ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันประสาทวิทยา เผยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเสี่ยงสมองเสื่อม แนะให้ความรู้เพื่อดูแลผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ หลังประเทศไทยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า องค์การอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ (Alzheimer’s Disease International; ADI) ได้ประกาศให้วันที่ 21 ก.ย. ของทุกปีเป็นวันอัลไซเมอร์โลก ซึ่งโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของอาการสมองเสื่อมในวัยสูงอายุ โดยประมาณทุก ๆ 68 วินาทีจะมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น 1 คนบนโลกใบนี้ 

ในขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 7 ล้านคน จากข้อมูลของสมาคมผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยพบว่าร้อยละ 10 ของผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอาการสมองเสื่อม จะเห็นได้ว่าโรคนี้นับเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้น เมื่อคนในครอบครัวเป็นโรคสมองเสื่อมนับเป็นเรื่องใหญ่

เนื่องจากโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การดูแลผู้ป่วยจึงไม่ใช่เรื่องง่ายจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมนั้นเป็นภาระสำคัญสำหรับญาติผู้ดูแล ที่ต้องให้การดูแลอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป ภาระในการดูแลยิ่งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภาวะเสื่อมถอยของสมองที่มากขึ้น และบุตรหลานต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทิ้งให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านเพียงลำพัง อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บกะทันหันได้มากขึ้น 

แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคอัลไซเมอร์ คือ สภาวะของสมองที่เสื่อมลงจากเดิมไม่ใช่เฉพาะเรื่องความจำเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงความคิด การตัดสินใจ และพฤติกรรม ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่ไม่ใช่เมื่อมีอายุมากขึ้นแล้วจะเป็นโรคสมองเสื่อมเสมอไป  

ทั้งนี้โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่พบมากที่สุด คือ ร้อยละ 50-70 ผู้ป่วยจะมีอาการ หลงๆ ลืมๆ จำความไม่ได้ จำเรื่องที่เพิ่งพูดไปได้ไม่นานก็ลืม ชอบเล่าเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา เดินหลงทิศทาง การแก้ปัญหาง่าย ๆ ทำไม่ได้ อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนไป ซึ่งเกิดจากการตายของเซลล์สมอง ทำให้การทำงานของสมองเสื่อมลงจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย ความเครียดก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำลายสมองได้โดยตรง และเร่งให้สมองเสื่อมลงได้

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่ พฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง โรคเบาหวาน ขาดการออกกำลังกาย และกรรมพันธุ์

สถาบันประสาทวิทยาเห็นความสำคัญของโรคอัลไซเมอร์ จึงได้จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้รับรู้ถึงอาการเริ่มแรกของภาวะสมองเสื่อมและความเปลี่ยนแปลงของสมอง สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง วิทยาการทางการแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยและการรักษาในปัจจุบัน การป้องกัน การดูแลผู้ป่วย ตลอดจนร่วมออกกำลังกาย ออกกำลังสมอง และการใส่ใจให้สมองได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ รวมถึงบริการประเมิน ภาวะสมองเสื่อม มีการจัด Day Care สำหรับผู้ต้องการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อม เพื่อลดภาระของลูกหลานที่ต้องดูแลในเวลาราชการ