ไม่พบผลการค้นหา
กลายเป็นเรื่องที่มี ‘ข้อพิรุธ’ ซ่อนอยู่ หลัง ‘เยล-มงคล สันติเมธากุล’ หนึ่งในกลุ่มการ์ดราษฎร โพสต์ข้อความว่า “ช่วยด้วย” และหายเงียบไป จากนั้นกลุ่มการ์ด ได้ออกมาเปิดเผยข้อความที่พูดคุยในไลน์ โดยเป็นบุคคลที่อ้างตัวเป็น เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ได้ส่งข้อความมาข่มขู่ และเกี่ยวข้องกับอุ้มหาย ‘เยล-มงคล’ ในพื้นที่ ย่านบางปู จ.สมุทรปราการ

หลังเกิดเหตุ ‘เยล-มงคล’ ได้ไปแจ้งความ โดย ตร. ได้ติดตามกล้อง CCTV พบว่าช่วงเวลาที่ ‘เยล-มงคล’ ระบุว่าถูกลักพาตัวนั้น ยังคงอยู่เพียงลำพัง ไม่พบว่ามีรถตู้หรือกลุ่มชายฉกรรจ์ ดักรออุ้ม ตามที่เป็นข่าว 

ล่าสุดมีรายงานเปิดเผยจาก ทบ. ว่า ‘เยล-มงคล‘ เป็นอดีตทหารกองประจำการ ผลัด1/61 สังกัดศูนย์การทหารราบ และได้หนีราชการไปเมื่อ ธ.ค. 2562 จากนั้นหน่วยต้นสังกัดได้จำหน่ายว่าหนีราชการเมื่อ ม.ค. 2563 และได้ไปแจ้งสัสดีอำเภอในภูมิลำเนา หลังจากนั้นสัสดีได้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากพบตัวจะต้องส่งให้หน่วยต้นสังกัด เพื่อนำตัวส่งศาลทหาร โดยโทษหนีทหาร อายุความ 10 ปี โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี 

แต่หากผู้กระทำความผิดได้ไปก่อเหตุซ้ำซ้อน ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีในคดีนั้นๆก่อน จนกว่าคดีจะสิ้นสุด หลังจากนั้นค่อยส่งตัวมาดำเนินคดีที่ศาลทหาร

จึงทำให้เกิดคำถามขึ้น 2 ฝ่าย โดยฝั่งสนับสนุนรัฐบาล-ต่อต้านการชุมนุม มองว่า เป็นการกุข่าวขึ้นมาของกลุ่มการ์ดราษฎร เพื่อดิสเครดิตฝ่ายรัฐและเพื่อปลุกกระแสการชุมนุมขึ้นมา ส่วนฝั่งสนับสนุนผู้ชุมนุมและกลุ่มการ์ด มองว่าเป็นการส่งคนเข้ามา ‘แฝงตัว’ กลุ่มการ์ดม็อบหรือไม่ เพราะผ่านมา 1 ปีแล้ว เหตุใดจึงยังจับกุม ‘เยล-มงคล’ ไม่ได้

สำหรับ ‘การ์ดปลดแอก’ นั้นเป็น ‘การ์ดอาชีวะ’ ที่แยกมาจาก ‘กลุ่มฟันเฟือง’ ที่เคยชุมนุมที่แยกเกียกกาย เมื่อ 17พ.ย.ที่ผ่านมา

