ไม่พบผลการค้นหา
ชาวบ้านแม่เมาะ ลำปาง ยื่นศูนย์ดำรงธรรมขอพิสูจน์สิทธิ์-ผ่อนผันให้ทำกิน เหตุถูกทหารยึดที่ 62 แปลง อ้างรุกป่าสงวน-ที่ทหาร ข่มขู่ให้เซ็นเอกสารดำเนินคดี สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือเชื่อ เป็นขบวนการหาแพะโยงตัดไม้เถื่อน

วานนี้ (10 เม.ย. 2566) ชาวบ้านชุมชนบ้านห้วยตาด หมู่ 4 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ยื่นหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรม อ.แม่เมาะ และศูนย์ดำรงธรรม จ.ลำปาง ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการยึดคืนพื้นที่ทำกินของชุมชนบ้านห้วยตาด หลังเจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจยึดที่ดินทำกินที่ชาวบ้านยืนยันว่าใช้ประโยชน์มาดั้งเดิม โดยขอให้เร่งรัดตรวจพิสูจน์พื้นที่ที่ได้มีการกันแนวเขตโดยใช้แผนที่ปี 2557 ที่ให้ชาวบ้านห้วยตาดได้ใช้ประโยชน์ในการทำกินโดยเร่งด่วน รวมถึงในระหว่างการตรวจสอบพื้นที่ ขอผ่อนผันให้ชาวบ้านได้ทำกิน เพาะปลูกในพื้นที่ที่ได้รับการกันแนวเขตไว้ก่อนแล้ว

หนังสือระบุว่า ด้วยชุมชนบ้านห้วยตาด ที่ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยการขอใช้ประโยชน์ของกองทัพบก ซึ่งมีค่ายฝึกรบพิเศษประตูผา เป็นผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่และอยู่ร่วมกับชุมชนมาด้วยดีโดยมีการกันพื้นที่ทำกินให้กับชาวบ้านชุมชนห้วยตาด ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมาโดยตลอด แต่เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้แม่เมาะ และทหารค่ายประตูผา ได้เข้ามาในหมู่บ้านและแจ้งในที่ประชุม ชี้แจงเกี่ยวกับพื้นที่ของทหารและพื้นที่ทำกินที่ได้มีการรุกล้ำขอบเขต โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการข่มขู่ชาวบ้านในการตรวจสอบในครั้งนั้น

“เจ้าหน้าที่อ้างขอบเขตตามแผนที่ปี 2545 ซึ่งไม่ครอบคลุมที่ทำกินที่ได้มีการกันแนวเขตให้กับชาวบ้านไว้ก่อนแล้ว จึงทำให้พื้นที่ทำกินของชาวบ้านถูกยึดและห้ามชาวบ้านเข้าไปเพาะปลูกหรือทำประโยชน์ใด ชาวบ้านห้วยตาดจึงได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากเพราะได้มีการจัดเตรียมพื้นที่เพาะปลูกไว้แล้ว ชาวบ้านผู้ได้รับผลกรับทั้งหมดจึงขอให้ท่านได้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในครั้งนี้โดยเร่งด่วน” หนังสือระบุ

สมนึก ณ คำมูล ตัวแทนชาวบ้านห้วยตาด กล่าวในที่ประชุม ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง ซึ่งมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดงเป็นประธาน ร่วมกับปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ใหญ่บ้าน ทหาร และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ชี้ว่าชาวบ้านถูกข่มขู่อย่างหนัก หลายคนต้องกลายเป็นเกษตรกรไร้ที่ทำกิน ได้รับความเดือดร้อน

“มีแต่ข่มขู่ชาวบ้าน บอกว่าจะจับอย่างเดียว ชาวบ้านขอ บางคนแก่เฒ่า บางคนมีที่ดินแค่แปลงเดียวเขาก็ขอ ถามเจ้าหน้าที่ว่า เรามีแปลงเดียว แล้วจะให้เราไปทำกินที่ไหน เจ้าหน้าที่บอกว่าน้องหน้าตาดี ไปบิ๊กซี ไปโลตัสเถอะ อันนี้มันไม่ใช่ความเป็นมนุษย์ ไม่ได้มีจิตใจที่เห็นถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน วันนี้ถ้าชาวบ้านไม่เดือดร้อนเราก็ไม่ออกมานั่งอยู่ที่ อบต. ในห้องแอร์เย็นๆ แต่ข้างนอกมันร้อนนะครับ ชาวบ้านเดือดร้อนจริงๆ” สมนึกกล่าว

สมนึกยังกล่าวกับผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า มีชาวบ้านผู้เดือดร้อนประมาณ 40 ครอบครัว 70 คน ที่ดินถูกตรวจยึด 62 แปลง โดยเล่าว่าเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและป่าไม้เข้ามาในชุมชน 3 ครั้ง ครั้งแรกในระหว่างการประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 เจ้าหน้าที่เขาอ้างว่ามีที่ดิน 2-3 แปลงที่บุกรุกเยอะ เจ้าหน้าที่ขอมาสำรวจดู อยากจะให้เจ้าของที่ดินที่บุกรุกแสดงตัวตน แต่บอกว่าครั้งนี้จะไม่ดำเนินคดี แต่ต้องมีการลงชื่อรับทราบ ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่เข้ามาอีกครั้งในวันที่ 9 มี.ค. 2566 นัดชาวบ้านส่วนหนึ่งประมาณ 10 กว่าคน ไปดูพื้นที่ ให้ชี้ว่าที่ดินอยู่จุดไหน ให้พาไปชี้จุดที่ทำกินเรื่อยๆ จนเสร็จสิ้นในวันที่ 21 มี.ค. 2566 ที่ดินทำกินทั้ง 62 แปลงถูกตรวจยึด

“ปรากฏว่าไปดูเขาบอกว่าที่นี่ทำกินไม่ได้ ให้เซ็นรับรองว่าจะไม่มาทำกินอีก เขาบอกว่าเซ็นรับทราบ ไม่เซ็นไม่ได้นะ ต้องเซ็น หลังจากนั้นเขามาอีกครั้ง ก็เหมือนเดิม ให้ทุกแปลงไปชี้ ก็ทำกินไม่ได้อีก อีกครั้งเมื่อวันที่ 21 มี.ค. กลายเป็นว่าที่ดินทั้งหมด 62 แปลง ถูกตรวจสอบ และให้เซ็นรับทราบว่าจะไม่มาทำกิน ชาวบ้านประมาณ 41 ครอบครัวต้องถูกยึดที่ไป ผมก็ทำหนังสือถึงนายก อบต. ขอประสานงานให้เกิดเวทีพูดคุยกับหน่วยงานในการแก้ไขปัญหา ก็เกิดเป็นการประชุม” สมนึกกล่าว

เขายังสะท้อนว่า ชาวบ้านกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยชาวบ้านส่วนหนึ่งเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกแล้ว เป็นปัญหาด้านปากท้อง และยังได้รับผลกระทบต่อจิตใจ

“ชาวบ้านเตรียมพื้นที่เพาะปลูกแล้ว เตรียมเมล็ดพันธุ์ เตรียมค่าปุ๋ย เดือดร้อนมากเพราะถ้าไม่ให้ทำ เราก็ลงทุนไปแล้ว จะให้ทำอย่างไร บางคนมีที่ทำกินแค่แปลงเดียว ถูกยึดไป แล้วเขาจะเอาอะไรกิน เพราะเดือน พ.ค. นี้ก็ต้องเพาะปลูกแล้ว ตอนนี้เรากลัวเรื่องความปลอดภัยของเราด้วยในการทำกินช่วงต่อไป คุยกันเมื่อวานที่ประชุม ป่าไม้เขาบอกว่าเราขอยื่นเป็นการผ่อนผันได้ไหมว่าก่อนตรวจสอบให้ชาวบ้านทำกินไปก่อน ป่าไม้โอเค แต่ทหารบอกว่าห้ามเพาะปลูก อย่าทำอะไรทั้งสิ้น ทหารเขาเอ่ยมาแล้วว่าอย่าเข้าไป ถ้าไปเห็นจะจับ” ชาวบ้านห้วยตาดกล่าว

​ด้าน สมชาติ รักษ์สองพลู สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จ.ลำปาง ผู้ใหญ่บ้าน บ้านกลาง หมู่ 5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวว่า ชุมชนบ้านห้วยตาดได้อยู่อาศัยและทำกินมาแต่ดั้งเดิม เป็นพื้นที่ทำกินแบบไร่หมุนเวียนและไร่ข้าวโพด ก่อนหน้านั้นได้ยื่นขอจัดตั้งโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 รวมถึงควรได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง เนื่องจากชาวบ้านเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและขมุ

​อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าทหารไม่มีความรู้เกี่ยวกับนโยบายในการแก้ปัญหาที่ดิน มีแต่การแย่งยึดที่ดินชาวบ้าน เช่น การใช้มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย. 2541 ที่ให้พิสูจน์สิทธิ์ตามร่องรอยภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 จะทำให้ชาวบ้านบางส่วนตกสำรวจ จำเป็นต้องใช้แนวทางตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ที่ผ่อนผันให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยากไร้และไม่มีที่ดินทำกินให้ยังทำกินต่อไปได้ หรือแม้จะมีการสำรวจตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ก็เกิดการเกี่ยงกันของหน่วยงานในการแก้ปัญหาว่าเป็นพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติหรือพื้นที่ทหาร

​นอกจากนั้นสมชาติยังกล่าวว่า ชาวบ้านเสนอให้ใช้แผนที่ที่เคยสำรวจไว้ก่อนแล้วของชาวบ้านเอง ซึ่งเป็นแผนที่การจัดการทรัพยากรทั้งผืน แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ดูแผนที่ชาวบ้าน ขาดกระบวนการมีส่วนร่วม พื้นที่ของชาวบ้านบางส่วนก็ถูกเอาคืนไปแล้ว เช่น ไร่หมุนเวียน ทำให้ที่ทำกินมีน้อยลงทุกวัน ในขณะที่ทหารก็พูดจาในเชิงข่มขู่ไม่ให้ชาวบ้านออกไปเรียกร้องสิทธิ

​“ทหารได้พูดจาในเชิงข่มขู่ชาวบ้านเพื่อไม่ให้ออกไปต่อสู้เรียกร้องทหารมาพูดเลยว่า คุณมาเรียกร้องเรื่องป่า พื้นที่ของรัฐ เขาบอกชัดเลยว่าคุณไม่มีทางเรียกร้องสำเร็จ เพราะมันเป็นที่ป่าของรัฐ เราก็บอกว่าเราไม่ได้เรียกร้องป่า เราเรียกร้องที่ทำกินของเรา เขาบอกว่าเรียกร้องไปเถอะ ยังไงก็ไม่ชนะ ยังไงก็ไม่ได้” สมชาติกล่าว

​สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จ.ลำปาง ยังเพิ่มเติมว่าขณะนี้มีข่าวขบวนการตัดไม้เถื่อนในพื้นที่ทหารและป่าสงวนแห่งชาติบริเวณใกล้เคียงอยู่หลายครั้ง เป็นไปได้ว่าอาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารต้องเร่งเข้ามาดำเนินการในพื้นที่เพื่อหาแพะและปกปิดข่าว ซึ่งแม้ในความเป็นจริงอาจมีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่เคารพกติกาชุมชน แต่การเหมารวมเอาชาวบ้านทั้งหมดว่าบุกรุกและตัดไม้ทำลายป่าก็เป็นเรื่องไม่เป็นธรรม รวมถึงมีข้อสังเกตว่าช่วงนี้อยู่ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ใกล้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค. 2566 รัฐบาลจึงเกียร์ว่าง ไม่ใช้อำนาจในการแก้ปัญหาของชาวบ้าน จึงเกิดการข่มขู่คุกคามชาวบ้านในช่วงเวลานี้

“ช่วงนี้มันมีขบวนการไม้เถื่อนในพื้นที่ทหารเยอะ ไม่รู้เขารู้เห็นเป็นใจกันบ้าง จะไปจับขบวนการไม้เถื่อนก็อาจไม่ได้ เลยมาเหมารวมว่าเป็นต้นเหตุของชาวบ้าน ราชการเขาก็รู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรแล้ว ท้ายที่สุดก็บังคับให้ชาวบ้านต้องเซ็นยินยอมและจะไปฟ้องร้องชาวบ้าน เราขอให้คืนเอกสารเหล่านั้น เขาบอกเอกสารยังอยู่ที่ทหาร พื้นที่ตรงนั้นมันเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านมาแต่ไหนแต่ไร ทำแบบนี้ทำให้ชาวบ้านเกิดความกลัว เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ระหว่างทหารกับชาวบ้าน ชาวบ้านกับป่าไม้ ที่สำคัญคือหน่วยงานไม่มีใครรับผิดชอบเลย ชาวบ้านต้องเพาะปลูกในเดือน พ.ค. นี้แล้ว ทหารบอกว่าห้ามเข้าไปดำเนินการเด็ดขาด จะไปเก็บของป่าก็กลัวโดนจับ เพราะทหารเข้าไปในพื้นที่ทุกวัน แต่ไม้เถื่อนไปขนไม้กันทั้งคืน ไม่เห็นมีใครไปจับ” สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จ.ลำปาง ย้ำ