ฮาซานคีฟ (Hasankeyf) เป็นเมืองโบราณอายุราว 12,000 ปี ในจังหวัดบัตมัน (Batman) ประเทศตุรกี ซึ่งยังคงมีผู้อาศัย และยังเป็นที่อยู่ของถ้ำ สุสาน และศาสนสถานโบราณนับพันแห่ง กำลังจะจมอยู่ใต้น้ำเพราะรัฐจะผันน้ำจากแม่น้ำไทกริสเข้ามา โดยเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในโครงการเขื่อนอิลิซู (Ilısu Dam) ที่เพิ่งสร้างเสร็จ
ทางการจังหวัดบัตมันยืนยันเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ว่าเมืองฮาซานคีฟจะถูกปิดตายไม่ให้สัญจรอีกต่อไปในวันที่ 8 ตุลาคมที่จะถึงนี้ วันเดียวกับที่มีการเปิดถนนในเมืองฮาซานคีฟแห่งใหม่ที่รัฐบาลให้ย้ายไป
"การเข้าหรือออก (จากเมือง) จะไม่ได้รับอนญาต ดังนั้นชาวเมืองต้องวางแผนจัดการให้สอดคล้องกับตารางงาน จวนจะหมดเวลาแล้ว เราทุกคนมีหน้าที่ต้องทำ" ฮูลูซี ชาฮิน ผู้ว่าการเมืองบัตมันกล่าว
ชาวเมืองฮาซานคีฟจำนวนมากได้ย้ายไปยังเมืองแห่งใหม่ที่สร้างขึ้นห่างออกไปราว 3 กิโลเมตรแล้ว โดยได้ย้ายอนุสรณ์สถาน 8 แห่งไปด้วย ทว่าถ้ำและสุสานทั้งหมดจะถูกทำลายจากการผันน้ำเข้าจมเมืองแห่งนี้ซึ่งผ่านการปกครองในหลากวัฒนธรรมนับแต่โบราณกาลทั้งอารยธรรมเมโสโปเตเมียน กองทัพไบแซนไทน์ ราชวงศ์อาหรับ และจักรวรรดิออตโตมัน
ทางกลุ่มนักรณรงค์ชี้ว่าการสร้างเขื่อนแห่งนี้จะทำให้คนเกือบ 80,000 คนต้องพลัดถิ่น ขณะที่ทางกระทรวงการต่างประเทศระบุว่าจะมีผู้ต้องย้ายถิ่นฐานเพียง 15,000 ราย หรือราว 2,000 ครอบครัว
ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนการปิดตายเมืองนี้ ชาวเมืองฮาซานคีฟได้พากันขุดอัฐิบรรพบุรุษและเครือญาติของพวกเขาเพื่อย้ายไปยังเมืองแห่งใหม่อีกด้วย
รามาซัน บายทัป ชาวเมืองคนหนึ่ง กล่าวว่าใครๆ ก็เริ่มย้ายศพกันแล้ว ไม่อย่างนั้นหลุมฝังศพเหล่านี้จะจมอยู่ใต้น้ำ
"เรามีสุสานแห่งใหม่อยู่ในเมืองใหม่ที่เราสามารถไปเยี่ยมและเคารพญาติๆ ของเราได้ทุกเมื่อ เราไม่อยากย้ายศพพวกเขาเลย แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้พวกเขาจมอยู่ใต้น้ำ" บายทัปกล่าว
ล็อกมัน ยิลมาซ ชาวเมืองอีกรายผู้มาย้ายหลุมฝังศพกล่าวว่ารู้สึกเหมือนถูกข่มเหง
"พ่อของผม แม่ของผม และน้องชายถูกฝังอยู่ที่นี่ ไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไรที่จะย้ายที่ฝังพวกเขา เราไม่อยากทำเลย แต่เราจำเป็นต้องทำเพราะโครงการสร้างเขื่อน" เขากล่าว
ริดวัน อายฮัน หนึ่งในผู้รณรงค์ให้รักษาเมืองแห่งนี้ไว้ กล่าวว่านี่เป็นเรื่องน่าเศร้า การขุดกระดูกผู้ตายนั้นปลุกความทรงจำอันเจ็บปวดจากการสูญเสียขึ้นมาด้วย
จนถึงตอนนี้ มีหลุมฝังศพกว่า 400 หลุมถูกย้ายไปแล้ว
ทั้งนี้ รัฐเล็งจะสร้างเขื่อนยักษ์แห่งนี้มาตั้งแต่ปี 1954 และเริ่มก่อสร้างในปี 2006 โดยสร้างแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 และเริ่มมีการกักเก็บน้ำแล้วในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
แม้แผนการสร้างเขื่อนและสั่งย้ายเมืองในครั้งนี้จะถูกชาวเมืองรณรงค์ประท้วงเพื่อรักษาเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้ไว้ แต่ก็ไม่เป็นผล นานาชาติได้พากันถอนตัวจากการสนับสนุนการสร้างเขื่อนเขื่อนอิลิซูกันมานานแล้ว โดยสหราชอาณาจักรถอนการสนับสนุนไปตั้งแต่ปี 2001
ในปี 2008 บรรดาบริษัทสัญชาติยุโรปก็พบว่าโครงการนี้จะกระทบแหล่งที่อยู่อาศัยเกือบ 200 แห่ง รวมถึงทำลายสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม และคุกคามสัตว์ใกล้สูญพันธุ์จึงได้พากันถอนเงินปล่อยกู้มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจากโครงการ
กระทรวงการต่างประเทศตุรกี ชี้ว่าเขื่อนนี้เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในตุรกี โดยจะเป็นเขื่อนกำลังผลิต 1,200 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 3,800 กิกะวัตต์ชั่วโมง
ที่มา: Business Insider / CNN / Guardian
ข่าวที่เกี่ยวข้อง