ไม่พบผลการค้นหา
สนช. นัดผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 14 มิ.ย.นี้ เนื้อหาคล้าย นโยบาย สมช.-แผนสภาพัฒน์

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 14 มิ.ย. นี้ จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 65 ประกอบกับ พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 โดย ร่างยุทธศาสตร์ชาติ มีทั้งหมด 71 หน้า แบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก คือ

1.บทนำ ว่าด้วยสถานการณ์ ที่นับจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันปี 2560 ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ต่ำกว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งค่าเฉลี่ยการเติบโตจะอยู่ที่ร้อยละ 6 นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่สัดส่วนวัยแรงงานลดลงและผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงการพัฒนาที่มีความเสี่ยงและท้าทายมากขึ้น 

2. ปัจจัยและแนวโน้มที่คาดว่าจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ ว่าด้วย ปัญหาด้านความมั่นคง ที่ซับซ้อนละเอียดอ่อน และมีความเชื่อมโยงกันหลายมิติ อาจเป็นประเด็นท้าทายต่อการสร้างบรรยากาศความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชนและประชาชนกับประชาชน ขณะเดียวกัน ในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด จึงต้องเตรียมความพร้อมให้ประชากรมีคุณภาพและนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาใช้

3. วิสัยทัศน์ประเทศไทย ว่าด้วยเป้าหมายอนาคตประเทศไทยในปี 2580 คือ "ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" เช่น ประเทศมความมั่นคงในเอกราชและอธิปไตย เศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขันสูง และมีการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

4. ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ แบ่งเป็น 6 ด้าน คือ

1) ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ถือเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุด มีเป้าหมายเช่น ให้กองทัพ หน่วยงานความมั่นคง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาความมั่นคง มียุทธศาสตร์ เช่น การพัฒนาและเสริมสร้างกลไกที่สามารถป้องกันและขจัดสาเหตุของประเด็นปัญหาความมั่นคงที่สำคัญ โดยพัฒนาและปรับปรุงกลหน่วยงานเดิมที่มีอยู่ อย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

2) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตมีความสามารถในการแข่งขันสูง มียุทธศาสตร์มุ่งเน้นทั้งทาการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 

3) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายให้คนไทยเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ พร้อมต่อวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 มีประเด็นยุทธศาสตร์ ในการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรม คุณธรรม จริยธรรม ในการสื่อสาร ศาสนา การศึกษา และการกีฬา

4) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มีเป้าหมาย สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ การจายศูนย์ความเจริญ เพิ่มขีดความสามารถชุมชน ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ปฏิรูประบบภาษี กระจายการถือครองที่ดิน ส่งเสริมแรงงาน รับรองสังคมมสูงวัย

5) ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป้าหมายเพื่ออนุรักษณ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ให้คนรุ่นใหม่ และฟื้นฟูเพื่อลดผลกระทบจาการพัฒนา เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้สูญพันธุ์เพื่อเป็นฐานทรัพยากรที่มั่นคง การรักษาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยหยุดยั้งการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า มีการบริหารจัดการเชิงพื้นที่และบูรณาการหน่วยงานเฝ้าระวังป้องกันการบุกรุกป่า

6) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีเป้าหมายให้ ภาครัฐมีขนาดเล็กลง มีความโปร่งใส กระบวนการยุติธรรม เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ด้วยการพัฒนาและปรับระบบวิธีการราชการให้ทันสมัย มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เคารพสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติต่อประชาชนโดยเสมอภาค 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั้น มีการตั้งข้อสังเกตุกันว่า เนื้อหาสาระ นั้น ไม่ได้มีความแตกต่างไปจาก แนวนโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปัจจุบันสักเท่าไร จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนให้รัฐบาลชุดถัดไปที่จะมาจากการเลือกตั้ง บริหารประเทศด้วยความยากลำบาก เนื่องจาก จะต้องนำเสนอนโยบายให้สอดคล้องและจะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติคอยกำกับดูแล หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษทั้งทางอาญา และยังอาจนำไปสู่การถูกถอดถอนออกจากการดำรงตำแหน่งทางการเมือง