ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ แสดงความกังวลหากรัฐไม่เร่งดำเนินการจัดระบบแรงงานข้ามชาติใหม่ ต้นปี 64 จะมีแรงงานข้ามชาติผิด กม. ล้น รพ.- ตม.

จากกรณีการระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนแรงงานชาวเมียนมา จนเกิดความกังวลในประเด็นขาดแคลนแรงงานต่างชาติ

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ โพสต์ข้อความในประเด็นดังกล่าวต่อไปนี้

ถ้าเรายัง Panic กับกระแสแรงงานข้ามชาติกับโควิดกันอยู่ อยากบอกว่ายังมีระเบิดเวลาอีกสามลูกที่จะมีผลต่อเรื่องนี้พอควร

ลูกแรก แรงงานข้ามชาติกลุ่มที่กำลังดำเนินการตามมติ ครม. 4 สิงหาคม 2563 (บัตรชมพูใหม่) ตามขั้นตอนการดำเนินการ จะต้องตรวจสุขภาพและขอวีซ่าให้เสร็จภายใน 31 มกราคม 2564 นั่นหมายความว่า จะมีแรงงานข้ามชาติทั้งประมาณประมาณ 240,000 คน ทั่วประเทศ (กทม. 50,000 คน สมุทรสาคร 23,000 คน จะต้องไปรอตรวจสุขภาพที่ รพ. และไปเข้าคิวแออัดที่ ตม. เพื่อขอต่อวีซ่าให้เสร็จภายในสิ้นเดือนมกราคม และแรงงานข้ามชาติจำนวนนี้ก็จะต้องไปถ่ายบัตรชมพูที่อำเภอตั้งแต่ 1 กพ.-31 มีค. 64

ลูกที่สอง เราจะมีแรงงานข้ามชาติ ทั้งกลุ่มที่ต้องต่อวีซ่ารอบสองตามมติ ครม. 20 สิงหาคม 2562 (กลุ่มนี้ยื่นขอต่อวีซ่าได้ก่อน 90 วันก่อนหมดอายุ 31 มีค.64) และ กลุ่มมติ ครม. 4 สิงหาคม 2563 ถ้าเอาตามขั้นตอนเท่ากับว่ากลุ่มนี้ต้องทำ 2 รอบ คือ ภายใน ม.ค. และ ภายใน มี.ค. ุ64 (ใบอนุญาตทำงานได้สองปี วีซ่าได้ครั้งละ 1 ปี) ซึ่งตามขั้นตอนก็ต้องไปตั้งต้นที่ตรวจสุขภาพที่ รพ. และค่อยไปต่อวีซ่าที่ตม. จำนวนทั้งประเทศก็ราวๆ 1.5 ล้านคน (กทม.ประมาณ 300,000 คน สมุทรสาคร ประมาณ 130,000 คน)

ดังนั้นหากเอาตามขั้นตอนนี้ เราจะมีแรงงานข้ามชาติที่ต้องเทียวไปเทียวมา รพ. และ ตม. ในช่วงเดือนมกราคม- มีนาคม 2563 ราวๆ 1.5 ล้าน จนถึงวันนี้ยังไม่มีมาตรการใดจากกระทรวงแรงงาน หรือรัฐบาลออกมาว่าจะมีการผ่อนผันหรือจัดการสถานการณ์เหล่านี้ยังไง

ลูกที่สาม มีแรงงานข้ามชาติที่หนังสือเดินทางและเอกสารแทนหนังสือเดินทาง (CI) กำลังจะหมดอายุภายในช่วงเดือนธันวาคม 63 และต้นปี 64 ประมาณ 300,000 - 400,000 คน เดิมทางการพม่าได้มาเปิดศูนย์จัดทำข้อมูล และให้มารับหนังสือเดินทางที่ตลาดทะเลไทย (ใช่ครับ สมุทรสาคร) หลังล๊อคดาวน์ ศูนย์นี้ต้องปิดลง ทำให้ตอนนี้การดำเนินการเรื่องเอกสารจะยุติลงก่อน ทำให้มีแนวโน้มแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะจากพม่า ที่จะไม่สามารถต่ออายุวีซ่าและใบอนุญาตทำงานได้ราว ๆ 3 แสน-4 แสนคนโดยประมาณ

อันนี้คือสามลูกที่กำลังจะมาถึงในเวลาอันสั้น มีลูกอื่นๆ ที่รอระหว่างทางอีกพอสมควร ทั้งสามลูกนี้หากไม่มีมาตรการใดๆ จากรัฐและกระทรวงแรงงาน แรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะกลายเป็นคนผิดกฎหมายโดยการบริหารจัดการของรัฐโดยทันที ซึ่งปัญหาเรื่องแรงงานผิดกฎหมายจากนโยบายรัฐทำเป็นปัญหาที่ปรากฎชัดในการจัดการมาโดยตลอด อย่างที่เคยให้ข้อมูลว่ามีแรงงานข้ามชาติหลุดจากระบบ ในช่วงที่ผ่านมาราว 6 แสนคน และกลายเป็นแรงงานที่ไม่มีสถานะทางกฎหมาย ไม่มีหลักประกันทาสุขภาพและยังอยู่ในประเทศไทย

สถิติแรงงานข้ามชาติ.jpg

ในสถานการณ์ของโควิดแบบนี้ การปรับวิธีคิดเรื่อง การรักษาคนในระบบ ดึงคนเข้าสู่ระบบการบริหารจัดการ ควบคุมป้องกันการระบาดของโรค เป็นมาตรการที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน การป้องกันการเข้ามาแบบผิดกฎหมายเป็นมาตราที่ต้องคิดใหม่ ไม่เช่นนั้น เราคงต้องลากยาวสู่ล๊อคดาวน์ประเทศไทยอีกรอบ

หากจะถามว่าสิงคโปร์โมเดลจะใช้ในไทยได้หรือไม่ อันเดียวที่สิงคโปร์โมเดลจะเป็นบทเรียนให้ไทย คือ เราต้องคิดใหม่ในเรื่องการจัดการแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด มาตรการคุมเข้ม ขึงขัง ไล่จับมั่ว ไม่ช่วยอะไร แถมจะสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดการระบาดกระจายไปทั่ว (อันนี้หมอหลายท่านก็เตือนแล้ว) แต่ต้องเปลี่ยนวิธีมาเป็นการดูแลให้ทั่วถึง ดึงทุกคนเข้าสู่ระบบการดูแลของเรา ซึ่งเท่าที่ดูท่าทีของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาแล้ว เรายังวนลูปเดิม เพิ่มเติมด้วยความเทอะทะและการปิดหูปิดตาตัวเองของระบบราชการไทย ดุ่มๆ คิดเองทำเอง พังเองไม่เกรงใจประชาชน

สิ่งที่ต้องบอกต้องเตือนคือ เราเห็นความพังของการจัดการมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา ถ้าจะข้ามพ้นโควิดรอบนี้ ไม่ใช่อาศัยดวงหรือบุญเก่า แต่เราต้องคิดเป็นระบบแบบใหม่