สรุปการแถลงข่าว สถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม 2568 เวลา 16.30 น.
1.ข้อเสนอหยุดยิง
- เมื่อคืนนี้ (26 ก.ค. 2568) รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้หารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยฝ่ายไทยได้ยืนยันอย่างหนักแน่นถึงจุดยืนของไทยในการแก้ไขปัญหาชายแดนกับกัมพูชาด้วยสันติวิธี โดยเฉพาะผ่านการเจรจาทวิภาคี ซึ่งได้ย้ำมาโดยตลอดในทุกโอกาส
- ไทยจึงคาดหวังจะเห็นความตั้งใจจริงจากฝ่ายกัมพูชาในการยุติการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะการโจมตีที่ไม่เลือกเป้าหมาย หากฝ่ายกัมพูชาแสดงความจริงใจและสุจริตใจ (in good faith) ในการแก้ไขปัญหา ฝ่ายไทยพร้อมที่จะหารือเพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการและกระบวนการที่ชัดเจนสำหรับการหยุดยิง ตลอดจนการยุติการปะทะกันอย่างสันติและยั่งยืน
2. การโจมตีเป้าหมายพลเรือนโดยกองกำลังกัมพูชาในแผ่นดินไทย
- ฝ่ายกัมพูชาได้เปิดฉากโจมตีในหลายจุดตามแนวชายแดนของไทยอีกครั้ง ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00 น. ของคืนที่ผ่านมา และยังคงดำเนินอยู่จนถึงขณะนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ฝ่ายกัมพูชาขาดความจริงใจในการยุติการใช้กำลัง ไม่มีความสอดคล้องระหว่างคำพูดกับการกระทำ และละเลยหลักการพื้นฐานของมนุษยธรรม ด้วยการโจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรเกิดขึ้นกับประเทศใด และในฐานะประเทศที่มีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงต่อประชาคมระหว่างประเทศ ไม่สามารถเพิกเฉยต่อการกระทำอันไร้มนุษยธรรมของกัมพูชา
- เหตุการณ์การโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย ซึ่งสะท้อนถึงการเพิกเฉยต่อคุณค่าความเป็นมนุษย์ของฝ่ายกัมพูชา เช่น (1) การที่กองกำลังของกัมพูชาตั้งฐานยิงในบริเวณโรงเรียน วัด และบ้านเรือนของประชาชนตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบโต้กลับจากฝ่ายไทย ซึ่งถือเป็นการใช้ “โล่มนุษย์” (Human Shields) อย่างชัดเจน และ (2) การโจมตีใส่โรงพยาบาลสนามของฝ่ายไทย รวมถึงสถานพยาบาลอื่น ๆ ซึ่งกำลังให้การดูแลผู้บาดเจ็บทั้งทหารและพลเรือน
- การกระทำของกองทัพกัมพูชาในช่วงที่ผ่านมา ไม่เพียงเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทยเท่านั้น หากแต่ยังถือเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกฎบัตรสหประชาชาติ หรือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
- ทั้งสองเหตุการณ์ข้างต้น ฝ่ายความมั่นคงไทยมีหลักฐานชัดเจน ดังนั้น เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (วันที่ 27 ก.ค. 2568) กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ออกแถลงการณ์กรณีกองกำลังกัมพูชาใช้อาวุธร้ายแรงยิงเข้าใส่บ้านเรือนของประชาชนในดินแดนไทยที่จังหวัดสุรินทร์ ทั้งยังมีการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลเท็จ โดยกล่าวหาว่าฝ่ายไทยเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน (คำแถลงการณ์ ติดตามได้ที่ : https://www.mfa.go.th/th/content/statement-th-cam-border-27-july-2025-th)
- วันนี้ 27 ก.ค. 2568 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะส่งหนังสือถึงหน่วยงานสหประชาชาติ เพื่อแจ้งกรณีการโจมตีตามแนวชายแดนที่ฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มต้น ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งการโจมตีอย่างรุนแรง ไม่เลือกเป้าหมาย และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศนี้ ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก อีกทั้งการอพยพออกจากพื้นที่ยังส่งผลให้ประชาชนต้องออกจากบ้านเรือน คนเจ็บป่วยไม่สามารถรับการรักษาพยาบาล อีกทั้งการปิดโรงเรียนก็จะสร้างความเสียหายต่อเด็กในระยะยาว ซึ่งขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของกัมพูชา โดยเฉพาะในด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะต่อสตรี เด็กและผู้พิการ อีก 2 ฉบับ คือ
1) ถึงองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF เพื่อเรียกร้องให้กัมพูชายุติการใช้กำลังที่ทำให้สูญเสียชีวิต และทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะเด็ก ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงและเปราะบาง โดยทันที
2) ถึงข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เพื่อแจ้งการละเมิดอนุสัญญาต่าง ๆ ด้านสิทธิมนุษยชน โดยขอให้ OHCHR พิจารณาใช้อำนาจตามอาณัติเรียกร้องให้กัมพูชายุติการกระทำดังที่กล่าว
3. การบิดเบือนข่าวอย่างเป็นขบวนการของกัมพูชา
- ฝ่ายกัมพูชายังคงใช้อาวุธร้ายแรงโจมตีไทยในหลายพื้นที่ในจังหวัดชายแดนไทย ในขณะที่นำเสนอว่าตนเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบของประชาคมโลก กลับดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือนว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างไม่หยุดหย่อน ไม่เพียงเพื่อปกปิดความจริง แต่ยังมุ่งหวังบ่อนทำลายเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ
- อีกตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำเสนอข่าวปลอมของฝ่ายกัมพูชา คือ ข้อกล่าวหาว่ากองทัพไทยได้รุกรานและสร้างความเสียหายให้ตัวปราสาทพระวิหาร ตั้งแต่แถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2568 และล่าสุดวันนี้ 27 ก.ค. 2568 ก็มีแถลงการณ์อีกฉบับ ขอเรียนข้อเท็จจริงอีกครั้งว่า เรื่องนี้เป็นการกล่าวหาซึ่งไร้หลักฐาน และเป็นข้อมูลปลอมแปลงที่สร้างขึ้นเอง ไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง
- การปะทะกันระหว่างกองกำลังไทยกับกัมพูชาในวันที่ 24 ก.ค. 2568 ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน บริเวณห้วยตามะเรีย และภูมะเขือ นั้น พื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากตัวปราสาทพระวิหารถึง 2 กิโลเมตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีกระสุนหรือสะเก็ดระเบิดที่มีวิถีไกลไปถึงตัวปราสาทพระวิหาร ซึ่งฝ่ายไทยได้มีหนังสือชี้แจง UNESCO ไปแล้ว ครั้งนี้ ฝ่ายกัมพูชายังได้เผยแพร่ภาพประกอบที่ไม่สามารถระบุวันและเวลาที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นว่า เป็นการนำรูปภาพเก่าที่ปรากฏรอยกระสุนที่มีมานานแล้วมานำเสนอ
- ความไม่สุจริตใจของกัมพูชา สามารถเห็นได้ชัดเจนจากการปล่อยข่าวที่เป็นเท็จ และการปลอมแปลงข้อมูล มากไปกว่านั้น นอกจากยุทธวิธีการใช้สถานที่พลเรือนเป็นโล่กำบังแล้ว ยังรวมถึงการตั้งใจที่จะใช้โบราณสถานเป็นโล่กำบังเพื่อโจมตีฝ่ายไทยด้วย
- ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ ประเทศไทยได้พิสูจน์ให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นมาโดยตลอดว่า การดำเนินนโยบายและปฏิบัติการของไทย ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ล้วนยึดมั่นในหลักการสากล และในกรณีนี้ก็เช่นกัน การที่ไทยจำเป็นต้องดำเนินมาตรการตอบโต้ต่อกัมพูชา ถือเป็นสิทธิที่ชอบธรรมของประเทศภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ โดยเฉพาะสิทธิในการป้องกันตนเองจากการรุกรานของกัมพูชา การตอบโต้ของไทยเป็นไปอย่างมีสัดส่วน (proportionate) และจำกัดอยู่เฉพาะการโจมตีทางทหารที่จำเป็นเท่านั้น
- ไทยรับมือกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ หลักมนุษยธรรม และความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกที่มีความรับผิดชอบในเวทีโลก ในช่วงเวลาที่สถานการณ์มีความละเอียดอ่อน ขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังในการสื่อสารและรับข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด หรือสร้างความแตกแยกได้โดยไม่ตั้งใจ
- ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการดำเนินการของรัฐบาล โดยในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ ทุกสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ได้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงแก่ประเทศและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง