วันที่ 30 ก.ย. 2566 นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยผลการหารือกับนายเปาโล ดีโอนีซี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย ว่า ไทยและอิตาลีเห็นตรงกันในการผลักดันเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ โดยใช้ Soft power ด้านอาหารเป็นจุดขาย เพราะทั้งไทยและอิตาลีต่างมีอาหารประจำชาติที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนแต่ละฝ่ายรู้จักอาหารของอีกฝ่ายมากขึ้น ในประเทศไทยนั้นมีร้านอาหารอิตาเลียนมากกว่าคนอิตาเลียน และอาหารอิตาเลียนก็ถูกปากคนไทย เช่นเดียวกับสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในอิตาลีก็เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวไทย
"เรามีนวนิยายเรื่อง "แก้วตาพี่" ของโรสลาเรน ซึ่งมีฉากสำคัญเป็นเมืองต่าง ๆ ที่สวยงามในอิตาลี ดังนั้นการหารือครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ฝ่ายไทยได้เชิญชวนและจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้คนอิตาเลียนมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น เพราะจากข้อมูลสถิติพบว่านักท่องเที่ยวชาวอิตาเลียนเดินทางมายังประเทศไทยน้อยกว่าที่คนไทยไปอิตาลีถึง 10 เท่า" นลินี กล่าว
สำหรับด้านการค้าการลงทุน อิตาลีเล็งเห็นว่าไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคที่มีศักยภาพและน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ EEC การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งทางราง รถไฟความเร็วสูงเทคโนโลยีดิจิทัล และการจัดหายุทโธปกรณ์ ที่ผ่านมาการรถไฟสาธารณรัฐอิตาลีได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเป็นมูลค่า 650,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกว่า 16,000 อัตรา นอกจากนี้อิตาลียังได้ผลักดันการจัดตั้งสภาธุรกิจทางอิตาลีเมื่อปี 2558 เพื่อเป็นช่องทางการติดต่อโดยตรงระหว่างภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทสำคัญของไทยและอิตาลีเป็นสมาชิกกว่า 40 บริษัท อย่างไรก็ตามในภาพรวมนักลงทุนของอิตาลียังไม่คุ้นเคยกับการลงทุนในประเทศไทยมากนัก ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศจะต้องส่งเสริมในเรื่องนี้ และไทยก็สามารถใช้อิตาลีเป็นประตูสู่ยุโรปได้เช่นกัน โดยอิตาลีพร้อมสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เช่น โลจิสติกส์ การส่งออก ความปลอดภัยด้านอาหาร เป็นต้น
"ท่านทูตอิตาลียังแสดงความสนใจเรื่องเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ - โรม ของสายการบินไทย ที่ช่วยให้การเดินทางของนักลงทุนและประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นอีกด้วย" นลินี กล่าว