ไม่พบผลการค้นหา
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฏหมาย โยนศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด คุณสมบัติความเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ของพลเอกประยุทธ์ ยันรัฐบาลไม่มีอำนาจ ชี้ขาดไม่ได้ มองเป็นเรื่องปกติ หลัง 7 พรรคฝ่ายค้านเตรียมยกเรื่องดังกล่าวอภิปรายในสภาฯ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ว่า ตนเองไม่ขอพูดในเรื่องนี้ เพราะขณะนี้เรื่องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จึงให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด และเรื่องดังกล่าวมีการพูดถึงกันอยู่มากพอสมควร แต่ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีอำนาจในทางนิติบัญญัติหรือตุลาการ หากชี้ออกไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเรื่องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณา ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี จะได้ทำให้เกิดความชัดเจน ไม่เช่นนั้นก็จะมีการพูดถึงเรื่องดังกล่าวอยู่ตลอด

ส่วนกรณีที่ 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน เตรียมยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาอภิปรายในสภาฯ นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่ฝ่ายค้านไม่เคยพูดอะไรเหมือนรัฐบาลอยู่แล้ว และรัฐบาลก็ไม่เคยพูดอะไรเหมือนฝ่ายค้านด้วย ซึ่งการเมืองก็เป็นแบบนี้ ไม่เป็นอะไร ทั้งหมดจึงเรียกว่าความเห็นต่าง แต่เมื่อต่างกันแล้วบางเรื่องมีการชี้ขาดออกมาได้ ดังนั้น เรื่องนี้จึงมีการชี้ขาดได้เมื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนชี้ขาดแล้วจะเชื่อหรือไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะต้องจบ

ยัน "ธรรมนัส" โดนคดี ตปท. ไม่มีผลในไทย แต่มีผลต่อมาตรฐานจริยธรรม

ธรรมนัส

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ ถูกดำเนินคดีที่ต่างประเทศ จะมีผลกระทบกับคุณสมบัติ ส.ส.หรือไม่ว่า จะไม่มีผลในคุณสมบัติที่ระบุว่า เคยต้องคดีมาก่อน แต่หากดูในความประพฤติการทุจริตและมาตรฐานจริยธรรม ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และในอดีตได้เคยมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ว่าหากมีคดีในต่างประเทศจะไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย แต่จะกระทบในด้านชื่อเสียงเกียรติยศ ซึ่งอาจเป็นข้อห้ามในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่จะนำข้อหาในต่างประเทศมาใช้ไม่ได้ เนื่องจากศาลไทยไม่ได้เป็นผู้ตัดสิน แม้ว่าจะเป็นข้อหาที่อาจตรงกันก็ตาม 

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนที่นายธรรมนัสได้ออกจากราชการไปแล้ว และกลับมาทำหน้าที่นั้น จะมีผลกระทบอะไรหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า ถูกไล่ออกเพราะอะไร หากถูกไล่ออกเพราะทุจริตไม่ได้ เพราะจะถูกข้อหาว่าทุจริต แต่ถ้าไม่ใช่ทุจริตก็ไม่เป็นอะไร โดยเฉพาะเมื่อกลับเข้ามารับราชการแล้ว และต่อมาได้ความดีความชอบถือว่าเป็นคนละเรื่องกัน พร้อมยอมรับว่าไม่เคยมีใครเข้ามาปรึกษาตนเองเรื่องคดีของนายธรรมนัสแต่อย่างใด แต่ตนเองก็ไม่เคยให้หน้าของนายธรรมนัส เป็นการส่วนตัว แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่มีปัญหาก็ต้องจัดการตัวเองให้ถูกต้อง หรือไม่เช่นนั้นต้องพิจารณาตัวเองแล้วพ้นจากตำแหน่งไป 

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติไม่ดีหรือละเลยปล่อยไป เพราะต้องแยกให้ออกระหว่างการตรวจสอบไม่ดี กับเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นทีหลัง เช่นเดียวกับกรณีการถือครองหุ้นสื่อ ดังนั้นหากเจ้าหน้าตรวจสอบผิดจะต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ กรณีที่นายธรรมนัสเป็นเจ้าของบริษัทที่มีโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาล จะเข้าข่ายถือครองสัมปทานรัฐหรือไม่นั้น หากเป็นเจ้าของบริษัทดังกล่าวอยู่ในขณะนี้จะมีปัญหา ยกเว้นเป็นเจ้าของบริษัทในอดีต