ไม่พบผลการค้นหา
สถานการณ์สิทธิมนุษยชนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการคอร์รัปชัน

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ออกรายงานดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index - CPI) ประจำปี 2564 จัดอันดับ 180 ประเทศและดินแดนทั่วโลกตามระดับการรับรู้เรื่องการทุจริตของภาครัฐ โดยให้คะแนนจาก 0 (ทุจริตมาก) ถึง 100 (โปร่งใสมาก) โดยประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ ได้อันดับที่ 1 ของโลก ด้วยคะแนนสูงสุด 88 คะแนน

แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการรวบรวมมาคำนวณคะแนน CPI มาจากวิธีการทุจริตของภาครัฐ เช่น การติดสินบนในภาครัฐ การแปลงงบประมาณสาธารณะเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง การมีข้าราชการใช้สถานที่ราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยไม่ต้องรับผิด ความสามารถของรัฐบาลในการปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ การแต่งตั้งข้าราชการแบบเลือกที่รักมักที่ชัง การมีกฎหมายที่รับรองว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเปิดเผยการเงินและผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้น การคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับผู้ที่แจ้งความคดีทุจริต และการเข้าถึงข้อมูลด้านกิจการสาธารณะและกิจกรรมของภาครัฐ เป็นต้น


ไทยคะแนนตก ตกมาตลอด

ครั้งนี้ประเทศไทยได้ 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 110 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 6 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งประเทศสิงคโปร์ได้คะแนนสูงสุด คือ 85 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก คะแนนของประเทศไทยตกลงมาหนึ่งคะแนนจากปีก่อนหน้า ในขณะที่อันดับร่วงลงมาจากเดิมเคยอยู่ที่อันดับ 104

ภาพรวมตั้งแต่ปี 2558 คะแนน CPI ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แม้จะไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่การที่คะแนนและอันดับไม่ดีขึ้นก็สะท้อนว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยยังไม่ได้ดำเนินการปราบปัญหาคอร์รัปชันได้ดีเท่าที่ควร ด้านสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แนะรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาการทุจริตและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะปัญหาการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ


ภาพรวมการทุจริตทั่วโลก: ชะงักงัน ไม่ดีขึ้น

สองปีหลังจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 รวมทั้งสถานการณ์ที่สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังถูกโจมตี รายงานดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2564 เปิดเผยว่า ระดับการทุจริตทั่วโลกไม่ดีขึ้น โดย 131 ประเทศไม่มีความคืบหน้าเรื่องการต่อต้านการทุจริตในช่วงสิบที่ผ่านมาเลย และในปีนี้ มี 27 ประเทศที่คะแนนอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

จาก 180 ประเทศที่ถูกสำรวจ มากกว่าสองในสาม หรือเกือบ 70% มีคะแนน CPI ต่ำกว่า 50 คะแนน โดยคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 43 คะแนน ในขณะเดียวกัน คะแนนของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหลายแห่งที่เคยอยู่ในอันดับต้นๆ ของดัชนี และสนับสนุนความพยายามในการต่อต้านการทุจริตก็กำลังถดถอย ประเทศที่มีคะแนนสูงเหล่านี้ หลายแห่งยังคงเป็นที่หลบภัยของผู้ทุจริตจากต่างประเทศ

ในรายงานระบุว่า การทุจริตในภาครัฐทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น การตรวจสอบและถ่วงดุลกำลังถูกทำลายไม่เพียงแค่ในประเทศที่มีการทุจริตอย่างเป็นระบบและมีสถาบันตรวจสอบที่อ่อนแอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศที่มีประชาธิปไตยตั้งมั่นด้วย

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติระบุว่า การทุจริตอาจเป็นปัญหาที่ซับซ้อน แต่ก็เป็นปัญหาที่มีวิธีแก้ไข เพื่อยุติวงจรอุบาทว์ของการทุจริต การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความเสื่อมในระบอบประชาธิปไตย แต่ละประเทศควรปฏิบัติดังนี้

  • รัฐบาลควรยกเลิกข้อจำกัดที่ไม่ได้สัดส่วนเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก การรวมตัว และการชุมนุม ที่นำมาใช้ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 การรับรองความยุติธรรมแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกละเมิด จะต้องเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วนเช่นกัน
  • หน่วยงานกำกับดูแลสาธารณะ เช่น หน่วยงานต่อต้านการทุจริต และสถาบันตรวจสอบระดับสูง จำเป็นต้องเป็นอิสระ มีทรัพยากรที่ดี และมีอำนาจในการตรวจจับและลงโทษการกระทำผิด รัฐสภาและศาลควรระมัดระวังการใช้อำนาจมากจนเกินเลย
  • รัฐบาลในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าจำเป็นต้องแก้ไขจุดอ่อนของระบบที่ทำให้เกิดการทุจริตข้ามพรมแดน จะต้องปิดช่องโหว่ทางกฎหมาย ควบคุมผู้ก่ออาชญากรรมทางการเงินอย่างมืออาชีพ และดูแลให้ผู้ทุจริตและผู้สมรู้ร่วมคิดไม่สามารถหลบหนีความยุติธรรมได้
  • ในส่วนหนึ่งของความพยายามในการฟื้นฟูประเทศจากโควิด-19  รัฐบาลต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่มีอยู่ในประกาศทางการเมือง UNGASS ในเดือนมิถุนายน 2564 ที่ระบุว่ารัฐบาลจะต้องคำนึงถึงการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะด้วย เพราะความโปร่งใสในการใช้จ่ายภาครัฐจะช่วยปกป้องชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนได้


สิทธิมนุษยชนกับการยุติคอร์รัปชัน

ในปีนี้ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ มีคะแนนนำเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย สิงคโปร์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และเยอรมนี ที่เข้ารอบ 10 อันดับแรก ด้านซูดานใต้ ซีเรีย และโซมาเลีย ยังคงอยู่ระดับล่างของดัชนี รายงานระบุว่า ประเทศที่ประสบปัญหาความขัดแย้งทางอาวุธหรือปกครองโดยเผด็จการมักจะมีคะแนนต่ำสุด

การวิเคราะห์ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ พบว่า การทุจริตมีความเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการละเมิดเสรีภาพพลเมือง ในกรณีส่วนใหญ่ ความสัมพันธ์นี้มีสาเหตุมาจากทั้งสองทิศทาง คือการทุจริตมากขึ้นอาจนำไปสู่การจำกัดเสรีภาพของพลเมือง ในขณะที่การมีเสรีภาพพลเมืองน้อยลง ทำให้การต่อสู้กับการทุจริตยากลำบากยิ่งขึ้น โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่ละเมิดเสรีภาพพลเมืองได้คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI ต่ำ นอกจากนี้ยังพบว่า การทุจริตครั้งใหญ่ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง มักจะมีการขโมยกองทุนสาธารณะขนาดใหญ่ข้ามชาติ และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ในรายงานพูดถึงประเทศสิงคโปร์ที่มีคะแนน CPI อยู่ในอันดับ 4 ของโลก ว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ทันสมัย มีระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ และมีหลักนิติธรรมที่เข้มงวด ซึ่งล้วนมีส่วนสนับสนุนความสำเร็จของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม เรื่องสิทธิมนุษยชนของสิงคโปร์ยังคงล้าหลังอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้อจำกัดด้านเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมตัว นั่นหมายความว่า ความสำเร็จในการต่อต้านการทุจริตใดๆ ก็ตาม เชื่อมโยงกับเจตจำนงทางการเมืองของชนชั้นปกครอง ซึ่งอาจส่งผลให้ความสามารถในการป้องกันการทุจริตไม่ยั่งยืน

ด้านอุซเบกิสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาเรื่องการต่อต้านการทุตจริตมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยสาเหตุสำคัญมากจากการปฏิรูปตั้งแต่ปี 2559 ที่มีส่วนทำให้เสรีภาพพลเมืองเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงออก อย่างไรก็ตาม อุซเบกิสถานยังคงเป็นระบอบเผด็จการและจำเป็นต้องแก้ปัญหาอีกมากเพื่อที่จะป้องกันการคอร์รัปชันได้ดีขึ้น

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ระบุว่า การทุจริตและการได้รับการยกเว้นโทษ ทำให้คนที่จะพูดและเรียกร้องความยุติธรรมต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 98 ของคดีฆาตกรรมนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จาก 331 ครั้งในปี 2563 เกิดขึ้นในประเทศที่มีการทุจริตในภาครัฐในระดับสูง ซึ่งเป็นประเทศที่มีคะแนน CPI ต่ำกว่า 45 คะแนน โดยอย่างน้อย 20 คดี ผู้ถูกฆาตกรรมเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต่อต้านการคอร์รัปชัน

 


ที่มาภาพปก: Amy Chiniara © Transparency International

อ่านรายงานเพิ่มเติม: