‘เอกชัย ศรีวิชัย’ เจ้าของฉายา ‘ขุนพลเพลงปักษ์ใต้’ ตอกบัตรเป็นศิลปิน เดินสายบันเทิงมาตั้งแต่อายุ 24 ปี สะสมชื่อเสียง และบารมี มานานมากกว่า 3 ทศวรรษ ซึ่งในปีนี้ อายุของเขาก็เดินทางมาถึง 58 ปี เพียงอีก 2 ปีจะมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ เอกชัย บอกว่า “ชีวิตแฮปปี้ดี” ในระหว่างพักเบรคถ่ายมิวสิควิดีโอ ‘หมากัดชะนี’ ผลงานใหม่เพลงร้องฟีเจอริ่งกับ ‘แอม แอวสะออน’ ที่ สตูดิโอ GO 1995
ในมุมของการเป็นนักร้อง นักแสดง มีความสุขกับการเดินสายแสดงคอนเสิร์ต ‘ศรีวิชัยโชว์’ ที่นำกลับมารีเมคใหม่อีกครั้ง ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย หลังจากเคยประกาศพักวง เป็นข่าวใหญ่โตช็อกใจแฟนเลือดสะตอ
“บอกกับแฟนเพลงว่าเราจะเล่นทุกปี ปีละ 15 วัน คือเล่นทุกจังหวัดในภาคใต้ แต่เล่นเพียงแค่จังหวัดละ 1 วัน ต่อ 1 ปี หรือต่อไปอาจจะเพิ่มเป็นปีละ 2 ครั้ง เล่นต้นปีและปลายปี เพราะจากเสียงตอบรับล้นหลามรู้สึกว่า 15 คิวต่อปีมันน้อยมาก แป๊บเดียวเอง หายใจเข้าไม่ทันหายใจออกก็หมดแล้ว”
“มีคนยังไม่ได้ดูอีกเยอะมาก แต่ละวันต้องขยายรั้ว ต้องเอารั้วออกทุกวัน คนมันเยอะ เยอะจนบางวันเราออกไปหน้าเวที ร้องเพลงแรกไม่ออก มันจุก ดนตรีส่งแล้วก็ร้องไม่ออก ด้วยความตื้นตันใจที่มีแฟนๆ รักเราเป็นจำนวนมาก”
“ภาพที่บ้านส้อง (อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี) ผมยังจำติดตาเลย วันนั้นฝนตกหนักมาก และไม่หยุดเลย จัดหนักบ้างเบาบ้างแล้วก็กลับมาหนักต่อ คนก็ยังแห่กันมาชม ใส่เสื้อกันฝน กางร่มซื้อตั๋ว ออกไปหน้าเวที เหมือนดอกเห็ด ร่มหลากสีสันเต็มหน้าเวทีไปหมด เห็นแล้วตืนตันจนสะอึก”
สำหรับคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง เอกชัยบอกว่า คิดว่ามีคนมาชมไม่เกิน 5,000 คน ซึ่งปัจจุบันทำคอนเสิร์ตที่ไหนก็แล้วแต่ มีคนมาดูซัก 2,000 คน ก็ถือว่าดีแล้ว แต่ล่าสุดมีคนมาดูเกือบหมื่น มากกว่าที่คิดไว้ 2-3 เท่าตัว นอกจากนี้เจ้าตัวยังเผยเหตุผลที่ตัดสินใจเดินสายแสดงคอนเสิร์ตเฉพาะภาคใต้ เพียงแค่ 15 คิว ต่อ 1 ปี เนื่องจากเป็นสิ่งที่รู้สึกว่า 'ถูกที่ถูกทาง'
“เรามีแฟนคลับหลักๆ ของเราอยู่ที่ภาคใต้อยู่แล้ว เอาไว้ถ้าเราจัดคอนเสิร์ตใหญ่ที่กรุงเทพฯ ค่อยเล่นที่ อิมแพคฯ หรือ อินดอร์ฯ สัก 4-5 รอบค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง ในส่วนของภาคใต้ผมว่ามันถูกที่ ถูกฝา ถูกตัว และการดำเนินการบนเวทีผมใช้ภาษาใต้ เป็นการดำเนินเรื่อง”
ศิลปินชาว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ยกตัวอย่างให้เห็นภาพความคิดของเขามากขึ้นว่า “ถ้าเราไปภาคเหนือ หรือภาคอีสาน เราต้องมาคิดใหม่”
“อีกอย่างหนึ่งอันนี้พูดแบบไม่มีฟอร์มเลย ไปภาคอีสานเราต้องไปชนกับหมอลำ ซึ่งหมอลำแต่ละคณะเขาแข่งกันใหญ่ คนละทางกับวงดนตรีผม ของผมไม่ได้ใช้คนเยอะอย่างนั้น เราใช้บล็อกกิ้งเป็นตัวกำหนด คนน้อยแต่โฟกัสต้องชัด ไลท์ติ้งต้องชัดแต่งต่างจากวงหมอลำ”
“ถ้าเราไปภาคอีสานก็ต้องไปแข่งกับวงหมอลำ ซึ่งอายุขนาดนี้ จะไปทำให้ยุ่งอะไรมากมาย เราก็ทำของเราในที่ของเรา ในที่ที่มันสบายๆ อีกอย่างหนึ่ง เงินที่ได้ที่กรุงเทพฯ หรือ ที่อื่น 30 ล้าน กับเงินที่ได้ ที่ใต้ 30 ล้าน เป็นเงินเท่ากัน”
ศรีวิชัยโชว์ รูปแบบใหม่
เอกชัย อธิบายรูปแบบการแสดงของวงดนตรีศรีวิชัยโชว์ ที่นำกลับมารีเมคใหม่เพิ่มเติมว่า ยังอัดแน่นไปด้วยคุณภาพ มี 3 คอนเซ็ปเหมือนเดิม ‘เสียงหัวเราะ เพลงเพราะ โชว์สวย’ ระยะเวลาการแสดงยังเหมือนเดิม แต่ปรับเวลาการแสดงให้เร็วขึ้น
“คนในปัจจุบันพอ 4-5 ทุ่ม เขาไม่ค่อยอยากดูคอนเสิร์ต อยากกลับบ้านแล้ว เราก็รีบเล่นตั้งแต่ทุ่มครึ่ง พอ 5 ทุ่มนิดๆ ก็เลิก แต่ว่าการแสดงก็จะมีความร่วมสมัยมากขึ้น อย่างในปีหน้า ( พ.ศ.2563) ผมจะใช้แดนซ์เซอร์แค่ 16 คน แต่ 16 คน ชุดแต่ละชุดนี่คืออลังฯ”
“นักร้องผู้ชาย 16 คน แท็คทีมออกมาเหมือนศิลปินเกาหลี ชุดละ 4 คน นักร้องผู้หญิง 4 คน ผู้หญิงน้อยหน่อยในวงผม เพราะว่าแฟนคลับหน้าเวทีเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ศิลปินผู้หญิงก็ต้องคัดเอาตัวจี๊ดจริงๆ 4 คน และเสียงดีจริงๆ แบบแชมป์เลย 1 คน”
หัวหน้าวงศรีวิชัยโชว์เน้นเสียงหนักแน่น “นักร้องผู้ชายทุกคนต้องหล่อหมด” เพราะมีความเชื่อว่า คุณสมบัติที่ของนักร้องนอกจากมีน้ำเสียงไพเราะแล้ว การมีรูปร่างหน้าตาที่ดีนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ
“แน่นอนที่สุด อันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ชัดมาก ใครอยากจะไปดูคนขี้เหร่ล่ะ มีแต่คนอยากดูอะไรแล้วสบายตาสบายใจ ขี้เหร่ก็ได้แต่ก็ต้องขี้เหร่แบบมีเสน่ห์ ต้องดูแล้วแบบเฮ้ยมีเซ็กซ์แอพพีล มีแรงดึงดูด น่าสัมผัส น่ารัก”
ยืนยันจะร้องเพลงไปจนฟันหัก
ส่วนกรณีที่มีคนมาตามด่าในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ประกาศปิดวงไปแล้ว ทำไมต้องมาเปิดอีก เอกชัย บอกพร้อมกับหัวเราะอย่างอารมณ์ดีว่า วงของตนจะเปิดตอนไหน ต้องไปถามญาติพี่น้องใครด้วยหรือย่างไร และได้สัญญากับแฟนคลับไปเรียบร้อยแล้วว่า “ต่อไปจะร้องจนฟันหัก”
“มีคนมาถามแบบนี้เฟซบุ๊ก ก็เข้าไปเม้นท์นะว่า วงกู ต้องไปถามใครด้วยเหรอ ก็กูเปิดของกูมันก็เรื่องของกู กูจะปิดจะเปิดมันก็เรื่อของกู และก็บอกแฟนคลับว่า ต่อไปกูจะร้องจนฟันหัก ก็ร้องไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ สปอนเซอร์เขาก็ซื้อทุกปี เขาซื้อต่อเนื่องก็ทำไปเรื่อยๆ”
“อีกอย่างหนึ่งผมทำหนังในภาคใต้ ซึ่งเป็นหนังถิ่นแล้ว เพราะโรงภาพยนตร์กลับไปอยู่ชานเมืองอีกแล้ว ตอนนี้ทุกอำเภอในภาคใต้มีภาพยนตร์หมดแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ทำหนัง และไม่มีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาฉายในโรงกรุงเทพฯแล้ว” เขาเล่าถึงการเป็น ผู้กำกับหนัง อีกงานที่ทำแล้วมีความสุขอย่างมากในเวลานี้
“เป้าหมายของการทำงาน คือ ทำหนังออกมาฉายเฉพาะถิ่นแล้วเอาวงดนตรีเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ เอาหนังไปฉายเป็นตัวอย่าง ทำหนังให้ตรงกับเทศกาลของภาคใต้ เทศกาลใหญ่ๆ มี 3-4 เทศกาล หนังเรามีทุกเทศกาล ทำออกมาปีละ 2-3 เรื่อง วงดนตรีก็เปิดปีละ 2 ครั้ง พอหนังจะฉายเดือนมีนาคม เราเปิดวงเดือนกุมภาพันธ์ ด้วยคนมาชมวงดนตรีเป็นหมื่นๆ ได้ชมตัวอย่างหนัง ก็จะมีการบอกต่อ เป็นการต่อยอดกันไป”
นอกจากมีความสุขกับการทำงาน วันนี้ของเอกชัยยังมีความสุขกับการได้ปล่อยวาง ไม่หัวร้อนเหมือนสมัยแรกรุ่น เป็นหนุ่มนมแตกพาน เขายอมรับว่า อดีตเป็นคนซีเรียส จริงจัง โมโหง่าย โวยวาย มุทะลุ อยากได้อะไรต้องได้ ตรงกันข้ามกับปัจจุบัน ยกตัวอย่างเวลาแสดงคอนเสิร์ตเกิดปัญหาเครื่องปั่นไฟดับ ถ้าเป็นเมื่อก่อนแหลกแน่นอน
แต่เดี๋ยวนี้แค่เรียกเด็กคนคุมเครื่องปั่นไฟมา และบอกว่า ไปดูซิลูกมันเกิดอะไรขึ้น คิดได้แล้วว่า โวยวายเหมือนอดีตที่ผ่านมาก็มิเกิดประโยชน์ เครื่องปั่นไฟดับไปแล้ว ก็ต้องหาทางแก้ไขให้ถูกจุด และเรียกทีมงานมาประชุมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดคิด เช็คน้ำให้ดี เช็คน้ำมันให้ดีนะลูก อย่าให้เกิดอุบัติเหตุแบบนี้อีก
“จริงๆ การแก้ปัญหาแก้ง่ายมาก ถ้าแก้ด้วยสติ เมื่อก่อนขับรถใครแซงปาดหน้ากูต้องปาดคืน ใครบีบแตรไล่หลังให้กูเร่ง กูจะช้าลง คือ นิสัยตอนที่อายุยังน้อย วันนี้ทุกอย่างตรงกันข้ามหมดทุกอย่างเลย”
“เดี๋ยวนี้หรอเขาบีบแตรไล่ หลบให้เขาไปก่อนเลยพี่ มีความรู้สึกว่าอย่าไปทะเลาะอะไรเลย ถ้าเกิดมีใครเขาอารมณ์รุนแรงปล่อยเขาไป ให้เขาโวยวายไป หรือไม่ถ้าเราช่วยเขาให้สงบสติอารมณ์ได้ ก็ยินดี”
“เชื่อไหมเมื่อก่อนทุกครั้งที่ผมซ้อมวงดนตรีผมเสียงหมดเลย เพราะด่าทุกแผนกไง ผมคุมหมดคนเดียว อันนี้ก็ให้เด็กไปบล็อกกิ้งแทน และก็นั่งดูข้างล่าง ทำผิดก็ไม่เป็นไร แก้ใหม่นะลูก ถ้าเมื่อก่อนผิดไม่ได้ แล้วก็มานั่งคิดย้อนกลับไป ทำไมเมื่อก่อนกูไม่ทำแบบนี้วะ”
“อยากสอนเด็กๆ ว่า การใช้อารมณ์แก้ปัญหา ไม่สามารถแก้อะไรได้เลย เดี๋ยวนี้นะเวลาไปกองถ่าย อะไรที่ไม่เสร็จไม่เรียบร้อย ก็เรียกหัวหน้าทีมมาตำหนิคนเดียว แบบนี้ไม่ได้นะมันทำให้เสียหายโน่นนี่นั่น รู้แล้วว่าถ้าโมโหเหตุการณ์มันก็ไม่คลี่คลายนะ แล้วเราก็จะเส้นเลือดในสมองตีบตายเอง”
“เดี๋ยวนี้คิดใหม่หมดเลย แม้กระทั่งในเฟซบุ๊กที่เขาเข้ามาด่าเรา เมื่อก่อนต้องเข้าไปตามดูให้ได้ว่ามันอยู่ที่ไหน เดี๋ยวนี้ช่างเถอะ ใครอย่าด่าอะไรด่าไปเลย เพราะเขาไม่รู้จักเราไง ถ้าเขารู้จักเราเขาคงไม่ด่า หรือ ถ้าเขารู้จักแล้วยังอยากจะด่า ให้เขาด่าไปเถอะ ไม่ไปยุ่งอะไรกับเขา”
ไม่จำเป็นต้องแข่งกับใคร เมื่อมีมาตรฐานเป็นของตัวเอง
แม้โลกทุกวันนี้สื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญกับการทำงานเพลง ทำให้มีช่องทางหารายได้ใหม่ง่ายกว่าสมัยที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็พลุแตก แต่ขุนพลเพลงปักษ์ใต้ ไม่เคยมีความรู้สึกว่า เขาเกิดผิดยุคผิดสมัย หรือเสียดายโอกาสที่เกิดเร็วเกินไปแต่อย่างใด ขอแค่มีพื้นที่ให้ยืนอยู่ได้ก็พอใจแล้ว
“แต่ละยุคมันเป็นยุคให้เก็บเกี่ยวหมด ไม่ว่ายุคใคร สุนทราภรณ์ก็มียุคให้เขาเก็บเกี่ยว สุนทราภรณ์จะมาเสียดายว่ายุคนี้ไปไหนแล้วน่าเสียดายเราเก็บเกี่ยวไม่ได้ แบบนี้ไม่ได้นะ เพราะคุณเก็บเกี่ยวไปแล้ว ยุคผมก็เหมือนกันเราเก็บเกี่ยวไปแล้ว เสียดายทำไม ขอพื้นที่ให้ได้ยืนอยู่ได้ก็พอใจแล้ว”
ท่วงทำนองของชีวิตที่ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องไปแข่งขันกับเด็กๆ และกล้ายอมรับความจริงด้วยว่า น้ำเสียงสู้เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของความทันสมัย
“ไม่มีความจำเป็นต้องไปแข่งกับใคร แข่งทำไม เสียงเราสู้เด็กไม่ได้ เสียงไม่ทันสมัยแล้ว เสียงเด็กคือเสียขายในปัจจุบัน อย่างพ่อไวพจน์ (ไวพจน์ เพชรสุพรรณ) ยังร้องเพราะไหม ร้องเพราะ วิชายังแน่นไหม วิชายังแน่น แต่ถ้าออกเพลงใหม่มาก็สู้เด็กไม่ได้ไง เพราะเป็นของพ่อไวพจน์ มันผ่านมาแล้ว”
“ทุกอย่างมันได้ผ่านไปแล้ว และมาตรฐานเราเอาไปเทียบกับเด็กไม่ได้ เด็กไม่ได้ใช่มาตรฐานของเรา เด็กใช้มาตรฐานของเด็ก เราเอาการบริหารจัดการอย่างเดียวพอ เหมือนที่ไปเป็นกรรมการตัดสินประกวดร้องเพลง ผมบอกเลยนะเอาให้อยู่สบาย เอาที่มันลงตัว ไม่จำเป็นต้องมาเสียงเหมือนเรา เพราะถ้าวันนี้เขายังมาเอาเสียงเหมือนเรา มันไม่มีวันดัง”
“เราผ่านวัยตรงนั้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องยอมรับสิ่งที่มันเกิดขึ้นใหม่ๆ ให้ได้ว่า ปัจจุบันเด็กเขาบริโภคอะไร เด็กเขาไม่บริโภคกลอนนะ”
“พี่จากบ้านนาไปห้าหกปี มาเยือนคนดีด้วยความคิดถึง ไม่ได้แล้วนะ เด็กทุกวันนี้เขาเอาแบบนี้ ฉันจะไปหาเธอ ฉันจะชวนเธอไปกินข้าว ฉันชอบเธอมาก เธอรู้ไหม นี่รุ่นใหม่เขาชอบแบบนี้ก็ต้องเอาอย่างนี้ เราอย่าไปฝืน”
อย่างไรก็ตาม แม้มีความเข้าใจโลกที่เปลี่ยนไป แต่ก็ยังมีความเป็นห่วง เรื่องการนำเสนออัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นของเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งบางครั้งอาจทำอะไรเกินงามไปบ้าง
“ผมก็ยังพูดเหมือนเดิมนะว่า กรอบประเพณีแต่ละท้องถิ่นมันมี เอาแค่พอดีพองาม เราเข้าใจสังคม เราเข้าใจกับสถานการณ์ แต่เราต้องมีจุดของเรา เรียกว่าจุดความพอดี ความกตัญญูรู้คุณ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นควรเก็บรักษา”
เจ้าของเพลงหมากัด และพี่มีแต่ให้อันโด่งดัง ทิ้งท้ายด้วยการยกตัวอย่างเพิ่มเติม เหมือนขนมใส่ไส้ คุณไม่จำเป็นต้องห่อใบตองก็ได้ คุณเอาอย่างอื่นมาห่อก็ได้ แต่ขอให้เป็นขนมใส่ไส้ คือคุณจะใช้แพคเกจจิ้งแบบไหนก็ได้ แต่คุณต้องเป็นขนมใส่ไส้ เป็นต้น