ข่าวการจับกุมดารานักแสดงสาวชื่อดัง ฟ่าน ปิงปิง ฐานเลี่ยงภาษี แม้จะยังไม่มีคำยืนยันจากทางการ หรือจากการรายงานของสื่อหลักของจีน มีเพียงข่าวในสื่อธุรกิจเล็กๆ ของจีน 1-2 แห่งเท่านั้น
แต่สัญญาณต่างๆ ที่ออกรายล้อมรอบตัวเธอ ทั้งการไม่ปรากฏตัวในที่สาธารณะ 3 เดือนกว่า หรือการที่โซเชียลมีเดียต่างๆ นิ่งสนิท ไปจนถึงน้ำตาของน้องชายซึ่งเป็นสมาชิกวงไอดอลหนึ่งบนเวทีการแสดง ก็ทำให้พอจะต่อจิ๊กซอว์ได้ว่า ชะตากรรมของเธอคงจะไม่สู้ดีนัก
ตามรายงานข่าว วิธีการที่ฟ่าน ปิงปิง ใช้เพื่อเลี่ยงภาษี คือทำ “สัญญา หยิน-หยาง” เรียกง่ายๆ คือทำสัญญาว่าจ้าง 2 ฉบับ ฉบับแรกที่จะเอาไปยื่นกับสรรพากรให้เขียนค่าจ้างต่ำๆ ส่วนฉบับที่สองคือการว่าจ้างกันจริง ที่จะใส่ตัวเลขค่าตอบแทนจริงๆ ลงไป
ข่าวการเลี่ยงภาษีของฟ่าน ปิงปิง ถูกเปิดโปงโดยพิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดังของจีน ที่นำสัญญาจ้างงานๆ หนึ่งของดาราสาววัย 36 ปีนี้มาเปิดเผย ฉบับแรก บอกว่ามีค่าจ้างแค่ 10 ล้านหยวน ส่วนอีกฉบับ –ที่เป็นฉบับจริง- เขียนไว้ว่า 50 ล้านหยวน ต่างกับถึง 5 เท่าตัว!
หลังจากนั้นไม่กี่วัน สาวที่เคยติดอันดับดาราที่ทำงานได้มากที่สุดลำดับต้นๆ ของจีน ก็หายตัวไป..
แต่ข่าวคนดังเลี่ยงภาษี ก็ไม่ได้เกิดกับฟ่าน ปิงปิง เป็นคนแรก และคนสุดท้ายแน่ๆ ก่อนหน้านี้ เคยมีคนดังหลายคน ในหลากหลายอาชีพที่เจอข้อหาเลี่ยงภาษีเช่นเดียวกัน ทั้งผู้นำประเทศ นักการเมือง นักธุรกิจ นักกีฬา ดารานักแสดง สื่อมวลชน ฯลฯ
ในระดับโลก ก็เคยมีการแฉเอกสารการเลี่ยงภาษีของคนดังหลายครั้ง โดยเฉพาะกรณีเอกสารหลุด Panama Papers หรือ Paradise Papers ที่ว่าด้วยการไปตั้งบริษัทจัดการทรัพย์สินของตัวเองไว้บนเกาะเลี่ยงภาษี เช่น บาฮามาส เบอร์มูดา หมู่เกาะเคย์แมน หมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้น ฯลฯ
ในไทยเอง ก็เคยมีกรณีอื้อฉาวเมื่อ 5-6 ปีก่อน เมื่อ “ดาราสาวชื่อดัง” คนหนึ่งถูกตรวจสอบเรื่องการเลี่ยงภาษี หลังมีปัญหากับออร์กาไนเซอร์รายหนึ่งว่าจ่ายเงินค่าจ้างให้ไม่ครบ (จ้าง 150,000 บาท จ่ายจริง 145,500 บาท เพราะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%) แล้วพบว่า เธอเอาสำเนาบัตรประชาชนบุคคลอื่นมารับค่าตอบแทนแทน จนเป็นข่าวใหญ่ข่าวโตในช่วงเวลานั้น
ก่อนที่ทุกอย่างจะจบลงด้วยการเสียค่าปรับของดาราสาวคนดังกล่าว กรมสรรพากรจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการเสียภาษีกับเหล่าดารานักแสดง และมีข้อเสนอแปลกๆ คือให้เก็บภาษีเหมาจ่าย ในอัตรา 20% กับดารานักแสดง แทนที่จะเป็นอัตราขั้นบันได แบบบุคคลธรรมดาทั่วๆ ไป ที่อัตรา 37% แต่ท้ายสุดแล้ว ข้อเสนอนี้ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบจากผู้มีอำนาจ
โดยเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้มีการแฉวิธีการเลี่ยงภาษีที่คนในวงการบันเทิงไทยนิยมทำ นอกจากใช้สำเนาบัตรประชาชนคนอื่นมารับค่าตอบแทนแทน ยังรวมถึงการจดทะเบียนตั้ง “คณะบุคคล” หลายๆ คณะ เพื่อกระจายรายได้ จะได้เสียภาษีลดลง
แต่ก็มีโฆษกกรมสรรพากรออกมาว่า ดารานักแสดงไทยยุคหลังๆ มีแนวโน้มที่จะ “เสียภาษีอย่างถูกต้องมากขึ้น”
เพราะตามกฎหมาย ถ้าจงใจเลี่ยงภาษี หากถูกตรวจเจอไม่เพียงต้องเสียภาษีย้อนหลัง 2 เท่า เสียค่าปรับ ยังเสี่ยงจะถูกจำคุกด้วย
หลายคนคิดว่า “ภาษี” คือการหาเงินเข้ารัฐเพียงอย่างเดียว เพราะรายได้ของรัฐบาลเกือบทั้งหมดจะมาจากภาษี โดยสัดส่วนภาษีที่เก็บได้มากที่สุด ก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 37% ภาษีเงินได้นิติบุคคล 29% ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 15% ที่เหลือเป็นภาษีและอากรอื่นๆ อีกนับสิบรายการ
ทั้งที่แท้จริงๆ แล้ว ภาษียังเป็นเครื่องมือที่ภาครัฐใช้ในการพัฒนาประเทศในมิติอื่นๆ ได้ด้วย ทั้งดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงกระจายความมั่งคั่ง-สร้างความเท่าเทียมในสังคม
เมื่อรัฐบาล คสช. เข้ามา จึงให้คำมั่นว่าจะ “ปฏิรูประบบภาษี” ด้วยการออกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีสำคัญๆ หลายฉบับที่รัฐบาลเลือกตั้งทำไม่ได้ ไม่กล้าทำ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เรากลับเห็นแต่ความพยายามในการขยายฐานภาษี เช่น ให้เอสเอ็มอีจดทะเบียนตั้งนิติบุคคล และให้สรรพากรไปไล่บี้ให้ทุกๆ คนเสียภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
แต่การผลักดันกฎหมายภาษีใหม่ที่ควรจะเป็นตัวชูโรงในการลดความเหลื่อมล้ำ กลับเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น ทั้ง “ภาษีมรดก” ที่ออกมาใช้ตั้งแต่ปี 2559 ก็ล้มเหลว เพราะถูก สนช.แก้ไข จากมรดกในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ต้องเสียภาษี 10% ก็ถูกแก้เป็นมรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียเพียง 5% จนที่สุดก็แทบเก็บภาษีนี้กับเหล่าคนรวยไม่ได้เลย
หรือ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ที่ สนช.รับหลักการในวาระแรกไปตั้งแต่ต้นปี 2560 แต่ผ่านมา 18 เดือนแล้ว ก็ยังไม่ออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ ที่สำคัญคือมีรายงานข่าวหลุดออกมาเรื่อยๆ ว่าจะมีการแก้ไขสาระสำคัญของกฎหมาย จนทำให้แทบจะเก็บภาษีได้น้อยมาก (แถมการออกกฎหมายที่ล่าช้า ยังทำให้เอกชนบางเจ้าไปซอยพอร์ตการถือครองที่ดินให้เป็นแปลงเล็กๆ เพื่อจะเสียภาษีได้น้อยลง รอไว้ล่วงหน้า)
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า กฎหมายภาษีฉบับหลัง จะออกมาได้จริงไหม และมีหน้าตาเป็นอย่างไร
ภาษีจึงเกี่ยวพันกับชีวิตเราในหลายมิติ (อาจจะยิ่งกว่า ความตาย) และเกี่ยวพันกับบุคคลที่เราชื่นชอบ เห็นหน้าเห็นตากันบ่อยๆ ในทีวี ในป้ายโฆษณา ในทำเนียบรัฐบาล ไปจนถึงในรัฐสภา
ภาษียังเป็นเหตุผลสำคัญที่เราต้องตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจอย่างเต็มที่
เพราะคนเหล่านี้ ไม่ได้ใช้เงินของตัวเอง แต่ใช้เงินของพวกเราทุกคน อยู่ตลอดเวลา