โตโต้ ปิยรัฐ.jpg

อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปปีที่แล้ว ‘โตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ’แกนนำกลุ่มการ์ดวีโว่ เคยออกมาเตือนเรื่อง ‘ระบบการ์ด’ ว่า จะเป็นจุดที่ฝ่ายความมั่นคง ‘เจาะเข้ามา’ ได้ง่ายที่สุด จึงทำนำมาสู่การ ‘รีเซ็ตระบบการ์ด’ โดย ‘ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก’ เพื่อให้การ์ดทุกกลุ่มมาอยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน หลังมีการตั้งกลุ่มการ์ดมากถึง 10 กลุ่ม แล้วเป็นเอกเทศต่อกัน หลังมีเหตุการณ์การ์ดอาชีวะทำร้ายร่างกายการ์ดวีโว่ หลังการชุมนุมหน้า ร.11 ทม.รอ จึงทำให้ ‘โตโต้-ปิยรัฐ’ ประกาศยุติการทำหน้าที่การ์ดการชุมนุมตั้งแต่ 30 พ.ย. 2562 และได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างอิสระแทน และมีกรณีการ์ดเสื้อแดงถีบรถ ในการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าวด้วย

“จุดอ่อนคือเมื่อใครก็ได้สามารถรวมกลุ่มกันขึ้นมาเป็นการ์ดให้กับผู้ชุมนุม ในแง่หนึ่งคือเรื่องดี แต่ในอีกแง่หนึ่งคือความอ่อนแอด้านความมั่นคงของขบวนการ ที่ง่ายต่อการแทรกซึมของผู้ไม่หวังดี ซึ่งผมก็เห็นเค้าลางนี้มาสักระยะ เพียงแต่ลำพังตัวคนเดียวไม่สามารถจัดการปัญหาเชิงระบบได้ ดังที่ตนเคยโพสต์ไปเมื่อหลายวันก่อนว่า ถ้าเขาจะทำลายขบวนการการต่อสู้ เขาจะทำลายการ์ดเป็นกลุ่มแรกๆ” โต้โต้ ปิยรัฐ โพสต์ข้อความ ธ.ค. 2563

อีกความเคลื่อนไหวสำคัญ คือ ฝั่งแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดย ‘รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล’ ได้ออกมาชี้แจงในฐานะ ‘โฆษกราษฎร’ ว่า กลุ่มราษฎรไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่สามย่าน เมื่อวันที่ 16ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อป้องกัยความสับสน หลังเพจ "คณะราษฎร" ซึ่งเป็นรูปโปรไฟล์หมุดคณะราษฎร 2563 ซึ่งโพสต์ข้อความว่า ประกาศรวมพลที่สามย่าน จากนั้นเพจ ‘คณะราษฎร’ ได้โพสต์ผ่านเพจว่า “อันราษฎรนั้น มีทั้งราษฎรแท้และราษฎรเก๊ ม็อบราษฎรหาได้มีทุกคนเป็นแกนนำอย่างที่เขาหลอกลวงไม่ - รุ้ง ปนัสยาไม่ได้กล่าวไว้” 

ซึ่งจุดนี้ยังคงเป็น ‘ปัญหาภายใน’ ในการจัดการการชุมนุมที่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่อง ‘คณะกรรมการกลาง’ ในการจัดชุมนุมเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

รุ้ง ปนัสยา

ส่วนความเคลื่อนไหวของ ‘กลุ่มราษฎร’ ไม่มีการจัดชุมนุมใหญ่ มีเพียงการเคลื่อนไหวในลักษณะเชิงสัญลักษณ์และการติดป้ายต่างๆ เช่น กรณี ‘เบนจา อะปัญ’ สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ไปชูป้ายกรณีวัคซีนที่ห้างไอคอนสยาม เป็นต้น

ในส่วนของ ‘โตโต้’ ได้ไปทำค่ายในพื้นที่ภาคอีสานช่วงนี้ 

ส่วนแนวทางการต่อสู้ของ ‘วีโว่’ ยังคงเคลื่อนไหวอย่างอิสระเช่นเดิม ไม่ขึ้นตรงต่อกลุ่มราษฎร เช่น การเปลี่ยนธงชาติ ด้านหน้า สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และนำผ้าสีแดงที่มีข้อความว่า 112 สลับขึ้นยอดเสาแทน หลัง ‘เดฟ-ชยพล ดโนทัย‘สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา มาตรา 112 เป็นต้น

สุดท้าย สภ.คลองหลวง ได้ถอนหมายจับ ‘เดฟ ชยพล’ หลังตรวจสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมพบว่า ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดี และศาลมีคำสั่งรับคำร้อง เรียกสอบแล้ว ผู้ร้องแถลงยืนยันตามคำร้อง อนุญาตให้ถอนคำร้อง ยกเลิกหมายจับ

อย่างไรก็ตาม ‘ความเข้มข้น’ ในการบังคับใช้ มาตรา 112 ต่อผู้ชุมนุมยังคงมีต่อเนื่อง แต่เหตุการณ์สำคัญอยู่ที่กรณี ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ประธานคณะก้าวหน้า หลัง ‘บี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ’รมว.ดิจิทัลฯ ได้มอบหมาย ‘เนวินธุ์ ช่อชัยทิพย์’ ผู้ช่วย รมว.ดิจิทัลฯ ร่วมกับ ‘ทศพล เพ็งส้ม’ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ‘แรมโบ้-สุภรณ์ อัตถาวงศ์’ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยื่นแจ้งความที่ ปอท. ร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิด ‘ธนาธร’ ฐานความผิด มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ธนาธร วัคซีน โควิด -4DC7-AA43-2650144D678F.jpeg

ถือเป็น ‘สัญญาณเบิ้ม’ จากฝ่ายรัฐบาล หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ตอบโต้ ‘ธนาธร’ โดยขู่บังคับใช้กฎหมาย

“เรื่องอะไรที่เป็นการบิดเบือน ไม่ใช่ข้อเท็จจริง แล้วนำมาแพร่ ไม่ว่าในสื่อหรือโซเชียลมีเดีย ผมให้ดำเนินคดีทุกเรื่อง ทุกรายการ ก็ขอให้ทุกคนระมัดระวังด้วย อย่าหาว่าผมเอากฎหมายไปขู่ แต่ต้องรักษาความเชื่อมั่นของรัฐบาลไปด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

แน่นอนว่า ‘ฝ่ายผู้มีอำนาจ’ ได้ประเมินแล้วว่ายังคุมเกมนี้อยู่ เพราะไม่ได้หวั่นเรื่องการแสต้านที่จะตามมา ท่ามกลางสถานการณ์การต่อต้านการใช้ มาตรา 112 และจะเป็น ‘เชื้อไฟใหม่’ ในการจุดม็อบติดอีกครั้งหรือไม่

ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคง ประเมินว่า การติดป้ายต่างๆต่อจากนี้ไปจะ ‘เข้มข้นกว่าเดิม’ เพื่อปูทางไปสู่การชุมนุม เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดลดลง 

ทั้งนี้เป็นไปตาม ‘ยุทธวิธีขุดบ่อล่อปลา’ ของฝ่ายความมั่นคง ที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้บังคับใช้ มาตรา 112 จนสถานการณ์มาสุกงอม ช่วงกลางเดือน พ.ย. 2563 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศใช้กฎหมายทุกฉบับ จึงมีผู้ต้องคดี มาตรา 112 จำนวนมากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการบังคับใช้กับบรรดาแกนนำเป็นหลักก่อน จากนั้นไล่ลงมาระดับแกนนำตัวรอง 

ซึ่งในทาง ‘จิตวิทยา’ ก็เป็นการ ‘ปราม-ข่มขวัญ’ ไปในตัว โดยจากนี้ไปต้องติดตามต่อในชั้นอัยการและศาล แต่ในฝั่งผู้ชุมนุมมองต่างว่าการบังคับใช้ มาตรา 112 เช่นนี้ จะยิ่งส่งผลลบต่อสถาบัน จึงขอให้ยุติการบังคับใช้

หลัง 'ธนาธรเอฟเฟ็กต์’ อะไรก็เกิดขึ้นได้ !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog