มนุษย์ผู้ใหญ่มักมั่นใจว่าสามารถแยกแยะ ดี-ไม่ดี ได้ชัดเจน แต่วิธีคิดแบบแบ่งคู่ตรงข้าม (binary) ดี-เลว แบบนี้ละทิ้งความซับซ้อน อลหม่านของโลก และบางทีเราก็ไม่รู้ตัวว่าเราเป็นเช่นนั้นกันในทุกมิติ มากบ้าง น้อยบ้าง โดยเฉพาะมิติของการเมืองในสังคมแบ่งขั้วยาวนาน หรือแม้แต่ขั้วเดียวกันก็ยังมีลักษณะการมองโลกแบบ all good- all bad
นั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ 'ดุจดาว วัฒนปกรณ์' ผู้กำกับ/นักแสดง ที่มีอาชีพหลักเป็นนักจิตบำบัด นำสภาวะทางจิตวิทยา Paranoid-Schizoid มาตีความและตั้งเป็นชื่อการแสดงชุดนี้ เพื่อพาผู้ชมไปสำรวจภาวะนั้นในตัวเองอีกครั้ง โดยรวบรวมนักแสดงรุ่นใหญ่มากฝีมือจากบีฟลอร์ 3 คนมาร่วมแสดงด้วย
ในทางจิตวิทยา สภาวะ Paranoid-Schizoid เป็นธรรมชาติมนุษย์ในช่วยวัยที่ยังเป็นทารกและต้องเรียนรู้ที่จะแยกแยะสิ่งต่างๆ แบบ all good, all bad เพราะยังไม่เข้าใจความซับซ้อน
“สมมติเด็กจะเรียนรู้เกี่ยวกับแม่ ก็จะค่อยๆ รู้ว่าแม่ดูแลฉันดี แม่เป็นสิ่งดีงาม แต่สักพักแม่ไม่มาอุ้มฉัน แม่เสียงดัง นั่นคือแม่แย่ แล้วซักพักแม่ก็มาให้นม เด็กจะเริ่มสับสนว่าแม่คือสิ่งดีหรือไม่ดี แต่สักพักเขาจะเรียนรู้ว่า ทั้งหมดมันอยู่ในคนคนเดียวกันนั่นแหละ”
“พอเราโตขึ้นมาเข้าใจภาวะทั้งหมด บางครั้งก็ยังย้อนกลับมาเกิดภาวะนี้ได้เหมือนกัน ถ้าคนคนนั้นเครียดมากๆ หรือมีอะไรมา trigger (กระตุ้น) ก็อาจเกิดภาวะ Paranoid - Schizoid ได้เหมือนกัน อันนี้พูดกันในแง่ที่ยังไม่ได้ถึงขั้นเป็นโรคทางจิตเภทนะ”
“เราตั้งคำถามว่า คนเราจะอยากมองแบบนี้ไปทำไม เราจะยอมรับได้ไหมที่สิ่งหนึ่งมีทั้งสองอย่าง มันเครียด มันงง มันซับซ้อน มันน่าหงุดหงิด บางทีอาจเป็นเพราะการแบ่งแบบนั้นมันทำให้ชีวิตง่าย เหมือนเราถามว่า คนนี้เป็นคนดีหรือไม่ดี ตอบว่าคนดี อ่ะ สบายใจ โล่ง เคลียร์ คนนั้นชั่ว อ้อ ชั่ว เข้าใจแล้ว สบายใจ แต่ถ้ามันมีคำอธิบายที่ซับซ้อน บางคนทนกับความไขว้ไปไขว้มาไม่ได้” ดุจดาวอธิบาย
การแสดงชุดนี้ดูเรียบง่าย แต่ก็ทำให้คนดูรู้สึกได้ว่า การแยกขาว-ดำเป็นเรื่องยากขึ้น และสำคัญกว่านั้น ความไม่แน่ใจ-สับสนนี้ยังก้าวไปสู่เรื่องการแสดงด้วย สรุปแล้วนักแสดงกำลังแสดงอยู่ หรือเป็นตัวของตัวเอง นั่นเป็นความตั้งใจนำภาวะ Paranoid - Schizoid มาอยู่ในการแสดง
ไม่เพียงเท่านั้น ดุจดาวนำสภาวะนี้มาอยู่ใน ‘กระบวนการทำงาน’ ด้วย จากผู้กำกับสุดเพอร์เฟ็ค มารอบนี้เธอสร้างกระบวนการทำงานแบบกระจัดกระจาย กระท่อนกระแท่น ไม่บอกโครงสร้าง คอนเซ็ปท์ทั้งหมดกับนักแสดง ทำทุกอย่างให้ตรงกันข้ามกับความเป็นตัวเธอ โดยเหลือ ‘ที่ว่าง’ ให้สิ่งที่ไม่อาจควบคุมเกิดขึ้น ปล่อยให้นักแสดงกลายเป็นคนธรรมดาไม่ใช่นักแสดงตลอดเวลาในการแสดง
“เวลาคนมาดูการแสดงคนจะคาดหวังว่า เราเข้าไปอยู่ในบทบาทหรือโลกของการแสดง แต่มันจะมีอีกโลกคือ นักแสดงก็เป็นคนเหมือนคนที่นั่งดูนั่นแหละ หลังๆ เราจะเริ่มเกลียดโลกสุนทรียศาสตร์ของการแสดงที่สมบูรณ์แบบ ฉันควบคุมสถานการณ์การได้ กูตื่นเต้นกูก็ไม่ให้ใครรู้ ทำทุกอย่างเพอร์เฟ็ค แล้วจริงๆ เราอยู่โลกไหน คนดูที่มาจากบ้านอยู่ในโลกเดียวกับคุณหรือเปล่า เราเลยอยากให้นักแสดงวิ่งสองขั้วระหว่างโลกการแสดงกับโลกจริง และเพื่อจะให้เห็นสภาวะเช่นนี้ได้ ต้องเป็นนักแสดงที่เก่งมาก คนจะไม่ตั้งคำถามว่า เอ๊ะ สกิลมึงไม่ถึงหรือเปล่า”
“ปกติเราทำงานแน่นแบบเหมือนถุงเนื้อที่ถูกซีลไว้ แต่นี่คือต้องปล่อยไว้ แล้วรอดูว่าจะเกิดอะไรบ้าง มันจะเป็นยังไง เห็นความทำไม่ได้ เห็นความงงของนักแสดงจริงๆ บ้าง มันสะเทือนมาก กระบวนนี้รื้อเราหมดเลย ทั้งที่เรามักวิ่งไปสู่ความเพอร์เฟ็ค และรู้ด้วยว่าจะทำยังไง แต่ต้องปล่อยแบบนี้ มันว้าวุ่นมาก”
“ดังนั้น คนแรกที่เครียดและ Paranoid - Schizoid ก็ผู้กำกับนี่แหละ เพราะเป็นมนุษย์ชอบกำทุกอย่างไว้ในมือ ชอบคอนโทรลมากๆ บางทียังคิดว่า กูไม่น่าทำงานคอนเซ็ปท์เลย แต่ว่าเลือกแล้วไง มันเลยเข้าใจเลยว่าทำไมคนมันต้อง all good, all bad เพราะมันว้าวุ่นจริงๆ”
ความโดดเด่นอีกอย่างของการแสดงคือ แป้งในบ่อแป้งขนาดใหญ่ .... ใช่ “มันคือแป้ง” !
แรงบันดาลใจของแป้งก็มาจากวลีดังนั้นเอง รวมถึงข่าวคราวการตรวจโกดังยาเสพติดครั้งหนึ่งที่ตำรวจแถลงข่าวว่า สิ่งที่อยู่ในโกดังนั้นคือแป้ง นั่นทำให้ดุจดาวรู้สึกว่าสังคมนี้ทำให้เธอเกิดภาวะ Paranoid - Schizoid
แป้งยังเป็นวัตถุที่เหมาะกับเรื่องนี้ เธอบอกว่ามันทำให้ช่วยเรื่องภาพมอง จากที่ทุกสิ่งทุกอย่างมองเห็นได้ชัดเจนมาก เหมือนแบ่งขาวแบ่งดำได้ชัด แต่ไปๆ มาๆ เมื่อแสดงๆ ไปแป้งที่ฟุ้งขึ้นมาก็ลดความแจ่มชัด ทุกอย่างเบลอไปหมด
การแสดงนี้เปิดให้ตีความในรายละเอียดมากมาย จัดแสดงวันที่ 7-11 ธ.ค. สำหรับผู้สนใจสามารถจองบัตรที่ m.me/Bfloor.theatre.group ส่วนวันที่ 15-18 ธ.ค. จะเป็นการแสดง “IT'S JUST A FICTION [not mentioning anything]” ผลงานของนักศึกษาธรรมศาสตร์ ซึ่งดุจดาวโฆษณาไว้ว่า ได้ดูแล้วว้าวมาก ทั้งสองส่วนนี้จัดแสดงต่อเนื่องกันในธีมชื่อ Cloud State ที่หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
ภาพโดย Wichaya Artamat