ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรสื่อแฉ บริษัทอิสราเอลขายสปายแวร์ "เพกาซัส" ให้รัฐบาลหลายชาติ ใช้สอดส่องประชาชน พบนักกิจกรรม นักการเมือง ผู้สื่อข่าว นักกฎหมายฝ่ายตรงข้ามตกเป็นเป้าเพียบ

องค์กรพันธมิตรสื่อยักษ์ใหญ่กว่า 17 สำนัก ได้ผนึกกำลังเปิดเผยกรณีการพบข้อมูลรั่วไหวครั้งใหญ่ โดยพบว่า บริษัทด้านเทคโนโลยีของอิสราเอล (NSO Group) ได้ลักลอบขายสปายแวร์ "เพกาซัส" (Pegasus) ให้กับรัฐบาลหลายประเทศ เพื่อเป็นเครื่องในการแอบสอดส่องและการขโมยข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ ของบรรดากลุ่มผู้ที่ถูกรัฐเพ่งเล็ง ซึ่งข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยระบุว่ามีเบอร์โทรศัพท์กว่า 50,000 หมายเลขที่เชื่อว่าเป็นเป้าหมายของการสอดแนมผ่าน “เพกาซัส” อย่างไรก็ตามยังไม่มีการยืนยันความปลอดภัยของข้อมูลว่าได้ถูกขโมยไปจริงหรือไม่ และแหล่งที่มาของเบอร์โทรเหล่านี้เป็นมาอย่างไร

ข้อมูลนี้ถูกสืบค้นครั้งแรกโดย "ฟอร์บิดเดน สตอรีส์" (Forbidden Stories) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เผยแพร่ข่าวของสื่อมวลชนที่ถูกคุกคาม หลังจากนั้นหนังสือพิมพ์ชื่อดัง อย่างวอชิงตันโพสต์ ของสหรัฐฯ, เดอะการ์เดียน ของอังกฤษ, เลอมงด์ ของฝรั่งเศส และสำนักข่าวอีก 14 แห่งทั่วโลกได้นำไปตีแผ่เมื่อ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีข้อมูลว่า มีรายชื่อของผู้สื่อข่าวราว 180 คนอยู่ในรายชื่อที่ตกเป็นเป้าหมายของเพกาซัส อาทิ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอเอฟพี, ซีเอ็นเอ็น, นิวยอร์กไทมส์, อัลจาซีรา,เดอะ อีโคโนมิสต์ และสื่ออื่นอีกหลายสำนัก

สำหรับการทำงานของระบบจารกรรมทางไซเบอร์อย่าง “เพกาซัส” นั้น รายงานระบุว่าซอฟต์แวร์สายลับตัวนี้ จะเจาะเข้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์มือถือ (ทั้งระบบ IOS และ Android ) เพื่อดักจับทุกความเคลื่อไหวและทุกกิจกรรมที่ทำผ่านอุปกรณ์นั้น ๆ เช่น ข้อความสนทนา รูปภาพ และอีเมล ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ รวมถึงการดักฟังการสนธนาต่างๆ นอกจากนี้ เพกาซัสยังสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้แอพลิเคชั่นต่าง ๆ เช่น เฟสบุค,วอทแอพ,อินสตราแกรม,สไกป์รวมถึงโมบายล์แบงค์กิงด้วยเช่นกัน หรือแม้กระทั่งแอพลิเคชั่นการสนธนาลับที่เป็นความลับอย่างเทเลแกรมก็สามารถถูกสอดแนมได้

ด้านบริษัทเทคโนโลยีสอดแนมของอิสราเอล ( NSO Group ) ซึ่งตกเป็นที่ถูกกล่าวหาได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่า สปายแวร์หรือซอฟต์แวร์สายลับนั้นถูกพัฒนามาเพื่อใช้ในการสอดส่องอาชญากรและผู้ก่อการร้ายโดยเฉพาะถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้งานในกองทัพหรือ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยข่าวกรองของประเทศที่มีประวัติด้านสิทธิมนุษยชนที่ดีเท่านั้น  ในแถลงการณ์ยังระบุอีกว่า การสืบสวนของฟอร์บิดเดน สตอรีส์ และองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่สื่อหลายสำนักนำมารายงานนั้น "เต็มไปด้วยสมมติฐานผิดๆ และทฤษฎีที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน" โดยข้อมูลจาก NSO Group เผยว่าบริษัทได้ขายระบบซอฟต์แวร์นี้ให้กับหน่วยงานภาครัฐของบางประเทศเท่านั้น โดย 51% เป็นหน่วยข่าวกรอง 38% เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และอีก 11% เป็นหน่วยงานทางทหาร

อิสราเอล ไซเบอร์ ารกรรมทางไซเบอร์ เพกาซัส
  • NSO Group

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2562 แอปพลิเคชันวอตส์แอปป์ (WhatsApp) เคยยื่นฟ้องร้อง NSO Group โดยกล่าวหาว่าบริษัทอยู่เบื้องหลังการโจมตีทางไซเบอร์ โดยใช้เพกาซัสฝังตัวในโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้งานราว 1,400 ราย ในตอนนั้น NSO ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ทว่าขณะนี้สื่อต่างๆ ได้ข้อมูลที่รั่วไหลออกมาเปิดเผย เพื่อยืนยันว่ามีเหยื่อที่ตกเป็นเป้าหมายของเพกาซัสจริง ๆ

จากการวิเคราะห์ของ Amnesty's Security Lab พบว่าบรรดาผู้สื่อข่าวที่มีรายชื่อปรากฏอยู่ในข้อมูลที่รั่วไหลนั้น แสดงให้เห็นว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งมีร่องรอยของสปายแวร์เพกาซัส โดยจากทั้งหมด 67 หมายเลขมีอย่างน้อย 37 หมายเลขที่ถูกเพกาซัสโจมตีสำเร็จมาแล้ว เดอะการ์เดียนรายงานเพิ่มเติมว่านอกจากนักข่าวแล้ว ในรายชื่อนั้นยังมีหมายเลขของ สมาชิกราชวงศ์ในแถบอาหรับ นักธุรกิจหลายร้อยคน บุคคลสำคัญทางศาสนา นักวิชาการ พนักงาน นักกิจกรรมเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงรัฐมนตรี ประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีของหลายประเทศ

ในรายงานของสำนักข่าวบีบีซี ยังพบร่องรอยหลักฐานบรรดาประเทศที่นำเพกาซัสไปใช้อีก 10 ประเทศ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน ฮังการี อินเดีย คาซัคสถาน เม็กซิโก โมร็อกโก รวันดา ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งหลายชาติล้วนมีประวัติไม่ดีในด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างที่ 'อาเซอร์ไบจาน' ซึ่งอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการมายาวนาน มีรายงานว่าพบนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในอาเซอร์ไบจานจำนวนมากปรากฏในข้อมูลเป้าหมายของเพกาซัส และมีบางคนที่ข้อมูลส่วนตัวหรือรูปถ่ายส่วนตัวถูกนำมาเผยแพร่ทางออนไลน์หรือโทรทัศน์  

ส่วนที่ซาอุดิอาระเบียผู้หญิง 2 คนที่ใกล้ชิดกับนายจามาล คาช็อกกี นักข่าวที่ถูกสังหารในขณะไปเยี่ยมสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในอิสตันบูล ประเทศตุรกีเมื่อปี 2561 ก็ตกเป็นเป้าหมายของเพกาซัสเช่นกัน การสืบสวนยังพบอีกว่านักข่าวชาวเม็กซิกันเซซิลิโอ ปิเนดา เบอร์โต ตกเป็นเป้าหมายถึง 2 ครั้งรวมถึงช่วงเวลาก่อนถึงเดือนที่เขาถูกสังหาร ส่วน

ในอินเดียนั้นมีนักข่าวมากกว่า 40 คน ผู้นำฝ่ายค้าน 3 คน และรัฐมนตรี 2 คนในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีอยู่ในรายชื่อ และประเทศอื่นๆที่มีร่องรอยของเพกาซัสต่างก็มีนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม นักกฎหมาย จำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าเป็นเป้าหมายและถูกเพกาซัสจับตามองอยู่ และในรายงานยังคาดการณ์ว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดว่าใครตกเป็นเป้าหมายการสอดแนมนี้ในอีกในเร็วๆนี้

อย่างไรก็ตามทางว่าบริษัทเทคโนโลยีสอดแนมของอิสราเอล (NSO Group) ยังคงยืนกรานปฏิเสธ “การกล่าวหาที่เป็นเท็จ” เกี่ยวกับกิจกรรมของลูกค้า ซึ่งได้ระบุเพิ่มว่า ทั้ง 50,000 หมายเลขนั้น “เป็นเรื่องที่เกินจริง” โดยเมื่อไม่กี่สปดาห์ที่ผ่านมา ทางบริษัทได้จัดทำ รายงานความโปร่งใส เพื่อตอกย้ำถึงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและคำมั่นสัญญาต่าง ๆ ตามแนวทางของบริษัท และออกมาประกาศว่า จะตัดความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ใช้เพกาซัสในทางที่ผิด เพราะจากจำนวนของเป้าหมายในขณะนี้ดูเหมือนจะมีลูกค้าบางรายกำลังละเมิดสัญญาที่จัดทำไว้กับบริษัทว่าจะใช้เพื่อสอดแนมอาชญากรรมและการก่อการร้ายเท่านั้น แต่กลับใช้ระบบสอดแนมนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยแทน ตลอดจนนักข่าว นักการเมืองหรือนักธุรกิจต่างๆ ซึ่งทางบริษัท “จะดำเนินการตรวจสอบทั้งหมดเกี่ยวกับการใช้เพกาซัสในทางที่ผิด และจะดำเนินการตามความเหมาะสม”  

ที่มา: TheGuardian , BBC , Aljazeera1 , Aljazeera2 , AFP