การเดินเกมส์ของ “กลุ่มสามมิตร” ดำเนินไปยังอย่างแยบยล ตั้งแต่ในวันที่ “พรรคการเมือง” อื่นๆ เดินหาเสียง แจกแจงนโยบาย-พบปะมวลชนที่ต่างจังหวัด ยังทำไม่ได้ แต่กลุ่มสามมิตรสามารถทำได้ ท่ามกลางการถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงสถานะ “พรรคมีเส้น” ที่ดูจะได้รับความเอ็นดูเป็นพิเศษจากผู้มีอำนาจ-อำนาจรัฐ
แกนนำสามมิตรคนหนึ่งเอ่ยชัดว่า “การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มสามารถทำได้ภายใต้กรอบกฎหมาย เพราะกลุ่มสามมิตรไม่ได้มีสภาพเป็นพรรคการเมือง” เฉพาะประโยคนี้ อนุมานได้ว่า-เป็นไปได้ว่า พวกเขารู้เงื่อนกฎหมาย-เงื่อนเวลา เมื่อรู้เช่นนี้จึงออกแบบการเดินเกมส์ได้แยบยล ออกวิ่งก่อนในสนามแข่งขัน ทว่าจะถึงเส้นชัยก่อนหรือไม่ การเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จะเป็นคำตอบต่อ พลังประชารัฐ!!
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”
ในวันที่ กลุ่มสามมิตร เป็นหนึ่งเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ นายสมศักดิ์ ลั่นหนึ่งประโยคกลางเวที และรุ่งเช้า ประโยคเดียวกันพาดหัวหน้าหนึ่งในทุกสิ่งพิมพ์ นักวิชาการรัฐศาสตร์คนหนึ่ง ชี้ว่า ประโยคของสมศักดิ์เป็นประโยคคลาสสิก ที่จะเป็นตัวอย่างชั้นดี สำหรับใช้สอนในวิชาระบบการเลือกตั้งต่อไป
เพราะนัยยะที่สำคัญในประโยคของนายสมศักดิ์ คือ การย้ำถึงความพยายามในการออกแบบระบบการเลือกตั้งของไทย เพื่อลดกำลังของพรรคการเมืองแบรนด์ทักษิณทั้งหมด และเอื้อให้การสืบทอดอำนาจเผด็จการเป็นไปโดยราบรื่น ในเวลาต่อมา คลิปหลุดของทนายวันชัย เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนความย่อยยับและความน่าละอายของการออกแบบระบบการเมืองในประเทศนี้ได้ชัดเจนยิ่ง
“การเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา เราจะต้องใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆเหล่านี้ เป้าหมายทุกคะแนนมีความสำคัญ ฉะนั้นตัวบุคคลในแต่ละเขตแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนให้ได้ เพราะทุกคะแนนมีความสำคัญ”... สมศักดิ์ เทพสุทิน
อีกหนึ่งเสียงที่รับประกันถึงกติกาอันเอื้อพรรคพลังประชารัฐ คือ เสียงของ “รณฤทธิชัย คานเขต” เด็กในคาถา “สุชาติ ตันเจริญ” แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ รนฤทธิชัย บอกว่า “สาเหตุที่ไปอยู่พรรคนี้ เพราะได้เป็นรัฐบาลแน่นอน สาเหตุที่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอนเพราะมี สว. 250 คนสนับสนุน”
แม้ให้หลังเพียงหนึ่งวัน นายสมศักดิ์จะแก้ข่าวว่า “พูดจริง แต่ในความหมายนั้นได้หมายถึงพรรคการเมืองขนาดกลางและพรรคการเมืองขนาดเล็ก รวมถึงพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่ไม่มีฐานเสียงมาก่อน การพูดเป็นการปลุกใจให้บรรดาผู้สมัครหน้าใหม่ๆ ได้ลงพื้นที่ใกล้ชิดประชาชน เพราะการเลือกตั้งในครั้งนี้ รัฐธรรมนูญเขียนให้ทุกคะแนนเสียงนั้นมีค่า แม้เราจะไม่ได้ ส.ส. ในระบบเขต แต่ทุกคะแนนที่ประชาชนวางใจเมื่อสะสมในทุกจังหวัด ก็สามารถทำให้เราได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ”
ทว่าการแก้ข่าวไม่ได้ช่วยให้นัยยะของข่าวเปลี่ยนแปลงไป ประโยคของนายสมศักดิ์ เป็นภาพสะท้อนถึงปมปัญหาระหว่าง สถานะของผู้ร่างกติกา-กรรมการกลาง กับ สถานะของผู้เล่นกติกา ที่เมื่อกรรมการกลางเป็นคนเดียวกับผู้เล่น ก็ส่งผลให้กติกาถูกจดจำว่าบิดเบี้ยว และทำให้เกิดคำถาม ต่อความชอบธรรม-สง่างาม ของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์
เลือกพรรคพลังประชารัฐ = เลือกประยุทธ์
ขณะที่ในการปราศรัยเมื่อวานนี้ (22 ธันวาคม 2561) นายสมศักดิ์ ในฐานะ “ประธานคณะกรรมยุทธศาสตร์รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ” ได้ปราศรัยที่จังหวัดนครปฐม ต่อหน้าประชาชนร่วมพันคน เขายืนยันว่า การเลือกพรรคพลังประชารัฐ ก็คือการสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีก 1 สมัย
“การเลือกพรรคพลังประชารัฐ ก็คือการสนับสนุนให้ พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งสมัย แม้วันนี้พรรคพลังประชารัฐยังมีคนรักไม่มากอย่างพรรคการเมืองเก่า แต่เราขอเป็นทางเลือกที่สำคัญในการยกระดับความมั่นคง การกินดีอยู่ดีของชาวบ้าน เรายินดีที่จะทำงานหนักให้สำเร็จ เพราะพรรคพลังประชารัฐ มีบุคลากรที่มีความสามารถ รอบด้านทั้ง เศรษฐกิจ สังคม เกษตรกรรม พร้อมทำงานช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านวิกฤติ”... สมศักดิ์ เทพสุทิน
นับเป็นเวทีแรก ที่นายสมศักดิ์ ชูแคมเปญการเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐแบบเปิดหน้าตรงไปตรงมา หลังก่อนหน้านั้น นายสมศักดิ์ ขี่ม้าเลียบค่าย “นิยาม พล.อ.ประยุทธ์ ใหม่”ในหลายเวทีปราศรัย เช่น “พล.อ.ประยุทธ์ ..ผู้ที่ต้องการเข้ามาช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง”, “พล.อ.ประยุทธ์...ไม่ได้เป็นเผด็จการ แต่มาเพราะความขัดแย้งเหลืองแดง” ไปจนถึง “การเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจเผด็จการ”
“พล.อ.ประยุทธ์ ..ผู้ที่ต้องการเข้ามาช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง”
“พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เผด็จการอีกต่อไป แต่วันนี้คือลุงตู่ ผู้ที่เดินเข้าหาประชาชน ผู้ที่ต้องการเข้ามาช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง ผู้ที่ทำให้ประเทศชาติสงบปราศจากความวุ่นวายทางการเมือง
ในอดีตนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนเท่านั้นที่เรียกลุงตู่ว่า"เผด็จการ"แต่นั่นคือการ"ใส่ร้าย" เพราะอดีตลุงตู่เคยยึดอำนาจ แต่บุคคลที่เป็นเผด็จการตัวจริงคือ"นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง" โดยเฉพาะนักการเมืองในอดีตที่มีความพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายทักษิณกลับบ้าน โดยใช้เวลาออกกฎหมายเพียง 1 วันเท่านั้น ผ่านกฎหมายช่วงตีสอง ปกติการผ่านกฎหมายใหญ่ ๆแบบนี้ ต้องใช้เวลาพิจารณาถึง 3 วาระ และใช้เวลานานหลายเดือน จึงถูกเรียกว่ากฎหมาย"นิรโทษกรรมฉบับลักหลับ" สุดท้ายก็ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.)” … สมศักดิ์ เทพสุทิน,17 พฤศจิกายน 2561
“พล.อ.ประยุทธ์...ไม่ได้เป็นเผด็จการ แต่มาเพราะความขัดแย้งเหลืองแดง”
"วันนี้นายทักษิณ ไม่สามารถกลับประเทศได้ หากกลับมาคงเกิดสงครามกลางเมือง ต้องถูกจองจำ คุมขัง ยืนยัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นเผด็จการ แต่ที่ยึดอำนาจเพราะมีความขัดแย้งระหว่างเสื้อแดงและเสื้อเหลือง และเพื่อรักษากฎหมายบ้านเมือง จึงเข้ามา
เมื่อก่อนหน้านี้อาจจะแข็งกร้าวเป็นทหาร แต่วันนี้พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีคราบไคลของทหารเลย ทางพรรคพลังประชารัฐขอเดินหน้ายืมนโยบายของรัฐบาลนี้สานต่อ โดยพล.อ.ประยุทธ์ มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่าใคร
มี ส.ว.250 เสียง หาส.ส.อีก 125 เสียง ไม่ใช่เรื่องยาก ภาษาการพนันบอกว่า เปิดไฮโลแล้วแทง ถ้าผิดจากนี้ก็ไม่รู้ว่าอย่างไรแล้ว ขอพี่น้องสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ เท่านั้น”... สมศักดิ์ เทพสุทิน,29 พฤศจิกายน 2561
“การเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจเผด็จการ”
“การเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ เพราะมาเพียงคนเดียว ไม่มีผู้สมัคร ส.ส. เขตและ ส.ส. บัญชีรายชื่อคนใดเป็นทหาร ดังนั้น ไม่ควรนำประเด็นนี้มาโจมตีเพื่อสร้างความขัดแย้ง พร้อมยกตัวอย่างเรื่องการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบก ในช่วงที่ผ่านมามักจะเป็นสายบูรพาพยัคฆ์ แต่ในช่วงที่พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารบก 2 นาย มาจากสายอื่นซึ่งถือเป็นการคืนความชอบธรรมให้กับกองทัพ”... สมศักดิ์ เทพสุทิน,3 ธันวาคม 2561
แต่ไม่ว่า นายสมศักดิ์ จะนิยาม พล.อ.ประยุทธ์ใหม่อย่างไร ก็ดูเหมือนว่าจะปฏิเสธภาพจำของคนไทยที่มีต่อ พล.ประยุทธ์ ได้ยากยิ่ง
เพราะนาทีนี้ภาพจำคือ [ เลือกพรรคพลังประชารัฐ = เลือกประยุทธ์ = เลือกการสืบทอดอำนาจ = เลือกอนาคตของสังคมไทย ] ซึ่งพรรคเพื่อไทยนิยามแล้วว่า “4 ปี 7 เดือน ที่ประชาชนไทยถูกยึดอำนาจ” มันคือยุคสมัยแห่งการปล่อยให้ประเทศ ล้าหลัง ล้มเหลว ถดถอย สิ้นหวัง
ถึงที่สุดการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้อยู่ที่การแข่งขันเรื่องนโยบาย แต่จะเป็นการถามสังคมไทยว่า จะเอาหรือไม่เอาประยุทธ์ ? ไปร่วมตอบคำถามกันหน่อยในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้!!