ไม่พบผลการค้นหา
เสียงสะท้อนชาวไร่ผู้ปลูกยาสูบ ชี้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ เพิ่มความขัดแย้งให้เกษตรกร ผู้ปลูกใบยาสูบ หลายคนเริ่มเป็นห่วงผลกระทบต่อรายได้ หากโรงงานยาสูบมียอดขายบุหรี่ลดลง จนขาดทุน

นายสมนึก ยิ้มปิ่น ผู้จัดการสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์ จังหวัดสุโขทัย ยอมรับว่า การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตครั้งล่าสุด ไม่ได้ลดจำนวนผู้สูบลด แต่กลับทำให้ยอดจำหน่ายบุหรี่ของโรงงานยาสูบลดลง และความต้องการใบยาสูบลดลงตามไปด้วย ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ ซึ่งอยู่ต้นน้ำของอุตสาหกรรม 

ทำให้เวลานี้เกิดความกังวลในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบว่า ถ้าปริมาณการจำหน่ายบุหรี่ของโรงงานยาสูบลดลงอย่างที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบเปิดเผยว่า จาก 27,000 ล้านมวนในปีที่แล้ว จะเหลือ 17,000 ล้านมวนในปีนี้ ถ้าเป็นเช่นนั้น มีโอกาสทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบหมดรายได้ได้

แม้ว่าในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยปัจจุบัน ผู้ปลูกยาสูบ จะได้รับโควต้าการปลูกส่งให้กับบริษัท เพื่อส่งออกไปต่างประเทศปีละ 8 ล้านกิโลกรัม และมีโควต้าการปลูกส่งให้โรงงานยาสูบปีละ 5 ล้านกิโลกรัม รวมทั้งสิ้น 13 ล้านกิโลกรัม แต่อาชีพการปลูกยาสูบเป็นอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ มีตลาดแน่นอน ต่างจากการปลูกพืชอื่น เพราะปลูกยาสูบ ใบยาเกรดสูงสุดได้ราคากิโลกรัมละ 71 บาท เทียบไม่ได้เลยกับปลูกข้าวที่ได้กิโลกรัมละ 6-7 บาทเท่านั้น

นางสาวสุนิตษา อ่อนพรม ชาวไร่ยาสูบ จากจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า สิ่งที่กังวลตอนนี้คือ การสูญเสียรายได้ เพราะถ้ายอดจำหน่ายบุหรี่ของโรงงานยาสูบลดลง ก็ทำให้ความต้องการใบยาสูบลดลง และทำให้ผู้ผลิตบุหรี่กดราคาใบยาสูบลงมาได้ เพราะอย่างที่สถานียาสูบหนองคาย จะมีโควต้ารับใบยาสูบจากเกษตรกรปกติ ปีละ 75,000 กิโลกรัม แต่ถ้าสถานการณ์ยอดจำหน่ายบุหรี่ของโรงงานยาสูบลดลง ก็อาจส่งผลให้มีความต้องใบยาสูบเหลือ 5,000 กิโลกรัมได้ ดังนั้น จึงอยากให้ทางการหานโยบายใหม่ เพื่อดูแลอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ 

เพราะทำอาชีพปลูกยาสูบมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย และเป็นพืชที่ราคาดี ปัจจุบันราคารับซื้อใบยาเกรดสูงสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 61 บาท ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับการปลูกพืชอื่นๆ ในพื้นที่ เช่น ข้าวโพดมีราคากิโลกรัมละ 3 บาท มะเขือเทศ กิโลกรัมละ 2 บาท เป็นต้น  

อีกทั้งการปรับโครงสร้างภาษี กลับทำให้มีการนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศในราคาที่ถูกกว่า เช่น ในหนองคาย มีการนำเข้าบุหรี่จากลาวมาขายราคาซองละ 25 บาท ด้วยซ้ำ