นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยได้เริ่มคลี่คลาย โดยเหลือพื้นที่น้ำท่วม 16 จังหวัด ได้แก่ แพร่ พิจิตร น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร สกลนคร ส่วนพื้นที่ที่เข้าสู่ภาวะปกติแล้วมี 5 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน สระแก้ว ชุมพร และระนอง
ทั้งนี้ได้กำชับนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานให้เร่งสูบน้ำจากทั้งพื้นที่เกษตรเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรเนื่องจากหลายพื้นที่ใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ส่วนพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนที่เหลือให้เร่งระบายน้ำออกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้วยและจากการที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนว่า พายุดีเปรสชันที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่เกาะไหหลำในวันนี้ (2 ก.ย.) จะส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง โดยอาจน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลากได้ จึงให้กรมชลประทานเตรียมรับสถานการณ์เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้มีน้อยที่สุด
สำหรับพื้นที่ที่น้ำลดแล้วได้สั่งการนายสำราญ สารบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรให้มอบหมายเกษตรอำเภอและเกษตรจังหวัดเข้าสำรวจโดยด่วน รวบรวมข้อมูลความเสียหายมายังกระทรวงเกษตรฯ เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือต่อไป
ทั้งยังได้รับรายงานจากนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ถึงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำปศุสัตว์แล้วประสบภัยน้ำท่วม โดยสนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์เป็นหญ้าแห้งแก่เกษตรกรที่เลี้ยงโค-กระบือในอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ส่วนที่จังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดได้ช่วยอพยพสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรได้แก่ สุกร 12 ตัวและโค 3 ตัว พร้อมมอบเวชภัณฑ์ เสบียงอาหารสัตว์ และแนะนำการดูแลสุขภาพเลี้ยงสัตว์ ส่วนที่จังหวัดร้อยเอ็ดนั้นได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมพื้นที่บ้านโนนเชียงหวาง หมู่ที่ 7และ 10 ตำบลโคกกกม่วง อำเภอโพนทอง จากนั้นได้แจกหญ้าแห้งอัดฟ่อน 200 ฟ่อนแก่เกษตรกรที่ขาดแคลนอาหารสัตว์
และที่จังหวัดยโสธร เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอป่าติ้วมอบหญ้าแห้งอัดฟ่อน 5,000 กิโลกรัมแก่เกษตรกร 24 รายเพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นโค 126 ตัวที่จุดอพยพสัตว์โรงเรียนชุมชนบ้านเชียงเพ็ง ตำบลเชียงเพ็ง นอกจากนี้ปศุสัตว์จังหวัดยโสธรยังเข้าช่วยเหลือสุนัขที่ศูนย์พักพิงสุนัขบ้านเมตตาซึ่งประสบภัยน้ำท่วม โดยศูนย์พักพิงนี้อยู่ที่ตำบลน้ำคำใหญ่ อำเภอเมืองยโสธรซึ่งเลี้ยงสุนัขไว้ 90 ตัว โดยมอบเตียงไม้ไผ่ (ตะแคร่) สำหรับให้สุนัขหนีน้ำขึ้นมาพัก 3 เตียงและยาฆ่าเชื้อ 3 ขวด พร้อมให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพสัตว์ในช่วงฝนตกและมีน้ำท่วมขัง อีกทั้งจัดชุดเฉพาะกิจเคลื่อนที่เร็วสำหรับการให้การดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ หรือ Farmer Center ซึ่งเข้าถึงทุกพื้นที่ได้ทันที
“ขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ บูรณาการดูแลติดตาม ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติในทุกพื้นที่ แล้วรายงานมายังศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติกระทรวงเกษตรฯ ทุกวัน กรณีที่ต้องการได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลางให้เสนอเข้ามาโดยด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ” นายเฉลิมชัยกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: