นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยในประเด็นการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในอัตราร้อยละ 15 พบว่ายังมีปัญหาในเรื่องการให้เจ้าของบัญชีลงนามยินยอมส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้กับกรมสรรพากร โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 99 จากบัญชีออมทรัพย์ทั้งประเทศ 80 ล้านบัญชี
ดังนั้นกรมสรรพากร จะมีการแก้ไขประกาศกรมใหม่ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ทันการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากที่จะมีผลในวันที่ 15 พ.ค. นี้ โดยให้กลุ่มที่ได้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาท ไม่ต้องมาแสดงตัวตน เท่ากับได้ยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก จากเดิมคือถ้าไม่อยากถูกหักภาษีต้องมาแสดงตัวตนเท่านั้น และกรมฯ จะหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยอีกครั้งเพื่อชี้แจงแนวทางดังกล่าว
ด้านนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่เกิดภาวะการแห่ถอนเงินฝากออมทรัพย์ของประชาชน และในช่วงบ่ายวันที่ 23 เม.ย. สมาคมธนาคารไทยจะประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกและคณะทำงาน เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับประกาศของกรมสรรพากรเพื่อหาทางออกถึงเรื่องแนวปฏิบัติให้เหมือนกัน
นางสาวชุลีพร น่วมทนง รองเลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การแก้ไขประกาศกรมสรรพากรที่จะออกมาใหม่อีกครั้ง น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะผลกระทบกับผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ โดยผู้ฝากเงินที่มีดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ไม่ต้องเซ็นยินยอม (consent) ให้ธนาคารส่งข้อมูลให้กับสรรพากร
หากเทียบกับเกณฑ์เดิม ที่ผู้ฝากเงินจะต้องเซ็นยินยอมให้แบงก์ส่งข้อมูลให้สรรพากรทุกคน แม้จะมีดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 20,000 บาทต่อปีก็ตาม ซึ่งกลุ่มนี้คิดเป็นเกือบร้อยละ 99 ของผู้มีเงินฝากและมีรายได้ดอกเบี้ย จากผู้มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งหมดกว่า 80 ล้านบัญชี
ดังนั้น หากกรมสรรพากรจะแก้ไขประกาศเพื่อแก้ปัญหาตามที่ระบุ ย่อมมีผลกระทบกับกลุ่มคนร้อยละ 1 ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต่อปี ซึ่งหากดูข้อมูลเงินฝากพบว่าคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีบัญชีเงินฝากเกิน 3 บัญชี หรือคิดรวมเป็นจำนวน 30 ล้านบัญชี ซึ่งกระจายอยู่ในหลายแบงก์
อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มนี้เซ็นข้อมูลการยินยอมกับแบงก์ เพื่อแจ้งความประสงค์ไม่ให้ส่งข้อมูลให้สรรพากร ข้อมูลบัญชีเงินฝากนั้นๆ ก็จะไม่ถูกส่งไปให้กับสรรพากร เพราะเป็นกลุ่มที่เสียภาษีอยู่แล้ว
แต่หากกลุ่มนี้ไม่มาเซ็นยินยอมกับแบงก์ แบงก์ก็จำเป็นต้องส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากไปให้กับสรรพากร เพื่อดำเนินการด้านภาษีต่อไป
"การเปลี่ยนแปลงเกณฑ์มีผลดีต่อประชาชนโดยรวม เพราะเท่าที่ดูผู้ฝากเงินส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99 เป็นกลุ่มที่มีรายได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 2 หมื่นบาท และไม่อยู่ในกลุ่มที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว และหากจะถูกหักภาษี เพราะไม่ได้เซ็นยินยอมกับแบงก์ แล้วต้องไปขอคืนภาษีในอนาคต ก็จะมีความยุ่งยากต่อผู้ฝากเงิน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงประกาศจะส่งผลดีกับผู้ฝากเงินโดยรวม ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมามีผู้ฝากเงิน กังวลและสอบถามเรื่องนี้เข้ามาเป็นจำนวนมาก" นางสาวชุลีพร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมจะมีการหารือร่วมกับกรมสรรพากรอีกครั้งในวันที่ 25 เม.ย. นี้ เพื่อหาความชัดเจนจากประกาศภาษีเงินฝาก เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการทำตามกฏหมายต่อไป โดยเฉพาะวิธีการกำหนดการ "ความยินยอม" ที่ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกธนาคาร อีกทั้ง การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าร่วมประชุมกับสรรพากรด้วยในครั้งนี้ก็จะมีความชัดเจนในแง่ปฏิบัติมากขึ้นด้วย
ด้านนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท. เปิดเผยว่า ธปท. รับทราบ เรื่องที่มีการหารือระหว่างกรมสรรพากรกับสถาบันการเงินในเรื่องกระบวนการนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของลูกค้าให้กับกรมสรรพากร ซึ่งมีประเด็นเรื่องของระบบงาน เช่น ระบบ IT ของสถาบันการเงินที่อาจต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน เพื่อให้สามารถนำส่งข้อมูลดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน
อย่างไรก็ตาม ธปท. เห็นว่าควรมีการพิจารณาผลกระทบต่างๆ ให้รอบด้านเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ปัจจุบันตามข้อมูลของ ธปท. พบว่า มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีมูลค่าเงินฝากต่อ 1 บัญชี เกิน 1 ล้านบาท (เงินฝากเกิน 4 ล้านบาท จะมีรายรับดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาทต่อปี) ในระบบ (ข้อมูล ณ ก.พ. 2562) ทั้งสิ้น 972,810 บัญชี มีมูลค่าเงินฝากออมทรัพย์รวมกัน 5.6 ล้านล้านบาท ขณะที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีมูลค่าเงินฝากต่อ 1 บัญชี 50,000-1 ล้านบาท มีทั้งสิ้น 87.1 ล้านบัญชี และมีมูลค่าเงินฝากออมทรัพย์ในบัญชีรวมกัน 2.37 ล้านล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :