เส้นทางการแก้รัฐธรรมนูญยังไม่ได้ข้อสรุป เมื่อ 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ 'สมชาย แสวงการ' สมาชิกวุฒิสภา อดีตสมาชิก 'กลุ่ม 40 ส.ว.' ผนึกกำลังเดินเกมชงญัตติรัฐสภา ยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) เกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มี ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ
โดยผลลงมติ 366 เสียงต่อ 315 เสียง สภาเห็นชอบให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเนื้อหาขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไพบูลย์ระบุเหตุผลการยื่นครั้งนี้ว่า ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด
“หากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าทำได้ จะทำให้ ส.ว.สบายใจ และการลงมติวาระสาม ไม่มีปัญหา แต่หากรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำฉบับใหม่ และแก้ไขรายมาตราเท่านั้น ผมเสนอให้ตั้ง กมธ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ของรัฐสภา ซึ่งจะแก้ไขกว่า 100 มาตราได้ เชื่อว่าจะไม่เสียเวลาและงบประมาณจำนวนหมื่นล้านบาท” ไพบูลย์ กล่าว
นับตั้งแต่วิกฤตการเมืองปี 2549 ไพบูลย์และสมชายได้กรุยทางเข้าสู่ถนนการเมือง ผ่านระบบการสรรหาไม่ว่าจะเป็น สมาชิกวุฒิสภา-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)-สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
ในสมัยดำรงตำแหน่ง ส.ว. ทั้งคู่ก็มีบทบาทคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผลวินิจฉัยศาลในครั้งนั้นชี้ขาดว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในลักษณะที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง จะกระทบต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยคำวินิจฉัยมีเนื้อหาสาระสำคัญบางส่วนคือ
"การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามคำร้องนี้ เป็นการแก้กลับไปสู่จุดบกพร่องที่เคยบกพร่องแล้วในอดีต เป็นจุดบกพร่องที่ล่อแหลมเสี่ยงต่อการสูญสิ้นศรัทธา และสามัคคีธรรมของมวลหมู่มหาชนชาวไทย เป็นความพยายามนำประเทศชาติให้ถอยหลังเข้าคลอง ทำให้วุฒิสภากลับไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาของครอบครัว และสภาผัวเมีย สูญเสียสถานะและศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร ทำลายสาระสำคัญของการมีสองสภา นำพาไปสู่การผูกขาดอำนาจรัฐตัดการมีส่วนร่วมของปวงประชาหลากสาขาหลายอาชีพ เป็นการกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการครั้งนี้ กลับมีโอกาสได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ด้วยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ คือ รัฐธรรมนูญพ.ศ 2550 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากการออกเสียงแสดงประชามติของมหาชนชาวไทย
"นอกจากนี้การแก้ไขที่มาของ ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว อันมีที่มาเหมือนกับ ส.ส.จึงย่อมเป็นเสมือนสภาเดียวกัน ไม่เกิดความแตกต่างและเป็นอิสระซึ่งกันและกันของทั้งสองสภา เป็นการทำลายลักษณะของสาระสำคัญของระบบสองสภาให้สูญสิ้นไป การแก้ไขที่มาและคุณสมบัติของ ส.ว.ให้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองหรือ ส.ส.ได้
"ย่อมทำให้หลักการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกันของระบบสองสภาต้องสูญเสียไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถควบคุมอำนาจเหนือรัฐสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน อันเป็นการกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
ปี 2562 หลังศึกเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เกิดปรากฎการณ์บัตรเขย่ง 'ไพบูลย์' หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป แม้ได้คะแนนเสียง 45,508 คะแนน แต่ก็เพียงพอสำหรับการกลับเข้าสู่รัฐสภาอีกครั้ง ก่อนยื่นยุบพรรคตนเองและย้ายซบพรรคพลังประชารัฐ เริ่มเข้าไปมีบทบาทในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหวของมวลชนนอกสภา เรียกร้องให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไพบูลย์กลับยื่นข้อเสนอที่สวนทางเสียงเรียกร้อง อาทิ เสนอญัตติให้รัฐสภาลงมติตั้ง กมธ.ศึกษาก่อนรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะถูกมองว่าวิปรัฐบาลกำลัง 'เตะถ่วง'
ขณะที่ 'สมชาย' ภายหลังลาออกจาก สนช. ได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน 250 รายชื่อ ส.ว.สรรหา ที่ส่วนมากมาจาก 'นายพล' และอดีต 'สนช.-สปช.' นับว่าเขาอยู่ในแวดวงการเมืองตั้งแต่ปี 2549 ลากยาวมากว่าทศวรรษ โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง
ในจำนวน 250 รายชื่อนี้ ยังมี ส.ว.ที่มาจากการสรรหาตั้งแต่ 2551 -ปัจจุบัน ร่วมยุคสมัยกับเขาประกอบไปด้วย
หางเสือประเทศ?
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า เกมการเมืองในสภาถูกกำหนดโดยปัจจัยสำคัญมากอย่างหนึ่ง นั่นคือ ส.ว.+ ศาลรัฐธรรมนูญ หาก ส.ว.ขยันชง ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถมีบทบาท active กำหนดโฉมหน้าทางการเมืองได้ แทนที่จะ passive คอยตรวจสอบความชอบไม่ชอบทางรัฐธรรมนูญของกฎหมายเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรตรวจสอบฝ่ายบริหาร อย่าง ส.ว.กับศาลรัฐธรรมก็ค่อนข้างซับซ้อน และมีความเปลี่ยนแปลงขยับมาใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเส้นทางการฉีกรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ที่เกิดขึ้นหลายหน
รัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับ 2540 จนถึงปัจจุบันล้วนกำหนดให้ ส.ว.เป็นผู้ทำหน้าที่เห็นชอบด่านสุดท้าย ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหลาย รวมถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย และต้องดอกจันไว้ด้วยว่า อำนาจของ ส.ว.ในการเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นขยายกว้างที่สุดในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นี้
สมัยรัฐธรรมนูญ 2540 ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และรัฐธรรมนูญ 2550 ส.ว.มาจากการเลือกตั้งบางส่วน เป็นผู้ทำหน้าที่เห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิสายวิชาการเท่านั้น ส่วนอื่นๆ จะเป็นการสรรหากันเองในที่ประชุใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดทั้งทางตรงและทางอ้อมโดย คสช. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ทั้งสายผู้พิพากษาศาลฎกีา สายตุลาการศาลปกครองสูงสุด สายผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการ และยังเพิ่มสายผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการมาอีกด้วย นี่ยังไม่นับรวมช่วง คสช.คุมอำนาจเบ็ดเสร็จที่มีคำสั่งพิเศษในการต่ออายุตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนให้อยู่ได้ยาว 11-13 ปี
องค์กรตรวจสอบที่ตั้งใจออกแบบมาถ่วงดุลกับฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 บัดนี้มีหน้าตาเปลี่ยนไปมาก และทำงานควบคู่กันอย่างทรงประสิทธิภาพในการกำหนดทิศทางการเมืองไทย คำถามคือ ทิศทางนั้นเป็นทิศทางของใคร
อ่านเพิ่มเติม