ไม่พบผลการค้นหา
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจภาคเกษตร 6 เดือนแรกของปีนี้น่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 0.4 เกษตรกรไทยช้ำหนัก ภัยแล้งทำผลผลิตตกต่ำ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรชี้พื้นที่เกษตรทั่วประเทศเสียหายแล้ว 8 แสนไร่ นักวิชาการทีดีอาร์ไอแนะนโยบายประกันรายได้ต้องรอบคอบ อย่าหวังเพียงคะแนนนิยมสร้างภาระงบประมาณ

ก่อนการเลือกตั้งพรรคการเมืองหลายพรรค ต่างชูนโยบายการเกษตรเพื่อเกษตรกร โดยเฉพาะนโยบายการประกันรายได้ หวังเติมเงินใส่กระเป๋าเกษตรกร เรียกคะแนนนิยม ตุนกระสุน ไว้เผื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า ขณะที่ มาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลเร่งดำเนินการและประกาศออกมาแล้ว คือ การประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน

'รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร' นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การประกันรายได้ ควรทำเมื่อราคาตกต่ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ผ่อนหนักเป็นเบาให้เกษตรกร ที่ส่วนใหญ่ทำเกษตรน้ำฝน แต่รัฐบาลต้องมีวิธีการที่รอบคอบ ต้องลดขั้นตอนการสำรวจวามเสียหาย เพราะที่ผ่านมาดำเนินการยุ่งยาก เมื่อเกิดความเสียหาย กว่าเกษตรกรจะได้เงิน ก็กินเวลานาน

อีกทั้ง การประกันรายได้เกษตรกร คือ กำหนดราคาอ้างอิง ลบราคาตลาด เป็นเงินที่เกษตรกรจะได้ ซึ่งในอดีตรัฐบาลเคยดำเนินการแล้ว และหากวิธีการยังทำเหมือนเดิมสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือเอกชนหรือพ่อค้าจะรู้ว่ารัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างก็จะกดราคารับซื้อจากเกษตรกร เพื่อให้เกิดส่วนต่างมากขึ้น หากยังทำแบบเดิม สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือรัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อชดเชย ซึ่งถือเป็นภาระของประเทศ



AP-ทำนา-ดำนา-นาข้าว-ชาวนา-ปลูกข้าว-เกษตรกร-ข้าว


"การเมืองที่ดีต้องช่วยเหลือเกษตรกร และต้องอธิบายได้ว่า วิธีการช่วยเหลือมันดีอย่างไร ไม่อยากให้การเมืองทำแบบเก่าช่วยเหลือเกษตรกร โดยหวังคะแนนเสียง หากจะถามว่าประกันรายได้เกษตรกรดีหรือไม่ ต้องถามว่ารัฐบาลคิดสูตรการชดเชยแบบไหน รอบคอบหรือไม่ รวดเร็วหรือไม่ ยุ่งยากหรือไม่" รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าว

พร้อมยกตัวอย่างเกษตรกรประสบภัยแล้งในปัจจุบัน หลายพื้นที่ไม่อยากจะให้ประกาศเขตภัยพิบัติ เพราะ หากในพื้นที่ประกาศเขตภัยพิบัติ จะทำให้เกษตรกรได้รับเงินเยียวยาภัยพิบัติเพียงก้อนเดียว แล้วหากหลังจากนั้นมีการประกาศการชดเชย หรือช่วยเหลือในเรื่องของค่าเก็บเกี่ยวพืช หรือมาตรการอื่นใด กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ภัยพิบัติ จะไม่ได้รับสิทธินั้น เช่น ชาวนา หากทำนาในพื้นที่ภัยพิบัติจะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลเพียง 1,113 บาท/ไร่ เท่านั้น 

ทั้งที่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เช่น ค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,200 บาท ตามพื้นที่ปลูกข้าวจริงแต่ไม่เกินรายละ 10 ไร่ และค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าว ตันละ 1,500 บาท เป็นต้น

ดังนั้น การดูแลเกษตรกรรัฐบาลต้องเน้นในเรื่องของการวิจัยพัฒนา ไม่ใช่แจกเงินชดเชยรายได้ เพราะได้สัญญากับเกษตรกรไว้ก่อนการเลือกตั้ง พยายามสนับสนุนให้เกิดความรู้ด้านวิชาการกับเกษตร เพื่อให้เกิดความแม่นยำ และได้รับผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น หรือหากเกิดภัยพิบัติความเสียหายจะไม่มาก เหมือนในอดีต หากมีการแจ้งเตือนในกรณีปริมาณน้ำฝนหรือน้ำต้นทุนอาจจะน้อย หรือไม่เพียงพอ ที่สำคัญหน่วยงานเกี่ยวกับน้ำ ต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้ดี 

อีกด้านหนึ่งจากปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างอ่อน ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิค่าเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าค่าปกติ ส่งผลให้มีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 30-40 ทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดแล้งในช่วงฤดูฝน น้ำต้นทุนไม่เพียงพอส่งเสริมการเกษตร 

รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า สถานการณ์แล้งกระทบการเติบโตของจีดีพีภาคเกษตรแน่นอน แต่ผลผลิตด้านการเกษตรจะหายไปเท่าไหร่ รายได้เกษตรกรจะเป็นเท่าไหร่ ตอนนี้คงยังสรุปไม่ได้


พื้นที่เพาะปลูกเสียหายจากภัยแล้งแล้ว 8 แสนไร่

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ตัวเลขการสำรวจของกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) ที่รายงานในการประชุมติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และพิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปี 2563 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ชี้ว่า ณ วันที่ 13 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา พบพื้นที่การเกษตรเสียหายจากภัยแล้งสิ้นเชิงแล้ว 8 แสนไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.1 ของพื้นที่เพาะปลูกแล้ว โดยในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 6 แสนไร่ อยู่ในจังหวัดขอนแก่น,นครราชสีมา,เพชรบูรณ์,เชียงราย และชัยภูมิ มากที่สุด 

กสก. ยังรายงานด้วยว่า ปัจจุบันพื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศ มีจำนวน 86.74 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 60.03 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5.82 ล้านไร่ 

มันสำปะหลัง 9.55 ล้านไร่ และอ้อย 11.328 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ เพาะปลูกแล้ว 77.839 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 54.03 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4.84 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 8.72 ล้านไร่ และอ้อย 10.234 ล้านไร่ 

อีกทั้งในพื้นที่เพาะปลูกแล้ว 77.839 ล้านไร่ ยังพบว่า เป็นพื้นที่เสียหายสิ้นเชิง 7.9 แสนไร่ แบ่งเป็น ข้าว 6.03 แสนไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.35 แสนไร่ มันสำปะหลังหลัง 3.3 หมื่นไร่ และอ้อย 1.8 หมื่นไร่ เป็นพื้นที่พืชอาจจะตายเพราะน้ำไม่พอ 10.87 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 8.1 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.25 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 8.16 แสนไร่ และอ้อย 6.6 แสนไร่ 

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่เพาะปลูกแล้วดังกล่าวมีพื้นที่คาดว่าพืชจะสามารถยืนต้นไปจนกว่าเก็บเกี่ยวได้ จำนวน 66.17 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 45.27 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3.45 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 7.87 ล้านไร่ และอ้อย 7.57 ล้านไร่

ส่วนพื้นที่เกษตรที่ยังไม่ได้เพาะปลูกทั้งประเทศมีจำนวน 8.9 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าว 6 ล้านไร่ อ้อย 1.07 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 9.8 แสนไร่ และมันสำปะหลัง 8.2 แสนไร่ 



เกษตรกร.jpg


จีดีพีภาคเกษตร 6 เดือนแรกโตเพียงร้อยละ 0.4

'ทัศนีย์ เมืองแก้ว' รองเลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 (ม.ค. - มิ.ย. 2562) จีดีพีภาคเกษตรมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น จึงคาดว่าทั้งปีจีดีพีภาคเกษตรคงไม่เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้คือประมาณร้อยละ 2.5 – 3.5 เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้อุณหภูมิค่าเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าค่าปกติ ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปีที่ผ่านมา 

ขณะที่ ดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2562 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบปีก่อนหน้า เนื่องจากดัชนีผลผลิตและดัชนีราคาสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.47 และ 0.72 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดย��ี 2562 เน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มจีดีพีภาคเกษตร คาดว่าทุกสาขาจะยังขยายตัวทั้งสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ เนื่องจากการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายพัฒนาการเกษตรอย่างต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรในช่วงครึ่งหลังของปี เพราะภาวะแล้งลามหนัก กระทบผลผลิตและราคาสินค้าของเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ คือการปฏิรูปภาคเกษตรให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ให้ระบบเตือนภัยของภาครัฐ ทำงานได้ ไม่ทำให้อาชีพเกษตรกรต้องรอฟ้ารอฝน หรือนั่งรอรอเงินภาษีมาอุดหนุน ให้การประกอบอาชีพเกษตรกรเกิดความภูมิใจ  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :