ไม่พบผลการค้นหา
เมืองฟรีดแบร์กของเยอรมนีติดตั้งไฟจราจร 'เอวิส เพรสลีย์' เพื่อรำลึกถึงราชาเพลงร็อกแอนด์โรลที่เคยมาประจำการที่เมืองนี้ สมัยที่เป็นทหาร

เมืองฟรีดแบร์กของเยอรมนีติดตั้งไฟจราจรรูปเอลวิส เพรสลีย์ ราชาเพลงร็อกแอนด์โรล เพื่อบอกสัญญาณให้คนข้ามถนน 3 จุดในเมืองนี้ โดยสัญญาณไฟแดงเป็นรูปเอลวิสยืนกับขาตั้งไมโครโฟน คนเดินถนนจะต้องหยุดรอ จนกว่าไฟจะเปลี่ยนไปเป็นสีเขียวที่มีเอลวิสเต้นด้วยท่าเต้นที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา จึงจะข้ามถนนได้

มาริออน โกทซ์ นักการเมืองจากพรรค SPD ที่ให้เปลี่ยนไฟจราจรให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่า ไฟจราจรเอลวิสถือเป็นการรำลึกถึงเอลวิส เพรสลีย์ โดยเขาใช้เวลา 3 เดือนในการขออนุญาตจากตำรวจ และสั่งให้กราฟิกดีไซเนอร์ออกแบบสัญลักษณ์ไฟจราจร และใช้งบประมาณไปประมาณ 900 ยูโร (33,600 บาท) ในการติดตั้งไฟจราจรเอลวิส เพรสลีย์ ซึ่งจะกลายมาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวต่อไป

AFP-ไฟสัญญาณจราจรเอลวิส เพรสลีย์-ฟรีดเบิร์ก-Friedberg-เยอรมนี-2.jpg

เมืองฟรีดแบร์กที่ความเกี่ยวโยงกับเอลวิส เพรสลีย์ เนื่องจากเขาเคยมาประจำการอยู่ที่เมืองนี้ตั้งแต่ ต.ค. ปี 1958 ถึง มี.ค. 1960 ระหว่างที่เป็นทหารในกองทัพสหรัฐฯ และเอลวิสก็ยังอาศัยในเมืองใกล้เคียงอย่างเมืองบาดเนาไฮม์ ซึ่งเขาได้พบกับพริสซิลา โบลิยอ ภรรยาของเขาเป็นครั้งแรก

เมืองบาดเนาไฮม์เป็นเมืองที่แฟนเพลงของเอลวิส เพรสลีย์มักแวะเวียนกันไปจุดเทียน วางดอกไม้และของขวัญ เพื่อรำลึกถึงเขา หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปในปี 1977 อีกทั้งยังมีการจัดเทศกาลยูโรเปียนเอลวิส เพื่อรำลึกถึงราชาเพลงร็อกแอนด์โรลมาตั้งแต่ปี 2002

นอกจากนี้ เมืองบาดเนาไฮม์ยังมีแผนจะสร้างอนุสาวรีย์ทองแดงให้กับเอลวิส เพรสลีย์ อีกด้วย

AFP-ไฟสัญญาณจราจรเอลวิส เพรสลีย์-ฟรีดเบิร์ก-Friedberg-เยอรมนี-3.jpg

การเปลี่ยนแปลงสัญญาณไฟจราจรไปจากสัญลักณ์สากลค่อนข้างได้รับความสนใจอย่างมากในเยอรมนี โดยไฟจราจร "อัมเพิลมันน์เชน" ในกรุงเบอรลินถือเป็นสัญลักษณ์ไฟจราจรที่โด่งดังที่สุดของเยอรมนี สร้างขึ้นในปี 1961 และใช้กันตั้งแต่ช่วงที่ยังมีการแบ่งประเทศ ซึ่งอัมเพิลมันน์เชนอยู่ในเบอร์ลินตะวันออก

ส่วนเมืองเอาก์สบวร์กก็มีไฟจราจรที่สวมหมวกแหลมจากตัวละคร 'คาสแปร์ล' เมืองไมนซ์มีไฟจราจรตัว 'ไมน์เซลมันน์เชน' เมืองบอนน์มีไฟจราจรบีโธเฟน และในเมืองเทรียร์มีไฟจราจร 'คาร์ล มาร์กซ' ขณะที่เมืองแอร์ฟวร์ตก็มีไฟจราจรรูปร่างแตกต่างกันถึง 14 แบบ ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 1980

ที่มา : DW, CNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: