ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการหลายฝ่ายชี้ 'อุบัติเหตุบนท้องถนน' คือภาระทางเศรษฐกิจที่ประชาชนทุกคนต้องแบก ขณะรัฐบาลไทยยังไม่มีเป้าหมายควบคุมดูแลที่ชัดเจนพอ

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ชี้ว่าประชากรไทยราว 20,000 คนต่อปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และตัวเลขดังกล่าวส่งให้ไทยติดอันดับที่ 9 ประเทศที่มีผู้สูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนมากที่สุดในโลก

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของรัฐบาลหรือความน่าอับอายที่ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนสูงเพียงประเทศเดียวในอาเซียนและเอเชียที่ติด 10 อันดับแรกประเทศที่มีผู้สูญเสียบนท้องถนนมากที่สุดในโลกร่วมกับประเทศรายได้น้อยในทวีปแอฟริกา 

ประชาชนเสียชีวิต-ประเทศเสียรายได้

อาจจะฟังดูกระอักกระอ่วนไม่น้อยเมื่อพยายามตีมูลค่าชีวิตของมนุษย์หนึ่งคน อย่างไรก็ตาม 'รศ. ดร. เกษม ชูจารุกุล' รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าในทางเศรษฐศาสตร์ มูลค่าชีวิตของคนไทยอยู่ที่ราคา 15 ล้านบาท โดยเป็นการคิดจากร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว หรือ GDP Per Capita


ความปลอดภัยทางท้องถนน -อ. เกษม

'รศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล' รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

ปัจจุบันไทยต้องแบกรับต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 5 ของจีดีพี ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวที่เสียไปสามารถนำไปพัฒนาระบบสาธารณูปโภคตอบแทนสู่สังคมได้ไม่น้อย

นอกจากนี้ 'รศ. ดร. เกษม' นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากตัวเลขทางสถิติผู้เสียชีวิตของคนไทย ร้อยละ 70 เกิดขึ้นจากจักรยานยนต์ และจำนวนเกินครึ่งของผู้เสียชีวิตเป็นประชากรวัย 5 - 29 ปี ซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ย่างขาเข้าสู่สังคมสูงอายุมาแล้วข้างหนึ่ง

'อลินา เบิร์กเลย์' ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่ง ธนาคารโลก เสริมว่า การเสียชีวิตของประชากรในวัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้การลงทุนของรัฐบาลในด้านต่างๆ อาทิ การศึกษา และ สาธารณสุข เสียเปล่า 


ความปลอดภัยทางท้องถนน - อลินา เบอร์เลกู

'อลินา เบิร์กเลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่ง ธนาคารโลก

"มันไม่ใช่แค่การสูญเสียทางบุคคลแต่เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สังคมต้องแบก" อลินา กล่าว

ในทางตรงกันข้าม 'อลินา' นำเสนอมุมมองจากงานวิจัยที่ธนาคารโลกทำร่วมกับมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณะประโยชน์ภายใต้ชื่อ 'จำนวนการบาดเจ็บบนท้องถนนที่สูง; รับไม่ได้และป้องกันได้' ซึ่งสะท้อนว่าหากอุบัติเหตุในไทยลดลง ร้อยละ 75 ในช่วง 24 ปีข้างหน้า อัตราการเติบทางเศรษฐกิจของประเทศจะเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 22


กราฟอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

กราฟแสดงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเมื่ออุบัติเหตุลดลง; ที่มา ธนาคารโลก

อีกทั้งหากไปดูตัวเลขจากรายงานดังกล่าวจะพบว่า หากอุบัติเหตุในไทยลดลงเพียงร้อยละ 25 ในช่วง 24 ปีข้างหน้า รายได้ประชากรต่อหัวจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.3 แต่หากประเทศสามารถลดอุบัติเหตุได้มากกว่านั้นในสัดส่วนร้อยละ 50 หรือ 75 ตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 14.6 และ 21.9 ตามลำดับ

ตามข้อมูลจากธนาคารโลกในปี 2560 ไทยมีรายได้ประชากรต่อหัวอยู่ที่ 6,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือประมาณ 196,000 บาทต่อปี 

ผู้กำหนดนโยบายต้องกำหนดนโยบาย(สักที) 

'รัตนาภรณ์ ตังธนเศรษฐ์' เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกประจำสำนักงานไทย อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า ความปลอดภัยทางท้องถนนเป็นเรื่องซับซ้อนที่หลายภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมกัน สำหรับไทยแม้จะมีหน่วยงานหลักและมีแผนยุทธศาสตร์บ้างแล้วแต่ยังขาดเรื่องของงบประมาณที่จะมากำกับการดำเนินงานและการติดตามผล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมาพร้อมกันทั้งอำนาจ เงิน และความสามารถ


ความปลอดภัยทางท้องถนน - รัตนาภรณ์

'รัตนาภรณ์ ตังธนเศรษฐ์' เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกประจำสำนักงานไทย

งบประมาณเป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องให้ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม 'รัตนภรณ์' กล่าวว่า ประเทศไทยกลับไม่เคยออกมาให้ความสำคัญในการวางแผนงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งมองว่ารัฐบาลต้องออกมาประกาศยอมรับไม่ได้กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้แล้ว 

ขณะที่ 'รศ. ดร เกษม' ชี้ว่า หากอยากจะว่าให้ลดอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่งและทำให้ถนนมีความปลอดภัยในระดับ 3 ดาว ตามมาตรฐานสากล ภายในปี 2573 รัฐบาลไทยควรมีการลงทุนประมาณร้อยละ 0.1 ของจีดีพีต่อปี ซึ่งจะทำให้เกิดความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจในสัดส่วน 34 ต่อ 1 

เมื่อไปเปิดดูร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของกระทรวงคมนาคม จะพบว่าจากงบทั้งหมดประมาณ 54,000 ล้านบาท ถูกแบ่งสรรปันส่วนไปเพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันเป็นหลักแต่ไม่ได้มีการระบุถึงการเพิ่มความปลอดภัยของถนนเพื่อรักษาชีวิตของประชาชนแต่อย่างใด 

'รัตนภรณ์' ปิดท้ายว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือเป้าหมายทางการเมือง ประเทศต้องหาผู้นำในสภาที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้จริงๆ กฎหมายที่มีต้องบังคับใช้จริงๆ กระทรวงที่ตั้งก็ต้องทำงานจริงๆ ถ้าเราอยากจะเห็นผลลัพธ์ที่ดีจริงๆ

ไม่ว่าจะนำเสนอออกมาในมิติของการสูญเสียส่วนบุคคลหรือการสูญเสียทางเศรษฐกิจ อุบัติเหตุบนท้องถนนก็คือการสูญเสียที่ป้องกันได้ แม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีปัจจัยความผิดพลาดของมนุษย์ซึ่งควบคุมไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะทำอะไรไม่ได้เลย

ประชาชนอาจอยู่นอกเหนือการควบคุม แต่ถนนอยู่ทุกสายอยู่ในมือของรัฐบาล หากยังไม่ออกมาทำอะไรเลย อาจมองได้ว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจทั้งประชาชนหรือเศรษฐกิจของประเทศเลยสักอย่าง