ไม่พบผลการค้นหา
‘จาตุรนต์’ชี้ ระบบสภาฯ ยุคปัจจุบันต่างจากความมุ่งหวังของคณะราษฎร อัด รธน.60 เขียนกติกาเอื้อพวกพ้อง หวังสืบทอดอำนาจคสช. ขัดขวางระบอบประชาธิปไตยกินได้ เหตุ มี ส.ว.คอยขวางทางแก้ไข รธน.ให้เป็นประชาธิปไตย

เมื่อเวลา 16.45 น. วันที่ 24 มิ.ย. 2565 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวในงานเสวนา 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม "อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย"ว่า คณะราษฎร 2475 ตามที่ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2475 แบ่งอำนาจ กำหนดอำนาจของ 4 ฝ่าย คืออำนาจพระมหากษัตริย์ ฝ่ายบริหาร อำนาจสภาผู้แทนราษฎร คือฝ่ายนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ คือศาล ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่ออกกฎหมาย ยืนยันกฎหมาย ถอดถอนฝ่ายบริหารทั้งคณะ หรือรายบุคคล แต่มันมีความหมายมาก 

จาตุรนต์ กล่าวว่า อย่างแรกที่สุด คือ มีการยึดอำนาจ และไม่ให้มีสภาผู้แทนราษฎร หลายๆ ปี ในช่วงที่มีสภาผู้แทนราษฎร ปัญหาในการเมืองไทย คือ การมีวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้ง และกำหนดให้ ส.ว.ค้ำจุน หรือ ล้มรัฐบาล ทำให้ผู้แทนราษฎร ไม่สามารถโหวตได้ แต่ให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งเป็นฝ่ายกำหนด ในช่วงหลังนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มี ส.ว.จากการแต่งตั้ง โดยหัวหน้าคณะรัฐประหาร มีอำนาจร่วมนายกฯ ร่วมออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งมีอำนาจมากกว่าผู้แทนราษฎร เพราะได้เสียงบางส่วนจากส.ส. ก็กลายเป็นเสียงข้างมาก 

จาตุรนต์ กล่าวว่า ส.ว.นี้ มีอำนาจในการกำกับให้รัฐบาลทำตามยุทธศาสตร์ชาติ สว.เชื่อมโยงกับองค์กรอิสระ และศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระในช่วงที่หลังรัฐประหารมา คสช. มีอำนาจสูงสุด เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเข้าแทรกแซงการแต่งตั้งคณะกรรมการองค์กรอิสระ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องแปลกประหลาด 

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยที่เมื่อยึดอำนาจแล้ว ไม่มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านั้น เขายึดศาลรัฐธรรมนูญ และตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในการรัฐประหารครั้งหลัง ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังจะวินิจฉัยว่า การยึดอำนาจผิดกฎหมายหรือไม่ แต่คณะรัฐประหารไม่ได้ยุบ 

จาตุรนต์ กล่าวว่า คณะรัฐประหารได้ผนวกควบรวมมาเป็นส่วนหนึ่งของระบอบเผด็จการไปแล้ว หลังจากนั้นเวลาตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนต่อมา มีการแทรกแซงโดย คสช. และรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องได้ จากรัฐธรรมนูญเมื่อมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งแล้ว สว. มีอำนาจในการสรรหารับรอง การตั้งองค์กรอิสระ และศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ 

จาตุรนต์ เสริมว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีการรับรองแต่งตั้งประธานศาลปกครอง โดยส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เราพูดมาตลอดว่า ศาลต้องอิสระ องค์กรอิสระต้องอิสระทุกฝ่าย แต่กลายเป็นว่า สองสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการสรรหารับรองแต่งตั้ง โดย ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง อันนี้คือบทบาทที่เปลี่ยนไปของรัฐสภา 

การที่รัฐสภามีบทบาทไปแบบนี้ มันเป็นการแตกต่างจากเจตจำนงของคณะราษฎร 2475 อย่างสิ้นเชิง คณะราษฎรเขียนไว้สั้นๆ ว่า สภาผู้แทนราษฎร ความตั้งใจให้มีการเลือกตั้งขึ้นมา และให้มีอำนาจออกกฎหมาย ถอดถอนฝ่ายบริหาร แต่ระบบที่ในรัฐธรรมนูญที่เขียนหลายหมวดหลายมาตรา เขียนไปแล้วเพื่อลดทอนอำนาจของประชาชนอย่างเป็นระบบ จนประชาชนแทบไม่เหลืออะไรเลย 

จากที่บอกว่า ให้อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย จนกระทั่งประชาชนไม่มีอำนาจ ในส่วนพรรคการเมือง พรรคการเมืองเป็นของคู่กันกับระบบรัฐสภา มีคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามสร้างพรรคขึ้นมา ใช้พรรคเป็นการรับฟังเสียงประชาชน เพื่อไปผ่านระบบรัฐสภา และไปเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่พรรคการเมืองใน 90 ปี มีการรัฐประหาร บางครั้งยุบพรรคทั้งหมดไป และไม่ให้มีพรรคการเมืองอยู่เลยเป็นสิบปี สลับกับการเลือกตั้งมีพรรคการเมือง เริ่มต้นใหม่ ต่อเรื่องเก่าให้ติด อยู่ได้ไม่นานยุบพรรค มันล้มลุกคลุกคลาน 

ในสามสิบปีผ่านไปบ้าง ยึดอำนาจแล้ว เขาไม่ได้ยุบพรรคเลย แต่ห้ามทำกิจกรรมต่างๆ แต่ในประมาณ 20 ปีมานี้ ก็เกิดวิธีการแบบใหม่ คือ ไม่ได้ยุบพรรค แต่ห้ามทำกิจกรรม ตลอดเวลาปกครองระบอบเผด็จการ 5 ปี 

จาตุรนต์ ระบุว่า มีการสร้างระบบที่จะสามารถยุบพรรคการเมืองได้ง่าย โดยไม่ต้องมีเหตุอันสมควร ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยุบพรรคการเมืองได้ง่ายที่สุดในโลก ตามมาด้วยมาตรการสำคัญ คือยุบพรรคแล้ว เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรค ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องการกระทำผิดใดๆ มีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจ เป็นการทำลายระบบพรรคการเมือง เวลาเขาตั้งพรรคการเมือง ใช้ผลประโยชน์ โอกาสความเป็นไปได้กว่าพรรคอื่นๆ แล้ว ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำอย่างน่าเกลียดคือ นักการเมืองไม่มีคดีก็หาคดีให้ แล้วบอกว่า ถ้ามาอยู่ก็เป่าคดีให้ เป็นการกวาดต้อนนักการเมืองเข้าสู่พรรคการเมือง 

ในทางระบบออกแบบว่า ให้พรรคการเมืองมันไม่เข้มแข็ง แต่มันง่าย ลงมติได้อิสระ ไม่ต้องไปตามมติพรรค ที่บอกว่าย้ายพรรคไม่ได้ เพราะประชาชนเลือกมา แต่เกิดการจงใจให้ขับออกจากพรรค มันเลยกลายเป็นว่า พรรคการเมือง ไม่ใช่ที่รวมคนของอุดมการณ์ แต่สุดท้ายคณะรัฐประหาร และระบบที่พวกเขาสร้างขึ้น ต้องการนักการเมืองเป็นเครื่องมือ และเขียนระบบให้พรรคการเมืองอ่อนแอ สุดท้ายคนบอกว่า พรรคการเมืองเลว ที่มันเลว เพราะคุณใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ 

เรื่องที่ทำกับพรรคการเมืองที่มีผลกับประชาชนอย่างมาก คือการขัดขวาง ไม่ยอมให้พรรคการเมืองได้ทำหน้าที่ในระบบรัฐสภา การเสนอนโยบาย และไปหาเสียงแข่งกัน และทำนโยบายรัฐบาล นำไปบริหารประเทศ ที่พูดกันว่า ประชาธิปไตยกินได้ มันคือสิ่งนี้ สิ่งที่รัฐธรรมนูญ 2560 ทำ คือขัดขวางไม่ให้เกิดระบบนี้ 

ที่เลวร้ายคือการเขียนยุทธศาสตร์ชาติ แล้วให้ ส.ว.กำกับ บังเอิญว่า เป็นพวกเดียวกัน ไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ใหญ่เท่า การเขียนยุทธศาสตร์ชาติไว้ จะแก้ปัญหาต่างจากยุทธศาสตร์ชาติจะทำไม่ได้ และเขียนมาจากคนที่คิดอะไรไม่ได้แล้วทั้งนั้นมาทำยุทธศาสตร์ชาติ 

"ระบบแบบนี้มันกำลังทำลายตัวมันเอง ต้องเปลี่ยนให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย จะเปลี่ยนอย่างไร ถ้าอยากเปลี่ยนต้องเปลี่ยนกติกา แต่ไม่รู้จะได้ไหม เพราะ ส.ว.มีอำนาจยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" จาตุรนต์ กล่าว 

จาตุรนต์ ทิ้งท้ายว่า หากจะแก้ไข ต้องเปลี่ยนรัฐบาลก่อน แล้วค่อยแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ อำนาจสูงสุดของรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน และเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจออกกฎหมาย ยืนยันกฎหมาย และถอดถอนฝ่ายบริหารทั้งคณะ และตัวบุคคล