ความคืบหน้าล่าสุดกรณี ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยอพยพย้ายถิ่นจากพื้นที่ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจัดไว้ให้ขึ้นไปหมู่บ้านบรรพบุรุษ ‘ใจแผ่นดิน’ ซึ่งใช้เวลาเดินเท้าขึ้นไปประมาณสองวัน
อภิสิทธิ์ เจริญสุข ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ให้สัมภาษณ์กับ ‘วอยซ์’ ว่าวันนี้ (28 มกราคม 2564) มีคณะทำงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะเดินทางมาพูดคุยกับชาวบ้านในหมู่บ้านบางกลอยบน
เขากล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังยืนยันเสนอให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่บางกลอยบน กลับไปที่ที่อุทยานฯ จัดให้ โดยเสนอว่าจะจัดสรรที่ดินทำกินให้กับครอบครัวที่ไม่มีที่ดินทำกินก่อนหน้านี้ รวมถึงผู้ที่ว่างงาน จะให้เป็นลูกจ้างของหน่วยดับไฟป่า ของอุทยานฯ
“แต่ในที่สุดวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ทางการจะกลับขึ้นมาคุยอีกครั้งในวันที่ 1 ก.พ.ที่จะถึงนี้” อภิสิทธิ์ กล่าว
เขาบอกว่า ทางการต้องการให้ชาวบ้านรีบไปบอกชาวบ้านคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมมาคุยว่าจะเอาข้อเสนอของทางการหรือไม่ ถ้าภายในวันจันทร์ชาวบ้านยังไม่ได้ข้อสรุป อาจจะมีการใช้มาตราอะไรบางอย่าง
ด้าน มานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวกับ ‘วอยซ์’ ว่า เรื่องที่ว่าจะมีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้านที่ไม่มีนั้น เป็นแค่เรื่องที่เสนอเพื่อให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงหารือกัน ว่าจะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้หรือไม่
“สำหรับอุทยานฯ ตอนนี้ ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน เตรียมกำลังเข้าตรวจสอบพื้นที่ ยังยืนว่าการแก้ไขปัญหานี้ไม่อยากให้เกิดภาพความรุนแรงเหมือนในอดีต” มานะกล่าว
ขณะที่อภิสิทธิ์ยืนยันว่า ชาวบ้านจะไม่ยอมอพยพย้ายกลับลงไปที่ที่อุทยานฯ จัดไว้ให้อีกแล้ว เนื่องจากศาลเคยตัดสินแล้วว่า หมู่บ้านบางกลอยบน (ใจแผ่นดิน) ที่ที่ชาวบ้านอยู่นั้นเป็นหมู่บ้านดั้งเดิม ตั้งก่อนจะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ
“ถ้าเจ้าหน้าที่ไล่รื้อ ผลักดันกลับลงไปข้างล่าง จะขอยืนยัดอยู่ต่อ ถึงแม้จะถูกแจ้งความดำเนินคดีก็ตาม ก็จะขอสู้คดียืนยันสิทธิอยู่ที่บรรพบุรษเหมือนเดิม” อภิสิทธิ์ กล่าว
อภิสิทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้จำนวนชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่อพยพย้ายถิ่นไปหมู่บ้านบรรพบุรุษ ‘ใจแผ่นดิน’ อยู่ที่ 57 คน รวม 20 ครอบครัว
“ใน 20 ครอบครัว มีทั้งเด็ก คนหนุ่มสาว ผู้ใหญ่ คนชรา อีกทั้งยังมีหญิงตั้งครรภ์ 8 เดือน 1 คน” อภิสิทธิ์ กล่าว
เขาเล่าว่า ชาวบ้านทั้ง 57 คน พักอาศัยโดยผูกเปลนอนใต้ต้นไม้และเอาผ้ายางมากันแดดตอนกลางวันและกันหมอกยามค่ำคืนชั่วคราว ระหว่างนี้ชาวบ้านก็ถางที่รกร้างกว่า 10 ปี หลังจากที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เคยไปไล่รื้อเผาทำลายที่อยู่อาศัยเมื่อปี 2554 เผื่อเตรียมพื้นที่สร้างที่อยู่ใหม่
“บ้านที่พวกเราสร้าง เพียงแค่เอาไม้และไม้ไผ่มาสร้างเป็นเพิงที่พักแล้วเอาใบไม้มาสานเป็นหลังคาเท่านั้น” อภิสิทธิ์ กล่าว
ภาพระหว่างการอพยพของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 ภาพจาก สำนักข่าวชายขอบ
ระหว่างที่เพิ่งเริ่มต้นเตรียมก่อร่างสร้างบ้านใหม่ อภิสิทธิ์เเล่าถึงหากินในแต่ละวันว่า ตอนนี้อาหารหลักในแต่ละวันของชาวบ้านจะมีข้าว และปลาที่หาได้ตามริมห้วย ซึ่งชาวบ้านจะใช้แหและไม้ไผ่ดัดจับปลานำมาทำอาหาร ส่วนผักก็เก็บได้จากในป่า
“ตอนนี้ข้าวสารที่ขนขึ้นมาจากข้างล่างตอนมาอพยพเมื่ออาทิตย์ก่อนเริ่มหมดแล้ว ตอนนี้ก็จะส่งผู้ชายเดินลงไปขนข้าวข้างล่างที่มีคนบริจาคมา ซึ่งใช้เวลาเดินขึ้น - ลงเอาข้าว 2 วัน” อภิสิทธิ์ กล่าวและว่า เวลานี้ชาวบ้านต้องการเพียงข้าวสาร ยารักษาโรค และเกลือ เพื่อนำไปปรุงอาหารเท่านั้น
ขณะที่เป้าหมายของการกลับขึ้นมาอยู่บนบางกลอยบน เนื่องจากพื้นที่จัดสรรเดิมของอุทยานฯ ไม่เหมาะกับการปลูกข้าวนั้น ตอนนี้ชาวบ้านกำลังเตรียมแปลงปลูกข้าว โดยจะหว่านเมล็ดข้าวที่เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของหมู่บ้าน เพื่อรอฤดูฝน คาดว่าจะได้ข้าวช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม
“ตอนตัดสินใจอพยพขึ้นมา ไม่คิดว่าจะขอความช่วยเหลือจากคนข้างนอก เลยต้องเตรียมปลูกข้าว แต่ตอนนี้รู้ว่ามีคนช่วยเหลือ ซื้อข้าวสาร อาหารแห้งบริจาค คิดว่าชาวบ้านคงมีข้าวกินก่อนเก็บเกี่ยว” อภิสิทธิ์ กล่าว
หากชาวบ้านเจ็บป่วย ไม่สบายนอกจากกินยาที่ซื้อมาจากข้างล่าง หรือรักษาโดยความรู้พื้นบ้าน เพราะในกลุ่มชาวบ้านมีหมอตำแยอายุ 60 ปี อยู่ด้วย
“ดังนั้นหากมีหญิงคลอดลูก ก็มีหมอตำแยคอยดูแลทำคลอดให้ เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวบ้านไม่ห่วง ขอแค่มีข้าวกิน ที่ดินทำกิน” อภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนเรื่องเด็กๆ จะได้เรียนหนังสือในโรงเรียนรัฐหรือไม่นั้น อภิสิทธิ์อธิบายว่า ชาวบ้านยังไม่คิดส่งลูกไปเรียน เพราะมีความยากลำบากในการเดินทาง และที่สำคัญการจะเรียนได้ จำเป็นต้องอยู่ข้างล่างที่อุทยานฯ เลือกให้ ซึ่งใช้ชีวิตยากลำบากเพราะไม่มีที่ดินทำกิน ออกไปทำงานรับจ้างก็ไม่ได้ เพราะบางคนไม่มีสัญชาติ หรือถูกกังวลจะติดโควิด-19
ในวันเดียวกัน เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) แถลงการณ์ถึง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้
เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม วันที่ 28 มกราคม 2564 ณ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่าง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ภาพจาก มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
1.ผ่อนปรนให้ชาวบ้าน ที่เดือดร้อนและประสงค์กลับไปทำไร่หมุนเวียนตามวิถีวัฒนธรรม ในพื้นที่บรรพบุรุษ บริเวณบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สามารถทำได้ ดังเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้นจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติร่วมกัน โดยรัฐต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว
2.เร่งรัดดำเนินการ จัดหาที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยและประสงค์จะดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนบางกลอยล่าง โดยเร่งด่วนที่สุด โดยมีเป้าหมาย กระบวนการและระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอน
3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการ ลงรายการสัญชาติไทย แก่ราษฎร ในหมู่บ้านบางกลอย
4.ให้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงชาวบ้านผู้เดือดร้อนที่ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างๆ ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สถาบันวิชาการ ได้แก่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชาวบ้านบางกลอย ผู้เดือดร้อน
5.ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมอย่างเป็นทางการ เพื่อทำหน้าที่ กำกับ ติดตาม เร่งรัด การดำเนินการตามข้อ 1 – 4 โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ ปลัดหรือรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน อธิบดีกรมอุทยานฯ กรมการปกครอง เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และผู้แทนชาวบ้านบางกลอย ผู้เดือดร้อน
ทั้งนี้จากกรณี ต้นเดือนมกราคม 2564 ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่าง ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจัดไว้ให้ตัดสินใจอพยพกลับไปที่หมู่บ้านดั้งเดิมในเขตอุทยานฯ หลังสถานการณ์โควิดที่ทำให้บางส่วนไร้อาชีพ-ขาดรายได้ และส่วนใหญ่ไม่สามารถทำเกษตรในพื้นที่จัดสรรได้ เพราะสภาวะแห้งแล้ง
อีกทั้งมีข่าวว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ และทหารอาจขับไล่เขาออกจากพื้นที่ดั้งเดิมที่เคยอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ และจนเกิดการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนขอเจ้าหน้าที่อย่าใช้ความรุนแรงเหมือนกับเหตุการณ์เมื่อปี 2554 ที่มีการไล่รื้อ เผาทำลายบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยง และจับกุมดำเนินคดี
ภาพเปิด : สำนักข่าวชายขอบ