนดี ขนาดโสเภณีเจ้าหน้าที่เดินปูพรมตรวจยังไม่เจอ ฉะนั้น อย่ามาหวังเปิดบ่อน
บ่นมาสองย่อหน้า ขอเข้าเรื่องว่าแม้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานาน แต่การพนันก็อยู่กับเรามาตลอด ในบทความนี้จึงจะขอย้อนดูว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาการพนันส่งผลอย่างไรต่อผู้คนบ้าง
ภาพจำของฝรั่งที่มีต่อคนสยาม บันทึกไว้ในเอกสารประวัติศาสตร์หลายเล่ม ที่เราคุ้นเคยกันดีก็เช่น ใจดี ขี้อาย ขี้เกียจ ฯลฯ ซึ่งการอ่านเอกสารเหล่านี้ต้องชั่งใจดีๆ เพราะเป็นการมองผ่านมุมคนนอกที่อาจไม่ได้ฉายภาพได้ถูกต้อง 100% แต่ก็เอามาเทียบเคียงสะท้อนมุมมองบางอย่างได้ โดยมุมที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ความรักในการพนันของคนสยาม
'ลาลูแบร์' ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ว่า "ชาวสยามรักเล่นการพนันเสียเหลือเกิน จนกระทั่งฉิบหายขายตนหรือไม่ก็ขายบุตรธิดาของตน (ให้ตกไปเป็นทาส) ด้วยในประเทศนี้ถ้าลูกหนี้คนใดไม่มีเงินทองหรือข้าวของตีราคาให้เจ้าหนี้แล้ว ก็ขายลูกเต้าของตนเพื่อชำระหนี้สินไปได้ และถ้ายังไม่พอกับหนี้สินที่ตนทำเข้าไว้ ตัวของตัวเองก็ตกเป็นทาสไปด้วยอีกคน
การพนันที่เขาชอบเล่นมากที่สุดก็คือ Tric-trac ซึ่งชาวสยามเรียกว่า สกา อันดูเหมือนเขาจะได้เรียนเล่มมาจากชาวปอรตุเกศ เพราะชาวสยามเล่นแบบเดียวกับพวกนั้นและแบบเดียวกับพวกเรา (ฝรั่งเศส) ชาวสยามไม่เล่นไพ่เลย และข้าพเจ้าไม่ทราบว่าการพนันเสี่ยงโชคชนิดอื่นๆ อีกด้วยหรือไม่ แต่ข้าพเจ้าเห็นเขาเล่นหมากรุกตามแบบของเราและตามแบบจีน"
ลาลูแบร์ ทิ้งท้ายไว้ว่า "ไม่รู้" ว่ามีการพนันอื่นๆ นอกจากสกา และหมากรุกอีกหรือไม่ แต่ที่จริงแล้วการละเล่นหลายๆ อย่างลาลูแบร์ไปเที่ยวชมมานั้น คนสยามสามารถวางเดิมพันได้หมด ไม่ว่าจะเป็นการชกมวย, การวิ่งงัว และการแข่งเรือ ที่ลาลูแบร์ยังแอบเห็นว่า "พวกคนดูที่เล่นพนันขันต่อไว้ก็เปล่งเสียงร้องและออกท่าทางราวกับว่าลงไปพายร่วมกับเขาด้วยตนเอง..."
ลาลูแบร์ ยังเล่าอีกว่าผู้ชายสยามนั้น "...แทบจะไม่ได้ทำงานอะไรเลยเมื่อพ้นจากราชการงานหลวงมาแล้ว เที่ยวก็ไม่เที่ยว ล่าสัตว์ก็ไม่ไป ได้แต่นั่ง เอนหลัง กิน เล่น สูบยาสูบแล้วก็นอนไปวันๆ หนึ่ง เท่านั้น ภรรยาจะปลุกให้เขาตื่นขึ้นราว 7 โมงเช้า เอาข้าวปลาอาหารมาให้บริโภค เสร็จแล้วก็ลงนอนต่อไปใหม่ พอเที่ยงวันก็ลุกขึ้นมากินอีก แล้วก็มื้อเย็นอีกคำรบหนึ่ง ระหว่างเวลาอาหารมื้อกลางวันกับมื้อเย็นนั้น เขาก็เอนหลังลงพักผ่อนเสียพักหนึ่ง เวลาที่เหลืออยู่นอกนั้นก็หมดไปด้วยการพูดคุยและการเล่นพนัน..."
นั่นแสดงให้เห็นว่าแม้เกียจคร้านปานใด แต่การพนันยังเป็นกิจกรรมที่ประชากรในสยามสนใจเสมอ เรื่องนี้การันตีอีกครั้งโดยสังฆนายกคณะมิสซังโรมันคาทอลิคประจำประเทศสยาม "ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์" ในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่บันทึกไว้ว่า "คนไทยชอบการพนันและการเล่นมาก" และ "ในประเทศมีคนคเนจร ทาสที่หลบหนี นักการพนัน คนขี้เมาและเด็กกลางถนนเป็นอันมาก"
นั่นไม่แปลกเลยที่จะทำให้ทางการได้รายได้จากการพนันเป็นกอบเป็นกำ โดยปาลเลกัวซ์เองนั่นแหละที่บันทึกว่า รายได้ของสยามมาจาก "บ่อนการพนัน" 500,000 บาท และ "หวย" 200,000 บาท รวม 700,000 บาท ซึ่งรายได้ของหวยและบ่อนนี้มากกว่าที่จัดเก็บได้จากตลาดสด และสัมปทานฝิ่นรวมกันเสียอีก
ธรรมชาติอย่างหนึ่งของการพนันก็คือ เมื่อเสียก็มีความหวังว่าจะได้คืน แต่ถ้าเล่นได้ก็จะยิ่งมีกำลังใจเล่นต่อ ข้ามพ้นจุดนี้ไปไม่ได้ก็เสี่ยงเหลือเกินที่จะโดนผีพนันเข้าสิง ทำอะไรไม่ยั้งคิดได้ง่ายๆ
ในสมัย ร.4 มีเรื่องราวใหญ่โตเกี่ยวกับเรื่องการพนันเรื่องหนึ่ง เรื่องนี้เริ่มเมื่อพระองค์เจ้าหญิงสุด เสด็จไปร่วมงานออกพระเมรุเจ้านายพระองค์หนึ่ง บังเอิญมีธุระให้นางข้าหลวงกลับตำหนักมาเอาของ ก็พบว่าหน้าต่างเฉลียงเปิดแง้มๆ ไว้เสมือนมีคนบุกรุกเข้ามา พอไปตรวจสอบกำปั่นทรัพย์สินก็พบว่าทองคำรูปพรรณหายไปจริงๆ รวม 18 ตำลึงบาท เมื่อตั้งสอบหาคนกระทำผิดก็ได้ความว่า ชาววัง 2 นาง คือหม่อมหุ่น และหม่อมนวม สมคบกับอีปริกภรรยานายนุด ซึ่งเป็นคนนอก ตั้งวงเล่นไพ่เล่นถั่วกันในพระบรมมหาราชวังหลายครั้ง เมื่อเป็นหนี้เป็นสินรุงรัง จึงสมคบกันลักทรัพย์พระองค์เจ้าหญิงสุด จากเหตุการณ์นี้ทำให้มีพระราชโองการว่า
"...ห้ามมิให้พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า เจ้าจอม หม่อมพนักงาน ท้าวนางจ่าโขลน ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย แลข้าเจ้าบ่าวนายที่อยู่ในพระบวรราชวังคบหากันตั้งบ่อนโป บ่อนถั่ว บ่อนกำตัด บ่อนเล่นแปดเก้า แทงหวยแลเล่นการพนันต่างๆ ซึ่งจะให้เสียทรัพย์สิ่งสินแก่กัน นอกจากสงกรานต์ 4 วัน ตรุสจีน 3 วันเปนอันขาดทีเดียว ...เจ้าพนักงานจ่าศาลาจ่าด้านทนายเรือนโขลน จับได้ด้านผู้ใดก็ดี แลผู้อื่นจับได้ก็ดี มีผู้มาร้องฟ้องชำระเปนสัจ ก็ให้ปรับไหมผู้ที่เปนนายบ่อนแลเจ้าของที่คนละ 10 ตำลึง ผู้ที่เล่นด้วยกันแลจ่าเจ้าของด้านนั้นคนละ 5 ตำลึง แลทนายเรือนคนละ 3 ตำลึงให้แก่ผู้จับได้แลผู้มาร้องฟ้อง แล้วให้นำเอาข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบใต้ลอองธุลีพระบาท จะได้โปรดเกล้าฯ ให้ลงพระราชอาญาแก่ผู้ทำผิดให้สาหัส ผู้ที่หาความผิดมิได้จะไม่ได้ดูเยี่ยงอย่างกันต่อไป ถ้าแลมีผู้มาร้องฟ้องกล่าวว่าผู้ใดคบคิดกันตั้งบ่อนขึ้นเล่นการพนันต่างๆ ท้าวสัตยานุรักษ์จ่าทนายเรือนโขลนซึ่งเปนพนักงานได้ว่ากล่าวเห็นกับหน้าบุคคลผู้นั้น ปิดบังอำพรางความเสียมิได้นำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ภายหลังมีผู้มาว่ากล่าวชำระเปนสัจ จะลงโทษเจ้าพนักงานซึ่งปิดบังความเสียเสมอกันกับผู้ที่กระทำผิด"
ในสมัย ร.5 บ่อนเฟื่องฟูถึงขนาดที่ 'ชิป' ในบ่อน สามารถใช้แทนเงินสดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าได้เหมือนเงินจริงๆ ชิปพวกนี้เรียกว่า 'ปี้' ทำจากกระเบื้อง สีสันลวดลายสวยงามตามท้องเรื่อง
ปี้ก้าวขึ้นมากลายเป็นเงินสด เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 มีผู้รู้ว่าราคาเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกที่ใช้กันที่ท้องตลาดในกรุงเทพฯ ต่ำกว่าราคาเนื้อทองแดงและดีบุกหลอมซึ่งมีขายกันในประเทศอื่น ก็พากันเอาเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกหลอมส่งไปขายต่างประเทศเป็นอันมาก ทำให้เหรียญทองแดงและดีบุกขาดตลาด ถึงจุดนี้เงินปลีกหาใช้ยาก นักพนันที่ใช้ชีวิตกินนอนในบ่อนเลยใช้ 'ปี้โรงบ่อน' ซื้อของกินตามร้านรวงต่างๆ พ่อค้าแม่ค้าหน้าบ่อนก็รับเพราะใช้ง่าย แลกคืนเมื่อไหร่ก็ได้ ไปๆ มาๆ เลยแพร่หลายออกมานอกวงนักพนัน จนรัฐบาลต้องสั่งห้ามบ่อนทำปี้ เพราะกระทบกับระบบการเงินของประเทศ
"...ฝ่ายนายบ่อนเบี้ยจำหน่ายปี้ได้เงินมากขึ้น เห็นได้เปรียบก็คิดสั่งปี้กระเบื้องจากจีนเข้ามาเพิ่มเติมทำเป็นรูปแลราคาต่างๆ ให้คนชอบ ตั้งแต่อันละโสฬศ อันละอัฐ อันละไพ สองไพ จนถึงอันละเฟื้องสลึงสองสลึงเป็นอย่างสูงมีทุกบ่อนไปก็แต่ลักษณอากรบ่อนเบี้ยนั้นต้องว่าประมูลกันใหม่ทุกปี เมื่อสิ้นปีลงนายอากรคนไหนไม่ได้ทำอากรต่อไปก็กำหนดเวลาให้คนไปเอาปี้บ่อนของตนมาแลกเงินคืนภายใน 15 วัน พ้นกำหนดไปไม่ยอมรับ การอันนี้ก็กลายเป็นทางที่เกิดกำไร เพิ่มผลประโยชน์แก่นายอากรบ่อนเบี้ยอีกทางหนึ่ง ฝ่ายราษฎรถึงเสียเปรียบก็มิสู้รู้สึกเดือดร้อน ด้วยได้ใช้ปี้เป็นเครื่องแลกกันในการซื้อขายแทนเหรียญทองแดงแลดีบุกซึ่งหายาก ก็ไม่มีใครร้องทุกข์เป็นเช่นนี้มาจนปีจอ พ.ศ. 2417 รัฐบาลจึงต้องประกาศห้ามมิให้นายบ่อนเบี้ยทำปี้"
********************************
อ้างอิง
ปาลเลกัวซ์, เล่าเรื่องกรุงสยาม, (พิมพ์ครั้งที่ 4), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2552.
ลาลูแบร์, จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, (พิมพ์ครั้งที่ 2), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548.
https://vajirayana.org/พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์-รัชกาลที่-๕/ตอนที่-๑๑