โดยก่อนหน้านี้ในการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง เมื่อคืนวันที่ 19 ก.ย. เพนกวิน - พริษฐ์ ชิวารักษ์ หนึ่งในแกนนำราษฎร ได้เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมถอนเงินจากธนาคารดังกล่าว เพราะความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จนกลายเป็นกระแสในสังคมออนไลน์ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์เเละแฮชแท็ก #แบนscb
โอกาสนี้ ‘วอยซ์’ พาไปรู้จักกับประวัติความเป็นมาของธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทย ที่มีอายุมากถึง 113 ปี
สถาบันการเงินแห่งแรกของชาวสยามนั้น เริ่มต้นขึ้นในนาม "บุคคลัภย์" (Book Club) โดย พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ซึ่งขณะนั้นทรง ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวง พระคลังมหาสมบัติในพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ที่จะให้มีสถาบัน การเงินของสยาม เป็นฐานรองรับการเติบโตทางด้าน เศรษฐกิจการเงิน
บุคคลัภย์เปิดดำเนินการในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2447 ที่ ตำบลบ้านหม้อ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร โดยมีพระสรรพการหิรัญกิจ เป็นผู้จัดการประกอบด้วยพนักงานจำนวน 18 คน รับเงินฝาก ซึ่งกำหนดจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 7.5 ปรากฏว่ามีเงินฝากที่ระดมได้เป็นจำนวน 80,000 บาทเศษ ในเวลาอันสั้นนี้ เมื่อนำมารวมเข้ากับทุนของบุคคลัภย์แล้ว ได้นำไปให้กู้ยืมในธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน สิ่งก่อสร้างและรับจำนองเป็นส่วนใหญ่
หลังเปิดดำเนินการเพียงไม่นาน กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ทรงพิจารณาเห็นว่ากิจการของบุคคลัภย์สามารถดำเนินการไปได้ดี มีปริมาณเงินรับและจ่ายได้ไม่ติดขัด ดำเนินงานระบบการหักบัญชี โอนเงินด้วยเช็คแก่ลูกค้าไทยจีนได้เป็นอย่างดี บรรดาพ่อค้า นักธุรกิจและทางราชการจึงนิยมใช้บริการกันอย่างมาก
เมื่อกิจการประสบความสำเร็จรุ่งเรือง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระบรม ราชานุญาตให้ตั้งเป็นธนาคารในนาม "บริษัท แบงก์สยาม กัมมาจล ทุนจำกัด" (Siam Commercial Bank, Limited) เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2449 โดยเพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินธุรกิจด้านนี้ได้อย่างกว้างขวาง มีตัวแทนอยู่ในทวีปยุโรปรวมทั้งเพื่อให้พนักงานของธนาคารได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการดำเนินงานเกี่ยวกับการติดต่อด้านการค้าต่างประเทศ พระองค์จึงทรงเชิญชวนให้ดอยซ์เอเชียติสแบงก์ (Deutsch Asiatische Bank) ของประเทศเยอรมนีและเดนดานส์เกลานด์มานด์ส แบงก์ (Den Danske Landmancls Bank) ธนาคารจากประเทศเดนมาร์กเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย
"บริษัท แบงก์สยาม กัมมาจล ทุนจำกัด" ประกอบธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ อย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่นั้นมาและได้กลายมาเป็น "ต้นแบบธนาคารไทย" โดยริเริ่ม นำระบบ แนวคิดของการให้บริการรับฝากเงินออมทรัพย์ และบริการบัญชี กระแสรายวัน (Current Account) ถอนเงิน โดยใช้เช็คมาให้บริการแก่ประชาชน พร้อมทั้งจัดตั้งสาขาขึ้น ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค
ต่อมาในยุคปี 2475-2500 สยาม เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และจากสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ในขณะนั้นได้เปลี่ยนชื่อตามนโยบาย "เชื้อชาตินิยม" ของรัฐบาลที่เปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" โดยเปลี่ยนมาเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์
กิจการของธนาคาร เติบโตอย่างรวดเร็ว
ด้วยกิจการที่ขยายใหญ่มากขึ้น ธนาคารประสบปัญหาสำนักงานใหญ่บริเวณหัวถนนเพชรบุรีตัดใหม่ มีพื้นที่ไม่พอเพียงกับ ธนาคารจึงพิจารณา สร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ขึ้น ที่ SCB Park เลขที่ 9 ถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร ระหว่างแยกรัชโยธิน และแยกรัชวิภา เป็นโครงการ บนพื้นที่ประมาณ 52 ไร่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่หนึ่ง ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของธนาคาร และอีกสองส่วนซึ่งอยู่ขนาบข้างสำนักงานใหญ่ ใช้เป็นพื้นที่ธุรกิจ อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โดยแต่ละส่วน มีพื้นที่จอดรถอยู่ใต้อาคาร โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดสำนักงานใหญ่เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2539
สำนักงานใหญ่ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง มีความสูง 37 ชั้น 1 อาคาร และสูง 24 ชั้น 2 อาคาร เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม และแปดเหลี่ยม ลดหลั่นกัน 7 ระดับ เชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่องและและเป็นเอกภาพ พื้นที่ใช้สอยรวม 196,000 ตารางเมตร
ธนาคารจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2519
ปัจจุบันหุ้นของธนาคาร ประกอบด้วย หุ้นสามัญ (SCB, SCB-F) หุ้นบุริมสิทธิ (SCB-P, SCB-Q) ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 3,225 พันล้านบาท มีเงินฝาก 2,407 พันล้านบาท และมีสินเชื่อ 2,171 พันล้านบาท มีมูลค่าหุ้น ตามราคาตลาด (Market Capitalization) 220,940 ล้านบาท ปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้น 1,070 สาขา
เพนกวิน พริษฐ์ เคประกาศผ่านเฟซบุ๊กถึงแนวทางการต่อสู้กับเผด็จการ 8 ข้อ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการ แบนธนาคาร SCB
1. ยืนตรงชูสามนิ้วเคารพธงชาติ ไม่ว่าจะที่บ้าน โรงเรียน ห้าง สถานีขนส่ง หรือตลาดนัด
2. ได้ยินเพลงสรรเสริญในโรงหนัง ไม่ต้องยืนขึ้นแต่ให้ชูสามนิ้วแทน
3. ผูกโบขาวไว้ที่รั้วบ้าน กระเป๋า และที่ขากระจกรถ
4. เห็นขบวนคนใหญ่คนโต ไม่ว่าจะเป็นใครขอให้บีบแตร
5. ติดป้ายผ้าต่อต้านเผด็จการไว้ตามสะพานลอย หรือที่ชุมชนต่างๆ ฯลฯ
6. ประยุทธ์ไปจังหวัดไหน ขอให้ขึ้นป้ายคนจังหวัดนั้นไม่ต้อนรับเผด็จการ
7. นัดหยุดงานประท้วงรัฐบาล เริ่มต้นจากลาพักร้อนวันที่ 14 ตุลา พร้อมกันทั่วประเทศ
8. ทุบหม้อข้าวเผด็จการ แบนธนาคาร SCB
รวบรวมข้อมูลและภาพบางส่วนจาก : พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย , ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) , scb-banking.blogspot.com/