ไม่พบผลการค้นหา
ซีอีโอ ธนบุรี เฮลท์แคร์ - รองประธานมิตรผล ชี้ อุตสาหกรรมการแพทย์และเกษตร สามารถเติบโตได้ แต่ผู้ประกอบต้องรู้จุดแข็งตัวเอง และพร้อมปรับตัว ชี้ถ้าไทยปรับตัวไม่ทัน รายได้ ปชช. จะไม่พ้นเส้นความยากจน

ในงานสัมมนา "เศรษฐกิจไทยในยุค Disruptive Technology: พลิกความปั่นป่วนเป็นโอกาส" ที่จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือ (TDRI) มีการพูดถึงหัวข้ออุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดจนก่อให้เกิดความเสี่ยงในการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

'สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช' ประธาน TDRI ชี้ว่า ปัจจุบันกราฟการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นแบบเอกซ์โพเนนเชียล ฟังก์ชัน หรือ การพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ ศักยภาพในการก้าวให้ทันสิ่งเหล่านี้ของประเทศยังอยู่ในแบบเส้นตรง สะท้อนความเป็นไปได้ที่ไทยอาจจะก้าวไม่ทันกระแสการพัฒนาเหล่านี้

สัมมนา TDRI
  • สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช ประธาน TDRI

นอกจากนี้ 'สมเกียรติ' ยังชี้ว่า การปรับตัวให้สอดรับกับเทคโนโลยีไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมิติทางธุรกิจของผู้ประกอบการฝั่งเอกชนเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้วการปรับตัวเหล่านี้ล้วนเป็นท่าทีทางการเมืองของผู้ที่มีส่วนได้ประโยชน์รายใหญ่ทั้งสิ้น

ตามเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2561 - 2580 รัฐบาลตั้งเป้าให้ประเทศมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 5 ต่อปี และมีรายได้ต่อหัวที่ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี หรือประมาณ 454,000 บาท/ปี ขณะที่มีระดับค่าสัมประสิทธิ์จีนีที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำของสังคมอยู่ที่ 0.36

โดยปัจจุบัน ไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 3 ต่อปี มีรายได้ต่อหัวที่ 5,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 178,000 บาทต่อปี และมีค่าสัมประสิทธิ์จีนีที่ 0.45

'สมเกียรติ' ชี้ว่า หากการเมืองภายในยังขัดขวางการพัฒนาประเทศไปข้างหน้า จนไทยก้าวไม่ทันเทคโนโลยีของโลกขึ้นมาจริง จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยตรง ทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี เท่านั้น

อีกทั้ง เป้าหมายรายได้ต่อหัวก็จะเหลือเพียง 8,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 260,000 บาทต่อปี ขณะที่ค่าสัมประสิทธิ์จีนีของไทยจะสูงขึ้นเป็น 0.46 ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ในยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมด

เกษตรไทยมีปัญหา แต่ 'มิตรผล' อยู่อันดับ 2 ของโลก

'ศรายุทธ แสงจันทร์' รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงิน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า ก่อนเกษตรกรหรือภาครัฐจะหันไปสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีหรือระบบอัตโนมัติใดๆ ก็ตาม ทุกฝ่ายจำเป็นต้องเข้าใจหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจและของอุตสาหกรรมตัวเองก่อน

สัมมนา TDRI
  • ศรายุทธ แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงิน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด

รัฐบาลต้องเข้ามาดูสินค้าเกษตรแต่ละตัวทั้งในมิติของโอกาส ความเสี่ยง และช่องทางในการพัฒนา จากนั้นจึงนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ เช่น การนำโดรนเข้ามาตรวจสภาพพืชผลทางการเกษตร หรือแม้แต่การโปรยสารเคมี ซึ่ง 'ศรายุทธ' กล่าวว่า ปัจจุบันเรื่องการใช้โดรนนั้นบริษัทได้ทำในโรงงานที่ประเทศจีน เนื่องจากในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในการใช้โดรนอีกมาก

โดรน

นอกจากนี้ 'ศรายุทธ' แนะนำว่า สิ่งที่เกษตรกรควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือการเตรียมพร้อมต่อการทำการเกษตรในแต่ละรอบ โดยการใช้ข้อมูลสภาพอากาศ หรือด้านชลประทานมากำหนดและหาช่องทางในการรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

แพทย์ที่ไหนก็ดี แต่แพทย์ที่ไทยใส่ใจที่สุด

การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เป็นอุตสาหกรรมกรรมที่เติบโตขึ้นมาอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า ปี 2560 ไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามารักษาตัวในประเทศเรื่องความงามและการชะลอวัยอย่างเดียวสูงถึงกว่า 23,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

'ธนาธิป ศุภประดิษฐ์' รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นยุคบุกเบิกการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ประเทศไทยรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเพื่อจุดประสงค์นี้ปีละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ทำให้ไทยสามารถล้มผู้นำเรื่องนี้ในสมัยนั้นอย่างสิงคโปร์ได้

สัมมนา TDRI
  • ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

'ธนาธิป' ชี้ว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ชาวต่างชาติยอมบินมารักษาตัวในประเทศไทยแม้ค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาคือการบริการของคนไทย

ขณะที่การเข้ามาแทรกแซงของเทคโนโลยีนั้นจะช่วยในเรื่องข้อมูลและการจัดการระบบให้ลื่นไหลมากกว่าเข้ามาส่งผลต่อลักษณะการให้บริการที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วย

ผ่าตัด-แพทย์-โรงพยาบาล-หมอ

อย่างไรก็ตาม ข้อดีและข้อน่ากังวลของความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มาพร้อมกันคือ ความปลอดภัยของข้อมูลคนไข้ 'ธนาธิป' ชี้ว่า หากมีการอนุญาตให้สามารถส่งผ่านข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลในเครือได้เร็วขึ้นก็จะช่วยให้การรักษาเป็นไปได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งนี้ก็มาพร้อมความเสี่ยงถ้าข้อมูลรั่วไหลออกไป ซึ่งจะกลายเป็นต้นทุนการเสียโอกาสของผู้ป่วยเอง ทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ไม่ใช่แค่ 2 ภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลครั้งนี้ แต่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องปรับตัว

รัฐบาลต้องตระหนักว่าการปล่อยให้ประเทศก้าวไม่ทันกระแสเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจมากแค่ไหน และการเสียประโยชน์เหล่านี้สุดท้ายก็จะย้อนกลับมาส่งผลกระทบกับประชาชน