คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการขับเคลื่อนรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ ว่า ต้องพยายามให้ประชาชนเห็นภาพได้ชัดเจน อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่แสดงให้เห็นแต่เป็นเพียงเรื่องเดียว ซึ่งเรื่องที่ฝ่ายค้านเล็งเห็น คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และไม่ให้อำนาจคุ้มครองสิทธิประชาชน และยังแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งการพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจ เพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องพยายามให้ประชาชนเห็น
โดยหลังจากนี้ พรรคเพื่อไทยจะมีการจัดเสวนา เพื่อรวบรวมมุมมองที่หลากหลายที่นอกเหนือจากการทำงานของ 7 พรรค ในเร็วๆ นี้ ส่วนการทำงานกับพรรคฝ่ายค้านนั้น ขณะนี้ได้หารือกับ 7 พรรคเพื่อยื่นเสนอเลื่อนญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 ขึ้นมาให้ทันในสมัยประชุมสภานี้
นอกจากนี้ยังเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองทุกพรรค โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่เตรียมยื่นญัตติเรื่องนี้ว่า หากเห็นแก่ส่วนรวม ไม่ว่าจะฝ่ายค้าน หรือรัฐบาลสามารถทำงานร่วมกันได้ ส่วนหากพรรครัฐบาลจะเสนอตัวเป็นแกนนำในการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ มองว่า พรรคเพื่อไทย ไม่ได้คิดว่าจะเป็นแกนนำและไม่ติดว่าใครจะมาใช้เวทีสภาใช้ประโยชน์อย่างอื่น แต่เห็นว่าควรใช้เวทีสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการร่วมกัน
คุณหญิงสุดารัตน์ ยังส่งสัญญาณถึง สว. เพราะ ขณะนี้ สว. ถูกมองว่าเป็นคนของ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่แล้ว คงต้องเชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่ว่าใครจะตั้งท่านเข้ามา แต่เมื่อมาทำหน้าที่เพื่อประชาชนแล้ว ก็ถือว่า เป็นผู้รับเงินเดือนจากประชาชน จึงควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ขณะเดียวกัน นายบำรุง รัตนะ อดีต ส.ก. 4 สมัยจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมาสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทย และคาดว่าพรรคจะวางตัวให้เป็นผู้สมัคร ส.ก.เขตวังทองหลาง โดยระบุว่า ดีใจที่ได้กลับบ้านเก่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และพร้อมที่จะจับเคลื่อนการทำงานไปพร้อมกับพรรคเพื่อไทย
เตรียมขอสภานำญัตติตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ รธน. หวั่นแก้ไขช้าไม่ทันเลือกตั้งสมัยหน้า
ด้านนายวัฒนา เมืองสุข ประธานยุทธศาสตร์แก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย แถลงผลการประชุมพรรคการเมืองฝ่ายค้านว่า ที่ประชุมมีมติให้แต่ละพรรค สนับสนุนให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ยกมือโหวตสนับสนุนให้นำญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เสนอ มาพิจารณาก่อน เพื่อให้การตั้งคณะกรรมาธิการ ทันสมัยประชุมนี้ เนื่องจากเกรงว่า หากต้องนำไปพิจารณาในสมัยการประชุมหน้า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจไม่ทันต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะกระบวนการแก้ไข อาจใช้เวลาร่วม 2 ปีกว่า พร้อมขอให้พรรคประชาธิปัตย์ ที่ยื่นเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น สนับสนุนญัตตินี้ด้วย รวมถึงขอให้ ส.ว.ฟังเสียงประชาชนด้วย
นายวัฒนา ยังอธิบายกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านว่า จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาฯ เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์ และวิธีการที่จะแก้ไข จากนั้นก็จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 256 ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาและแก้ไขเปิดทางให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีผู้แทนจากหลากหลายทั่วประเทศ ก่อนที่จะทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไปทำประชามติขอความเห็นจากประชาชน ซึ่งหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ผ่านความเห็นจากประชาชน ก็จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม
นายวัฒนา ยังมั่นใจว่า กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญนั้น สามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ โดยรัฐบาล ในฐานะฝ่ายบริหาร ดำเนินนโยบายต่าง ๆ แก้ไขปัญหาให้ประชาชนไป ส่วนกระบวนการนิติบัญญัติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐสภา คือ ส.ส. และ ส.ว.