เว็บไซต์นิกเคอิเอเชี่ยนรีวิว สื่อด้านธุรกิจการเมืองของญี่ปุ่น รายงานข่าวศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ (Thailand court orders Future Foward's dissolution) กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้พรรคกู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าเป็นการละเมิดกฎหมายไทยที่ห้ามพรรคการเมืองรับเงินบริจาคจากบุคคลคนเดียวเกิน 10 ล้านบาท
แม้การตัดสินยุบพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่การที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบจะส่งผลต่อการถ่วงดุลอำนาจในรัฐสภา เพราะแต่เดิมพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำในสภา 259 เสียง ต่อพรรคฝ่ายค้าน 241 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ที่เพิ่งถูกยุบไปเคยมีเสียงในสภา 81 ที่นั่ง อีกทั้งกรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองนานถึง 10 ปี ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ย่อมกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยของไทย
ส่วน 'โจนาธาน เฮด' ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวบีบีซีประจำภูมิภาคเอเชีย เผยแพร่ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญของไทยตัดสินยุบพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่งแล้ว ซึ่งก็คือพรรคอนาคตใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นานและได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนรุ่นใหม่ สามารถเอาชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่ผ่านมาได้ แต่ข้อกล่าวหายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในสังคม ขณะที่หัวหน้าพรรคอย่างนายธนาธรจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปอีกสิบปี
ขณะเดียวกัน 'เดอะนิวยอร์กไทม์ส' สื่อเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา รายงานข่าว Thailand Court Disbands Popular Opposition Party โดยระบุว่า ศาลไทยตัดสินยุบพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยม แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะศาลไทย 'มีประวัติ' เคยตัดสินยุบพรรคการเมืองมาก่อนแล้ว พร้อมทั้งอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'ปุรวิชญ์ วัฒนสุข' นักวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งระบุว่า ศาลไทยกลายเป็นสถาบันที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางทางการเมืองไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
เดอะนิวยอร์กไทม์ส รายงานด้วยว่า คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญไทยในวันที่ 21 ก.พ. เป็นการทำลายอนาคตทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ลงไป แม้ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคบางรายระบุว่าจะก่อตั้งพรรคใหม่ขึ้นมา แต่กรรมการบริหารพรรคก็ถูกตัดสิทธิทางการเมืองถึง 10 ปี ทั้งยังมีคดีความค้างอยู่ในกระบวนการยุติธรรมของไทยอีกหลายคดี สืบเนื่องจากการที่พรรคอนาคตใหม่วิพากษ์วิจารณ์กองทัพและนโยบายของรัฐบาลทหารมาตลอด จึงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าคดีเหล่านี้จะสิ้นสุด ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ส่วน 'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล' องค์การระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ระบุว่านอกจากการมุ่งโจมตีพรรคการเมืองฝ่ายค้านแล้ว ยังมีกรณีเจ้าหน้าที่รัฐ 'เพ่งเล็ง' รวมถึงใช้กระบวนการทางกฎหมายคุกคามและลงโทษนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว และประชาชนทั่วไปที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: