พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมและปฐมนิเทศ หลักสูตร การบริหารเชิงนิติศาสตร์ ระดับสูง (วทน.) รุ่นที่ 4 โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ และคณะผู้บริหาร สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้การต้อนรับ
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวปาฐกถา ในพิธีเปิดการอบรมและปฐมนิเทศ ตอนหนึ่งว่า “การจัดการอบรมหลักสูตรการบริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง ของสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยวิทยาลัยทนายความถือเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของสภาทนายความฯ คือการส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย
ในเรื่องการบริหาร นั้น ในฐานะรัฐบาลจะเรียกว่า การบริหารราชการแผ่นดินที่รัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ให้ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ การยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมื่องที่ดี
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวให้โอวาทว่า สำหรับ กรอบแนวคิดในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี
1) เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน
2) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
3) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
4) ไม่มีขั้นตอนในการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น
5) มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์
6) ประชาชนได้รับความอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองต่อความต้องการ
7) มีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หลักสูตร การบริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง ถือว่าเป็นทั้งโอกาสและสิ่งท้าทายมาก คำว่า “นักนิติศาสตร์” ภาษาอังกฤษว่า “Jurist” (จูริสต์) คือ นักนิติศาสตร์” ไม่ได้หมายถึง นักเรียนกฎหมายที่ “อ่านกฎหมายรู้ ดูกฎหมายเป็น” หากแต่หมายถึงเป็นผู้รู้กฎหมายอย่างลึกซึ้ง เข้าใจถึง “หลักกฎหมาย” หรือ (Legal principle) ที่คอยกำกับการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความยุติธรรมในสังคมได้อย่างแท้จริง หลักกฎหมายพื้นฐานที่ต้องเข้าใจ คือ หลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่ถือเป็น “มงกุฎของระบบกฎหมาย” ที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หลักนิติธรรมเป็นหลักกฎหมายพื้นฐานที่สำคัญที่การตีความหรือการบังคับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน ไม่สามารถเข้าไปล่วงละเมิดได้ หรือในกรณีสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไป หลักนิติธรรมก็กำหนดให้การบังคับใช้กฎหมายต้องไม่เข้าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือสร้างภาระให้กับประชาชนมากจนเกินสมควรถ้าการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ได้เป็นไปตามหลัก “Rule of Law” หรือ “หลักนิติธรรม” แต่เป็นการบังคับใช้แบบ “Rule by Law” หรือ การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครองที่ไม่ได้คำนึงถึงความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันเป็นอันตรายต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบกฎหมายในองค์รวม ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและสังคมอย่างมากอีกด้วย
”ได้ทราบว่า หลักสูตรการบริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูงได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากสังคม ผมเห็นว่าเป็นนิมิตหมายที่สำคัญอย่างยิ่งที่หลักสูตรนี้เกิดความเชื่อมั่นกับสังคม และแสดงถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของผู้จัดการฝึกอบรมและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ในการเตรียมความพร้อมและการปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทและสภาพแวดล้อมทางกฎหมายที่มีพลวัตรในโลกปัจจุบัน การอบรมในหลักสูตรนี้ ไม่เพียงแต่จะเสริมสร้างศักยภาพที่จำเป็นให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมเท่านั้น หากแต่ยังให้ความสำคัญของกฎหมายและการดำรงความยุติธรรมในชาติบ้านเมืองของเราอีกด้วยครับ“ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
ในฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผมยินดีที่จะสนับสนุนและยกระดับมาตรฐานการศึกษาอบรมทางด้านนิติศาสตร์และบังคับใช้กฎหมายอย่างมีคุณภาพ และประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ทุกท่าน ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเสาหลักแห่งการสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรม และเป็นพลังสำคัญที่ทำให้นโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่12-13 กันยายน 2567 ที่รัฐบาลนี้ มีนโยบาย ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลจะยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) และความโปร่งใส (Transparency) สร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุดแต่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการสร้างรายได้และสร้างโอกาสแก่ประเทศและประชาชน โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ให้เป็นทุนทางสังคมและทางความคิดที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ”