เพจเฟซบุ๊ก 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' โพสต์ข้อความเรียกร้องให้ช่วยกันหยุด พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำลังผลักดันให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านการพิจารณาของ ครม. ภายในเดือนนี้
โดยระบุว่า ตามที่ศาสตราจารย์กิติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะได้ไปเยือนประเทศคิวบา และกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับความสำเร็จของระบบประกันสุขภาพไทย แต่ในทางตรงกันข้ามแผนปฏิรูประบบสาธารณสุขที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 เม.ย พ.ศ. 2561 กลับมีการวางแผนที่ตรงกันข้ามในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ดังนี้
1.การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือซูเปอร์บอร์ด มีการกำหนดให้คณะกรรมการส่วนใหญ่มาจากตัวแทนของภาคข้าราชการ อาทิ เช่น เหล่าอดีตปลัดกระทรวงฯ และกลุ่มผู้จัดบริการเป็นส่วนใหญ่ โดยมีเสียงตัวแทนภาคประชาชนเพียง 3 คน (2 ตำแหน่งมาจากสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม) จากจำนวนคณะกรรมการทั้งสิ้นกว่า 30 ตำแหน่ง จนกลายเป็นแผนปฏิรูปโดยข้าราชการ เพื่อข้าราชการ ทำให้ขาดสมดุลของผู้แทนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคประชาชน ส่อให้เห็นถึงเจตนารมณ์แฝงที่จะมุ่งเน้นการกระชับอำนาจ กำหนดทิศทางของแผนโดยกลุ่มหนึ่งกลุ่มมากจนเกินไป
2.แผนการปฏิรูปนี้ถึงจะมีแนวคิดเพื่อไม่ให้กระทรวงสาธารณสุขมีบทบาททับซ้อนทั้งการเป็นผู้อภิบาลระบบ (Regulator) และเป็นผู้จัดบริการ (Provider) แต่ก็ขาดความชัดเจน โดยกระทรวงพยายามสร้างอำนาจโดยการใช้ซุปเปอร์บอร์ด แต่ก็ยังไม่ปล่อยให้ รพ.ต่างๆ ออกนอกสังกัดตนเอง ให้มีความอิสระ โดยการปรับเป็น รพ.องค์กรมหาชน หรือสังกัดท้องถิ่นทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการมากขึ้น จึงอาจทำให้เกิดทับซ้อนของบทบาทเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปยิ่งขึ้นไปอีก
3.การกำหนดให้มีการกระจายอำนาจโดยการตั้งเขตสุขภาพ แต่ก็เป็นเพียงเป็นเปลือกนอก แต่มีองค์ประกอบของคณะกรรมเขตสุขภาพ ที่เป็นเนื้อใน กลับมีตัวแทนของภาคราชการเป็นส่วนใหญ่
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จึงเสนอว่า
1.เสนอให้ใช้โครงสร้างคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับชาติหลายเรื่อง มีกฎหมายรองรับ มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน รัฐไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติม ที่สำคัญคือ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างการเป็นผู้อภิบาลระบบ (Regulator) และการเป็นผู้จัดบริการ(Provider) เพียงแต่เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที
2.สนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่เป็นผู้อภิบาลระบบ (Regulator) อย่างสมบูรณ์ โดยแยกหน่วยบริการทั้งหมดออกจากกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการบริหารจัดการภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในหลายพื้นที่ เช่น รพ.บ้านแพ้ว รพ.เทศบาลเมืองอุดรธานี รพ.เมืองภูเก็ต เป็นต้น
3.สนับสนุนการจัดสิทธิประโยชน์หลัก สิทธิประโยชน์เสริมตามข้อเสนอ SAFE
4.เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการกระจายอำนาจโดยการตั้งเขตสุขภาพขึ้นมาใหม่โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เนื่องจากปัจจุบันมีการกระจายอำนาจ มีโครงสร้างในระดับเขต คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขต รวม ๑๓ แห่งทั่วประเทศ บริหารภายใต้อนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต ซึ่งมีองค์ประกอบจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้แทนโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน มีอำนาจหน้าที่ชัดเจนตามที่กฎหมายกำหนด และมีโครงสร้างของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตเป็นหน่วยงานรองรับด้านธุรการ
นอกจากนั้น ปัจจุบัน ยังมีเขตสุขภาพภาคประชาชน ทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในระดับพื้นที่ และสอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชน ครอบครัว และชุมชนในเขตพื้นที่ ดังนั้น การตั้งเขตสุขภาพขึ้นมาใหม่ตามข้อเสนอดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นการปฏิรูป แต่จะสร้างความซ้ำซ้อนในการทำงานในพื้นที่โดยไม่เกิดประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม
แผนการปฏิรูปที่ละเลยการมีส่วนร่วม และเสียงของประชาชนมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่กระบวนการจัดทำแผนที่พยายามกีดกันข้อเสนอของภาคประชาชน กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่รวบรัดขาดมาตรฐาน และเมื่อได้แผนออกมาก็ยิ่งประจักษ์ชัดว่าเป็นแผนที่มุ่งเน้นแต่การดูแลผลประโยชน์เฉพาะพวกพ้องเท่านั้นซึ่งจะทำให้ระบบประกันสุขภาพถดถอยกลายเป็นระบบสงเคราะห์อนาถา เพิ่มความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนยิ่งขึ้นไปอีก สวนทางกับสุนทรพจน์ที่สวยหรูข้างต้นอย่างสิ้นเชิง
อ่านเพิ่มเติม