ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ว่าฯชัชชาติ ชวนลดจำนวน 'ปลาหมอคางดำ' ด้วยการนำมาทำอาหาร สร้างมูลค่าเพิ่มแทนการจับไปทิ้ง เชฟชุมพลเผย 'โปรตีนสูง' ทำได้หลายเมนู

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อาทิ เขตบางขุนเทียน ทุ่งครุ และบางบอน ซึ่งมีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจำนวนมากและอาจทำให้เกิดผลกระทบเป็นห่วงโซ่ไปถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ นั้น กรุงเทพมหานครได้เร่งประสานความร่วมมือทุกหน่วยงาน อาทิ กรมประมง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จนได้ 6 มาตรการในการแก้ปัญหา คือ 

1. ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอคางดำ 

2. กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยการปล่อยปลาผู้ล่า 

3. นำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ 

4. สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำ 

5. สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันและพร้อมรับมือการแพร่ระบาด 

6. ติดตาม ประเมินผล 

17.jpg

ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตาม 6 มาตรการของกรมประมง โดยเราได้ดำเนินการใน 3 เรื่อง 

1. กำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ 

2. นำปลาหมอคางดำที่กำจัดมาสร้างมูลค่าเพิ่ม 

3. หาแนวร่วมโดยประสานกับภาคส่วนต่าง ๆ 

22.jpg

สำหรับสำนักงานเขตบางขุนเทียนได้ร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ ซึ่งในวันนี้ คณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตบางขุนเทียนได้ช่วยซื้อปลาหมอคางดำจำนวน 1 ตัน (1,000 กิโลกรัม) โดยให้ราคากิโลกรัมละ 20 บาท และยังมีเชฟชีส จากสหสเตนเลสสตีล กับเชฟชุมพล ประธานอนุกรรมการฯ Soft Power มาร่วมสร้างสรรค์เมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ ซึ่งจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการลดจำนวนปลาหมอคางดำโดยการจับมาสร้างมูลค่าเพิ่มแทนการจับไปทิ้ง 

13.jpg

โดยวันนี้ได้มีการแจกปลา 1 ตัน ทั้งในรูปแบบปลาสด และแบบนำมาทำอาหารแล้ว ให้แก่กลุ่มเปราะบาง ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนสื่อมวลชนที่มาร่วมกิจกรรม ซึ่งในส่วนของรสชาตินั้น เมื่อนำมาทำอาหารแล้วพบว่ามีความอร่อยไม่แพ้เนื้อปลาอื่น ทั้งนี้ การกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศและนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการนำมาทำอาหารเพื่อส่งต่อไปยังกลุ่มเปราะบาง จะขยายผลไปยัง BKK Food Bank สำนักงานเขตอื่น ๆ ด้วย

4.jpg

ด้านเชฟชุมพล กล่าวว่า สำหรับท่านที่ยังไม่เคยลองทาน รสชาติปลาหมอคางดำจะคล้ายกับปลานิล แต่อาจจะมีความกระด้างกว่าเล็กน้อย เพราะเขาเป็นปลาสายพันธุ์ปลานักสู้/ปลานักล่าเช่นเดียวกับปลาช่อนหรือปลากะพง ข้อดีคือเป็นปลาที่มีโปรตีนสูง เชื่อว่าด้วยภูมิปัญญาในการทำอาหารหลากหลายชนิดของคนไทย ทั้งนำปลาตัวใหญ่ไปทำอาหาร และนำปลาตัวเล็กไปทำปลาร้า ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มาก และจะลดจำนวนได้อย่างรวดเร็ว เชื่อว่าประมาณ 3 เดือน อาจจะหาจับได้ยากและราคาสูงขึ้น

23.jpg

เชฟชีส กล่าวว่า ปลาหมอคางดำทานได้ แม้รสชาติของเนื้อปลาจะน้อยกว่าปลาที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่เมื่อนำมาทำอาหารไทยซึ่งมีรสชาติเข้มข้น จะทำให้สามารถทานได้เหมือนปลากะพงหรือปลานิลทั่วไป โดยมีข้อสังเกตระหว่างปลาตัวผู้กับปลาตัวเมียที่ขนาดตัว คือ ปลาตัวผู้จะตัวเล็กกว่า เนื้อกระด้างกว่าเล็กน้อย เพราะมีหน้าที่รับฝากไข่ ส่วนปลาตัวเมียจะตัวใหญ่

18.jpg

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวสรุปด้วยว่า กรุงเทพมหานครทำเต็มที่ในส่วนที่สามารถทำได้ ส่วนเรื่องการจำกัดโซน การปล่อยปลาผู้ล่า จะต้องฝากทางกรมประมง ทางรัฐบาล มาร่วมกัน ซึ่งเราพร้อมที่จะเดินตามนโยบายอย่างเต็มที่