นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ แม้จะมีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน เพราะสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กระบวนการรณรงค์ ในช่วงทำประชามติรัฐธรรมนูญ ซ่อนคำถามพ่วง ที่กลายเป็นปัญหา
คสช.สร้างรัฐธรรมนูญ เพื่อวันเลือกนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี และเห็นว่าสมาชิกวุฒิสภา 250 คน มาจากกลุ่มที่รับใช้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และบุคคลดังกล่าวถูกจับมาวางเพื่อให้เกิดการสืบทอดอำนาจ เปลี่ยนรูปแบบการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ มาเป็นรูปแบบ ของการใช้กฎหมายในสภาอย่างสมบูรณ์
นายนรินท์พงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้อย่างไรที่สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คน เห็นตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคุณสมบัติสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีในทิศทางเดียวกันทั้งหมด
นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นทนายความและนักกฎหมาย ออกมาเชิดชู คุณงามความดี และที่มาของพลเอกประยุทธ์ จนระบุว่า "นิยมเผด็จการประชาธิปไตย" เป็นสิ่งที่ ทำให้ตนเองเกิดความสะเทือนใจ ว่าเพราะเหตุใดนักกฎหมายจึงกล้าพูดว่านิยมเผด็จการ จึงทำให้ทราบได้ว่าบุคคลดังกล่าวต้องการเอาใจ คสช.
ในทางกลับกันเผด็จการกับประชาธิปไตยยืนคนละข้างไม่สามารถมาควบรวมกันได้เพราะ เผด็จการคือการใช้อำนาจเหนือหลักการปกครองบ้านเมืองทั้ง นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ รวมถึงไม่ฟังเสียงประชาชน ดำเนินคดีกับบุคคลที่เห็นต่างๆรวมถึงนิสิต นักศึกษา
ต่างจากประชาธิปไตยที่หัวใจสำคัญคือประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน และดำรงอยู่ภายใต้ 3 อำนาจสำคัญคือนิติบัญญัติบริหารและตุลาการ จึงไม่สามารถนำมารวมกันได้ พร้อมยืนยันว่านักกฎหมายส่วนใหญ่คิดไม่เหมือนกับนายเสรี สุวรรณภานนท์ จึงขออย่าชี้นำให้สังคมเข้าใจผิด
นายกสมาคมทนายความมั่นใจว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยากเพราะต้องอาศัยเสียงของสมาชิกวุฒิสภา และพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารไม่ได้แสดงท่าที ว่าต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงทำให้เสียงที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตามวิกฤตดังกล่าวถือเป็นโอกาสที่ทำให้ประชาชนตาสว่างโดยเฉพาะเห็นว่าเผด็จการไม่ใช่ของดี และไม่สามารถทำในสิ่งที่พูดหรือปฏิรูปได้ตามเหตุที่อ้างตอนยึดอำนาจ ขณะที่การตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นพวกพ้องตนเองก็ถูกตั้งข้อสังเกต ถึงความถูกต้องตรงไปตรงมา จึงเป็นหน้าที่ของนักการเมืองและประชาชนจะต้องต่อต้านระบบที่มีปัญหาเหล่านี้ต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :