ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อเที่ยงคืนวันที่ 29 พฤษภาคม ตามเวลาท้องถิ่น รัฐสภาอิสราเอล หรือที่เรียกว่าสภาเนสเซ็ต (Knesset) ลงมติยุบสภา ด้วยคะแนน 74 ต่อ 45 แม้จะเพิ่งเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุคือนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ทันกำหนดตามเส้นตายทางกฎหมายที่ระบุว่าจะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ภายใน 50 วันหลังการประกาศผลการเลือกตั้ง

เหตุที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ก็เพราะพรรคแกนนำรัฐบาลเก่า คือ พรรคลิคุด (Likud) ไม่ได้ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ผู้สมัครของพรรคได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ส. เพียง 35 ที่นั่ง จากจำนวน ส.ส. ทั้งหมดในสภา 120 ที่นั่ง นอกนั้น ที่นั่งในสภาตกเป็นของผู้สมัครจากพรรคอื่นทั้งหมด ได้แก่ พรรคบลูแอนด์ไวท์(Blue and White) 35 ที่นั่ง พรรคชาส(Shas) 8 ที่นั่ง พรรคยูไนเต็ดโทราห์ยูดาอิสึม (United Torah Judaism) 8 ที่นั่ง พรรคฮาดาชทาล (Hadash-Ta’al) 6 ที่นั่ง พรรคเลเบอร์ (Labor) 6 ที่นั่ง พรรคอิสราเอลเบเตนู(Yisrael Beiteinu) 5 ที่นั่ง พรรคยูไนเต็ดไรท์(United Right) 5 ที่นั่ง พรรคเมเรตซ์ (Meretz) 4 ที่นั่ง พรรคคูลานู (Kulanu) 4 ที่นั่ง และพรรครามบาลาด (Ra’am-Balad) 4 ที่นั่ง

ทั้งนี้ พรรคบลูแอนด์ไวท์ซึ่งได้จำนวน ส.ส. 35 ที่นั่ง เท่ากับพรรครัฐบาลเก่านั้น เป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่เพิ่งประกาศก่อตั้งขึ้นใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปีนี้ โดยเป็นการรวมตัวกันของพรรคการเมืองหน้าใหม่ทั้งหมด 3 พรรค คือ พรรคอิสราเอลเรซิเลียนซ์(Israel Resilience) ที่ก่อตั้งเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2018 พรรคเยชอาทิด(Yesh Atid) ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.2012 และพรรคเทเลม(Telem) เพิ่งก่อตั้งในเดือนมกราคม ปีนี้

ในขณะที่พรรคลิคุดซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลเก่านั้นก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.1973 และเป็นแกนนำก่อตั้งรัฐบาลมาตั้งแต่ ค.ศ.1977 จนถึงปัจจุบัน ถูกแทรกโดยรัฐบาลพรรคเลเบอร์เพียงช่วงสั้นๆ ระหว่าง ค.ศ.1999 ถึง 2001 เท่านั้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 4 สมัย คือ สมัยแรกระหว่าง ค.ศ. 1996 ถึง กรกฎาคม 1999 แล้วกลับมาเป็นตัวแทนพรรคลิคุดลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งอิสราเอล 3 สมัยรวด ตั้งแต่ ค.ศ. 2009 ถึง ปัจจุบัน

จึงเกิดคำถามขึ้นอย่างกว้างขวางไปทั่วโลกว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใดพรรคการเมืองเก่าแก่และเป็นแกนนำรัฐบาลเก่าจึงได้คะแนนเสียงเท่ากับพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่เพิ่งตั้งเมื่อต้นปี และ นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูทำอะไรพลาดจึงถูกประชาชนดัดหลังจนยากที่จะสืบทอดอำนาจเป็นนายกรัฐตรีต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 5 เช่นนี้

ทั้งนี้ สาเหตุประการแรก คือ ประชาชนอิสราเอลไม่พอใจตัวนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู เพราะประชาชนคิดว่าเขาอยู่ในตำแหน่งมานานเกินไป และเริ่มทำตัวเป็นเผด็จการ โดยฟังเสียงรัฐสภาน้อยลงเรื่อยๆ เพิกเฉยต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาไม่ฟังใครหน้าไหนทั้งสิ้นในเรื่องนโยบายเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพกับปาเลสไตน์ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากและเป็นปัญหาความมั่นคงที่สำคัญที่สุดของประเทศ 

กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูคัดค้านและไม่ยอมรับข้อตกลงออสโล(Oslo Accord) ระหว่างรัฐบาลอิสราเอลกับองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization หรือ PLO) ที่ทำตั้งแต่ ค.ศ.1993 เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูประกาศว่าปัจจุบันไม่ได้มีแต่ PLO แต่ยังมีขบวนการฮามาส(Hamas) ซึ่งลุกขึ้นมายึดครองฉนวนกาซ่าได้ตั้งแต่ ค.ศ. 2007 นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูเสนอว่าอิสราเอลไม่จำเป็นต้องรักษาสันติภาพกับขบวนการใดๆของปาเลสไตน์ที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้ เขาเรียกคนเหล่านั้นว่าพวกผู้ก่อการร้าย และนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูได้ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวตอบโต้การใช้อาวุธของชาวปาเลสไตน์ด้วยการใช้กำลังโจมตีอย่างหนักหน่วงกว่าเป็นร้อยเท่า ทำให้สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ลงทุกที พลเรือนชาวปาเลสไตน์ต้องบาดเจ็บล้มตายและได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส ซึ่งเท่ากับเอาน้ำมันไปราดกองไฟแห่งความอาฆาตแค้น พลเรือนอิสราเอลจึงต้องเผชิญกับการแก้แค้นกลับด้วยความรุนแรงเสมอมา เท่ากับว่านโยบายของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูไม่ได้นำไปสู่อะไรเลย นอกจากเลือดและน้ำตาของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ของทั้งสองฝ่าย  

นโยบายเกี่ยวกับปาเลสไตน์ของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูได้รับการสนับสนุนอย่างมั่นคงจากพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายขวาทั้งหลาย ในขณะที่มีคนไม่เห็นด้วยกับเขามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมองว่าการสร้างสันติภาพด้วยแนวทางสันติกับปาเลสไตน์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เป็นหนทางที่จะสร้างความมั่นคงให้กับอิสราเอลได้อย่างแท้จริง

หนึ่งในบรรดาคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเกี่ยวกับปาเลสไตน์ของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูและต้องการสร้างสันติกับปาเลสไตน์ คือ เบนนี่ แกนตซ์ ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการของกองทัพอิสราเอลนั่นเอง ที่มองว่านักการเมืองฝ่ายขวาจะสั่งอะไรก็ได้ แต่คนที่ไปเจ็บไปตายไม่ใช่บรรดาคนที่สั่ง แต่คือบรรดาทหารซึ่งเป็นลูกหลานของประชาชนอิสราเอลทั้งสิ้น เขาจึงก่อตั้งพรรคบลูแอนด์ไวท์ขึ้น แล้วลงสมัครชิงชัยในการเลือกตั้ง และในหาเสียงก็ประกาศว่าจะใช้นโยบายสร้างสันติภาพกับปาเลสไตน์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนจำนวนไม่น้อย

สาเหตุประการต่อมาที่ทำให้พรรคลิคุดและนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งเท่าในอดีต ก็คือการที่ตัวนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอรัปชั่น โดยใน ค.ศ.2017 มีข่าวว่านายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงและการฟอกเงินของนักธุรกิจชื่อดังชาวอิสราเอลและนักธุรกิจต่างชาติ ซึ่งตำรวจอิสราเอลได้ประกาศตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องดังกล่าว แต่กลับไม่มีการเปิดเผยผลการสอบสวนต่อสาธารณชน จนเป็นที่คลางแคลงใจอย่างมาก ว่านายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูอาจใช้อำนาจของเขาแทรกแซงการสอบสวน และต่อมาใน ค.ศ.2018 ตำรวจได้แถลงว่ามีหลักฐานว่านายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูเกี่ยวข้องกับการคอรัปชั่นอย่างน้อย 3 คดี และทางตำรวจอยู่ในระหว่างหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม

ดังนั้น เมื่อถึงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 เมษายน ประชาชนจึงเลือกพรรคลิคุดและนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูน้อยลงอย่างมาก แต่หันไปเทคะแนนให้พรรคการเมืองหน้าใหม่อย่างพรรคพรรคบลูแอนด์ไวท์

แม้จะได้จำนวน ส.ส. มาเพียง 35 ที่นั่ง แต่นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูก็ยืนยันท่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปโดยเอาพรรคลิคุดของเขาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยพยายามดึงดูดพรรคเล็กพรรคน้อยทั้งหลายมาอยู่ด้วย โดยเฉพาะบรรดาพรรคฝ่ายขวาทั้งหลาย แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถรวบรวมเสียงได้มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลให้ทันกำหนด เพราะความแตกแยกในฝ่ายขวา ซึ่งนายอาวิกดอร์ ไลเบอร์แมน(Avigdor Lieberman) จากพรรคอิสราเอลเบเตนูซึ่งเป็นพรรคขวาจัด ผู้เป็นอดีตรัฐมนตรีกลาโหมประกาศไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย

กล่าวได้ว่าปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคบลูแอนด์ไวท์สามารถผงาดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็เพราะการ “ทำตัวเอง” ของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูและฝ่ายขวา

ต้องจับตาดูการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 17 กันยายน ต่อไป ว่านายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูและพรรคฝ่ายขวา หรือ เบนนี่ แกนตซ์ และพรรคบลูแอนด์ไวท์ กันแน่ ที่จะสามารถครองเสียงข้างมากในสภา และกำหนดอนาคตของอิสราเอลรวมทั้งชะตากรรมประชาชนปาเลสไตน์