กรณีที่ข้อกังวลเกี่ยวกับข้อเสนอในการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง หากไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมืองตามกำหนดเวลาซึ่งอาจจะส่งผลให้โรดแมพที่วางไว้ต้องเลื่อนออกไป
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่ากฎหมายปัจจุบันได้ให้ความเท่าเทียมกับทุกพรรคการเมืองเท่าที่จะทำได้ โดยยอมรับว่ายังมีความได้เปรียบเสียเปรียบอยู่ระหว่างพรรคการเมืองเก่าและใหม่อยู่บ้าง
ส่วนที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองเป็นเวลา1 ปีนั้นเป็นข้อเสนอที่เป็นไปได้แต่ลำบาก การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยาก ซึ่งตามช่องทางเป็นอำนาจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แต่ถ้ากระทบบางเรื่องต้องไปทำประชามติ
สำหรับข้อเสนอให้แก้ไขพ.ร.บ.พรรคการเมืองนั้น ถ้าเวลาไม่พอก็แก้เพื่อขยายเวลาได้หรือแก้เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป แต่ตอนที่กรธ.ได้ร่างไม่มีข้อเสนอนี้ นอกจากนี้กรณีที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ระบุว่า การแก้กฎหมายต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือน ซึ่งตรงนี้จะกระทบกับโรดแมป การเลือกตั้ง เรื่องนี้คงต้องไปถามนายพรเพชร แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าจะแก้อะไรบ้าง ซึ่งหากมีการแก้ไขจนกระทบกับโรดแมพเลือกตั้งก็ไม่เกี่ยวกับกรธ.แล้ว เพราะเราทำทุกอย่างตามโรดแมพ
วันเดียวกัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมาธิปไตย กล่าวถึงข้อเสนอทางการเมืองว่า ขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง โดยอยากให้ การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ผู้สมัครรับ เลือกตั้งไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองและให้เป็นระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตอย่างเดียว 400 คน โดยไม่ต้องมีระบบบัญชีรายชื่อ โดยขอให้ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านใช้ระยะเวลา 1 ปี ในการแก้ไขกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อส.ส.ไม่มีสังกัดพรรคก็ไม่มีมติพรรคมากำกับ ส.ส.ก็มีอิสระ ไม่ต้องมีสีเหมือนที่ผ่านมาก็จะไม่มีม็อบออกมาเคลื่อนไหว เชื่อว่าจะแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งและสร้างความปรองดองได้"สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นมองว่า มีระบบพิเศษและไม่ได้ห้ามแก้ไขถ้ามีเสียงสมาชิกมากพอก็สามารถแก้ไขได้ และรัฐบาลเองก็สามารถใช้กฎหมายพิเศษได้
เมื่อถามต่อว่าแนวทางนี้จะเข้าทางทหารหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า แนวทางที่เป็นอยู่ขณะนี้ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้สิ่งที่ตนพูดดีกว่าหรือแย่กว่าส่วนอนาคตทางการเมืองนั้นตอนนี้ตนไม่มีพรรคการเมือง แต่มี นโยบายที่อยากแก้ปัญหาให้คนยากจน
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าข้อเสนอให้ส.ส.ไม่สังกัดพรรคการเมืองนั้น เป็นการเมืองย้อนยุค โดยหลักการแล้วการกำหนดให้ส.ส.สังกัดพรรคการเมืองดูจะเป็นหลักสากลที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
ทั้งนี้ที่สงสัยอยู่คือถ้าจะทำต้องแก้รัฐธรรมนูญและเข้าใจว่าจะต้องทำประชามติ เพราะเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของบุคคลในรัฐธรรมนูญ จะหาความชอบธรรมได้หรือ ที่หวั่นคือทำแล้วจะถือโอกาสเลื่อนโรดแมปจะกลายเป็นชงเรื่องเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก การให้เหตุผลว่าส.ส.ไม่สังกัดพรรคจะแก้ปัญหาความแตกแยก สร้างความปรองดองได้ ไม่เห็นว่าจะเป็นเช่นนั้น อาจจะแตกแยกไปมากกว่าเดิมก็ได้เพราะไม่มีใครคุมใครได้
นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แนวโน้มการแก้กฎหมายพรรคการเมืองนั้น ถ้ามองเรื่องนี้ในมุมการบริหารก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการออกแบบ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจะต้องดูที่โครงสร้างภาพรวม ไม่ใช่คิดจะทำอย่างหนึ่ง แล้วไปเกิดปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ส่วนวิธีแก้ไขปัญหาจะปลดล็อกพรรคการเมือง หรือว่าจะแก้ไขกฎหมาย ก็แล้วแต่รัฐบาล
ส่วนตัวเห็นว่า ในกฎหมายถ้าจะอ้างว่าไม่เท่าเทียมกันก็ไม่ได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นเรื่องดังกล่าวต้องคิดตั้งแต่ตอนร่างกฎหมายแล้ว ขณะเดียวกันจะเห็นว่ากระบวนการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวขาดการรับฟัง พอกระแสข่าวออกมาว่าต้องแก้กฎหมายก็ทำให้สังคมมองได้ว่ารัฐบาลขาดความรอบคอบและขาดความน่าเชื่อถือ
ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญคือความชัดเจน จะส่งผลต่อการลงทุน และเศรษฐกิจด้วย จะเห็นได้ว่าตอนที่นายกฯประกาศจะเลือกตั้งในปี 2562 ตลาดหุ้นก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวอาจทำให้สังคมมองได้ว่ามีเจตนาที่จะเลื่อนโรดแมพออกไปได้ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ความจริงใจของรัฐบาล