ไม่พบผลการค้นหา
ตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา คนไทย 1,700 คนเข้าชื่อเสนอกฎหมายให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. 35 ฉบับเพื่อยื่นหลังมีการจัดการเลือกตั้ง

“ปลดอาวุธคสช.” เป็นชื่อเล่นของ “พระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. .... (ฉบับประชาชน)”  โครงการที่เกิดขึ้นโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม 24 องค์กร นำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์(iLAW) เริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคม 2561 ตามสิทธิที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 133 ที่ระบุว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน สามารถรวมตัวกันเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของชาวไทยและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐต่อสภาผู้แทนราษฎ ขณะนี้ผ่านมาสี่เดือน มีคนร่วมเข้าชื่อแล้ว 1,700 คน 

แม้จะมีการประชาสัมพันธ์มาระยะหนึ่งผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ของ iLAW แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ทราบว่าตนเองในฐานะประชาชนชาวไทยมีสิทธิตามกฎหมายที่จะลดการใช้อำนาจของคสช. “ยิ่งชีพ อัชฌานนท์” ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(iLAW) เปิดเผยเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการนี้กับวอยซ์ ออนไลน์

ยิ่งชีพ


Q: อยากให้ช่วยอธิบายว่า “ปลดอาวุธ” คสช. คืออะไร?

A: เราคิดว่าคสช.เข้ามายึดอำนาจปกครองประเทศและอยู่กับเรามาสี่ปีแล้ว เขาไม่ได้เน้นการใช้อาวุธแบบที่เป็นปืนหรือว่าเป็นรถถังออกมาเพื่อควบคุมความสงบ แต่ว่ายุคนี้คสช.ใช้อาวุธเป็นกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่ว่าก็เป็นกฎหมายที่ออกโดยคสช.เอง ไม่ว่าจะเป็นประกาศคสช. คำสั่งคสช. คำสั่งหัวหน้าคสช. ซึ่งหลาย ๆ อย่างที่มันออกมามันก็เป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยในจังหวะที่เขาเข้ายึดอำนาจ เช่น การควบคุมสื่อมวลชน เช่นให้สื่อมวลชนต้องถ่ายทอดทุกอย่างตามที่คสช.สั่ง ตัวอย่างที่สอง เช่น คำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ในช่วงยึดอำนาจเขาก็ไม่อยากให้ใครต่อต้าน อย่าเพิ่งชุมนุมอะไรแบบนี้ แต่ว่าประกาศ คำสั่งพวกนี้ ตลอดสี่ปีมันยังใช้มาจนถึงวันนี้เลย พอใช้มาถึงวันนี้ ตำรวจก็ดี ข้าราชการก็ดี ทหารก็  ก็อ้างว่ามันมีอำนาจแบบนี้ มีกฎหมายแบบนี้อยู่ที่เขาต้องบังคับใช้ มันก็ทำให้ไม่ว่าคนที่เดือดร้อนอะไรก็ไม่สามารถชุมนุมได้ สื่อก็ไม่สามารถรายงานอะไรที่เป็นไปในทางตรงข้ามกับคสช.ได้ 

ประกาศคสช.เหล่านี้ตามรัฐธรรมนูญบอกว่ามันจะมีอายุอยู่ตลอดยืนยาวไปชั่วกาลปาวสาน ไม่มีวันยกเลิกเลยตามรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ตามรัฐธรรมนูญใหม่เราก็มีสิทธิที่จะเสนออะไรก็ได้เหมือนกัน เราก็เลยชวนทุกคนมาช่วยกันเสนอร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง ชื่อว่าร่างพ.ร.บ.ที่จะยกเลิกคำสั่งคสช.ที่มันเกินจำเป็นทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมด 35 ฉบับ ชื่อเล่นมันจึงคือปลดอาวุธ คสช. อาวุธในที่นี้อาจจะไม่ใช่ปืน แต่เป็นกฎหมายที่ใช้ เกินจำเป็น เป็นอำนาจที่กว้างขวางเกินไป

Q: ช่วยยกตัวอย่างกฎหมายที่จะเสนอให้ยกเลิกว่ามีอะไรบ้าง

A: การห้ามชุมนุมเกิน 5 คน การให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร การให้อำนาจทหารเข้าไปจับกุม ค้นบ้านโดยมีบทบัญญัติยกเว้นการรับผิด เขียนไว้ว่าเอาผิดทหารไม่ได้

Q: พอได้รายชื่อมาแล้วใครจะเอาไปให้รัฐบาล?

A: ก็เป็นเรา iLAW ถ้าเราได้รายชื่อครบ 10,000 คน เราก็จะเอารายชื่อกับร่างกฎหมายที่ไม่ได้มีรายละเอียดอะไรมากนอกจากให้ยกเลิกกฎหมายคสช. 35 ฉบับไปยื่นที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เสร็จแล้วเขาก็จะนำไปให้รัฐสภาเป็นคนพิจารณาว่าจะผ่านไหม เราจะรอยื่นหลังเลือกตั้ง ยื่นกับสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง

Q: แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าสิ่งที่เราทำไป ร่างไปมันจะถึงเขาจริงๆ?

A: เราไม่รู้ เรามั่นใจได้แค่ว่าถ้าเรามาเข้าชื่อกันจนครบ กฎหมายมันบังคับให้เขาต้องรับและพิจารณา สุดท้ายเขาพิจารณาแล้วเห็นด้วยหรือไม่ เราบอกไม่ได้

Q: แปลว่าเราก็ต้องรอ?

A: ประชาชนมีสิทธิแค่เสนอ ส่วนการตัดสินใจเป็นของเขา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นคนที่เราเลือกมา อีกส่วนหนึ่งเราไม่ได้เลือก 

Q: แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าเราต้องรอนานแค่ไหน?

A: ก็ลำบากมากเลย ที่ผ่านมากฎหมายแต่ละฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอกัน หลายฉบับก็ดองอยู่ 4-5 ปี กว่าจะออก บางฉบับก็เร็วหน่อย ฉบับนี้ตามกฎหมายมันไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ แต่ว่าเราก็เชื่อว่ามันจะใช้เวลาไม่นานนัก เพราะถ้าประชาชนสนใจและมาช่วยกันเข้าชื่อจริง แล้วตอนที่เราไปยื่นมันเป็นข่าว เป็นกระแสจริง มันก็จะกดดันให้คนที่เขามีอำนาจเขารู้สึกว่าเขาต้องรีบทำ ซึ่งเขาอาจจะรับหรือไม่รับ ให้ผ่านหรือไม่ให้ผ่านก็ได้ แต่เราต้องเสนอไปก่อน

Q: วิธีนี้เป็นแนวทางเดียวเลยที่จะทำได้?

A: จริง ๆ ก็ไม่ใช่แนวทางเดียว แต่เป็นแนวทางหนึ่ง ในสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับคนที่รู้สึกว่าคสช.อยู่มานานเกินไปแล้วก็ปิดกั้นประชาชนมากเกินไป บางคนก็รู้สึกว่าอยากจะออกมาชุมนุมบนท้องถนน บางคนก็รู้สึกว่าอยากไปเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ บางคนก็รู้สึกว่าอยากไปเปิด change.org ก็เป็นทุกทางที่สามารถทำได้ เราก็เสนอว่ามันเป็นช่องทางหนึ่งที่กฎหมายกำหนดว่าเรามีสิทธิสามารถทำได้ก็คือช่องทางนี้

Q: ถ้าช่องทางนี้ที่เราทำไปไม่สำเร็จ มีแผนอื่นไหม?

A:เราไม่ได้วางแผนไว้ เราทำอันนี้เราคิดว่าคงใช้เวลาเป็นปีกว่าจะรวบรวมรายชื่อได้ แล้วกว่าจะไปยื่น แต่คนอื่นก็เห็นทำอย่างอื่นอยู่ อย่างคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งเหล่านี้เขาก็ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ประกาศว่าคำสั่งเหล่านี้บังคับใช้ไม่ได้ ก็เป็นช่องทางทางกฎหมายที่เขาก็ทำไป

Q: ถ้าลงชื่อแล้วมันจะมีผลกระทบอะไรกับเราไหม?

A: เท่าที่ทำมายังไม่มีผล ต้องเล่าว่าประชาชนเคยเข้าชื่อเสนอกฎหมายมาแล้วประมาณ 50 ฉบับ บางฉบับเกี่ยวกับการเมือง บางฉบับเกี่ยวกับความมั่นคงก็ยังไม่เคยมีผลกระทบอะไรต่อสิทธิและการใช้สิทธิของประชาชน ซึ่งเราต้องย้ำว่าการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองแล้วก็มีกฎหมายรับรอง เป็นช่องทางที่กฎหมายรับรองได้ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีผลกระทบอะไร ในยุคคสช.ก็มีคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายมาแล้ว 3-4 ฉบับ ก็ไม่เห็นว่ามีการไปไล่ตาม ตามล้างตามเช็คคนที่มาเข้าชื่อให้มีผลกระทบอะไร

Q:  ที่บอกว่าเคยมีคนเสนอ 50 ฉบับ ทำสำเร็จมากน้อยแค่ไหน?

A: จาก 50 ฉบับที่เคยเข้าชื่อมามีสำเร็จทั้งหมด 3 ฉบับ แต่ตัวกฎหมายที่แก้ที่ออกมาก็ไม่ได้เหมือนกับที่ประชาชนเสนอ 100% ส่วนที่เหลือไม่ผ่าน แต่เท่าที่เคยคุยมากับคนที่เคยเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 50 ฉบับ กระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายไม่ได้มีเป้าหมายปลายทางแค่ให้กฎหมายผ่านสภาฯ อย่างเดียว แต่ว่าทุกคนคาดหวังเหมือนกันว่าระหว่างกระบวนการที่มาเข้าชื่อกัน พูดคุยกับคน จะสร้างการเรียนรู้ในสังคม การเข้าชื่อเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการสื่อสารด้วย เมื่อกฎหมายยื่นเข้าสู่สภาฯ แล้ว ไม่ว่าจะชนะโหวตหรือแพ้โหวต คนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายจะได้โควตา 1 ใน 3 เข้าไปเป็นกรรมาธิการในสภาฯ เข้าไปต่อรองและถกเถียงเรื่องนี้ มันก็เป็นช่องทางหนึ่งที่เราจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้