อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กล่าวว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้สรุปข้อมูลจากการแจ้งเบาะแส และการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในโลกออนไลน์ เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงการระบาดรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 19 ธ.ค. 2563-28 ก.พ. 64 พบข้อความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จำนวน 35.47 ล้านข้อความ หลังจากคัดกรองแล้วพบข่าวที่เข้าหลักเกณฑ์ 2,784 ข้อความโดยมีข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 1,346 เรื่อง ในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ผ่านการตรวจสอบสู่สาธารณะแล้ว จำนวน 140 เรื่อง โดยมีสัดส่วนของข่าวปลอม 70% ข่าวบิดเบือน 20% และข่าวจริง 10%
“ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การระบาดโควิด-19 รอบ 2 อยู่ในกระแสความสนใจของประชาชนอย่างมาก ทำให้มีการพูดถึงหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับโควิดจำนวนมาก โดยเฉพาะบนโลกโซเชียล ส่งผลให้ตัวเลขการแจ้งเบาะแสข่าวปลอมในช่วงแค่ 2 เดือนกว่าของการระบาดรอบใหม่ พุ่งสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับจำนวนข้อความแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ที่เกิดขึ้นตลอด 1 ปีแรกของการจัดตั้งศูนย์ฯ ซึ่งอยู่ที่ 18.81 ล้านข้อความ (รวบรวมระหว่าง พ.ย. 62 - ก.ย. 63)” อัจฉรินทร์ กล่าว
สำหรับข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 1,346 เรื่อง พบว่า อันดับ 1 อยู่ในหมวดหมู่สุขภาพ จำนวน 719 เรื่อง คิดเป็น 53% ตามมาด้วย หมวดหมู่นโยบายรัฐ จำนวน 615 เรื่อง คิดเป็น 46% และหมวดหมู่เศรษฐกิจ จำนวน 12 เรื่อง คิดเป็น 1% ส่วนหมวดหมู่ภัยพิบัติ ไม่พบเรื่องที่เข้าข่าย
ทั้งนี้ ในรอบเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบว่ามีข่าวปลอมที่มักถูกนำมาแชร์ซ้ำมากสุด 5 อันดับแรก ดังนี้
1. อภ. เปิดรับอาสาสมัคร ทดลองวัคซีนโควิด-19 ในไทย
2. คลิปเสียงหมอศิริราช แนะให้กินยาเขียวเพื่อรักษาโควิด-19
3. จุฬาฯ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 230 ราย
4. เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 10 ราย
5. พบลูกตำรวจ สภ. แม่ริม ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