ไม่พบผลการค้นหา
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวรำลึกและร่วมวางพวงมาลา ในงานรำลึก 14 ตุลา ประจำปี 2567 ย้ำ ‘อย่าปล่อยให้ประชาชนโดดเดี่ยว ประชาธิปไตยไม่ใช่ความหมายแค่วันเลือกตั้ง’

“สิ่งที่จะพูดคือ อย่าปล่อยให้ประชาชนโดดเดี่ยว ที่ผ่านมาประชาชนเป็นคนจุดคบเพลิงนี้แล้ว เชื่อว่าหน่วยงาน องค์กร องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ต้องมีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตยและคิดถึงประชาชนด้วย ประชาธิปไตยไม่ใช่ความหมายแค่วันเลือกตั้งทุก 4 ปี แต่ความหมายคือเราตื่นเช้าขึ้นมาเราคิดถึงประชาชนและเข้าไปดูแลประชาชนหรือไม่ ต้องฝากเตือนพวกเราทุกคนที่ได้รับผลจากการเสียสละของวีรชน ให้คิดถึงประชาชนและอย่าปล่อยให้ประชาชนโดดเดี่ยว ขอให้ร่วมมือและทำให้ประเทศเราเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง กรุงเทพมหานครพยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้สิ่งที่ท่านวีรชนทั้งหลายได้เสียไปเมื่อ 51 ปีที่แล้ว ทั้งชีวิต ครอบครัว สิ่งต่าง ๆ ต้องสูญเปล่า เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวรำลึกและร่วมวางพวงมาลา ในงานรำลึก 14 ตุลา ประจำปี 2567 

DSC_8741.jpg

โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานวางพวงมาลาและกล่าวรำลึก นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองประจำทำเนียบรัฐบาล ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี ร่วมวางพวงมาลาและกล่าวรำลึก รวมทั้งผู้แทน 3 ศาสนา ได้แก่ พุทธ อิสลาม และคริสต์ ผู้แทนพรรคการเมือง ตลอดจนประชาชน ร่วมกิจกรรม ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน เขตพระนคร วันนี้ (14 ต.ค. 67)

DSC_8855.jpg

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า วันนี้เป็นวันสำคัญและกรุงเทพมหานครรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมรำลึกถึง 51 ปีของวีรชน 14 ตุลา วีรกรรมของท่านมีผลประโยชน์ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน คิดว่าหลายคนที่ได้มาร่วมกล่าวรำลึกในเช้าวันนี้ ก็คือผู้ที่เป็นผลจากความเคลื่อนไหวของวีรชนเมื่อ 51 ปีที่แล้ว หากท่านไม่ได้เคลื่อนไหว ไม่ได้มาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย วันนี้อาจไม่มีผู้ว่าฯ ที่ชื่อชัชชาติ พวกเราทุกคนเป็นหนี้บุญคุณของวีรชน 

เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการชุมนุมครั้งแรกอย่างสันติของมวลชนจำนวนมหาศาล เพื่อต่อต้านระบอบเผด็จการที่ครอบงำประเทศไทยมายาวนานนับทศวรรษได้เป็นผลสำเร็จ แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีการรัฐประหารตามมาไม่น้อยกว่า 5 ครั้งก็ตาม แต่การเสียสละของเหล่าวีรชน 14 ตุลา 2516 คือปฐมบทของระบอบประชาธิปไตย ของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ในประเทศไทย อันเป็นเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาธิปไตยมาอย่างมั่นคงและถาวรจวบจนบัดนี้ 

DSC_8665.jpg

ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เนื่องในวาระครบรอบ 51 ปีของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยผู้รักในเสรีภาพและประชาธิปไตย ได้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจเผด็จการทหารด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความกล้าหาญ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนหลายแสนคน ได้ร่วมกันออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญเพื่อทวงคืนอำนาจอธิปไตยกลับสู่ปวงชนชาวไทย แม้ว่าการต่อสู้ในวันนั้นต้องแลกด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของวีรชนผู้กล้า แต่ได้สร้างแรงบันดาลใจและปลูกจิตสำนึกให้คนไทยรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าของประชาธิปไตย ความยุติธรรม และสิทธิเสรีภาพ เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 จึงเป็นบทเรียนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่ย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงภัยร้ายแรงของการปกครองแบบเผด็จการ ขณะเดียวกันได้ประจักษ์ถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของประชาชนในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ คนรุ่นปัจจุบันได้รับมรดกอันล้ำค่าที่สุดจากวีรชน 14 ตุลา นั่นคือสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง การมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ และการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่เราต้องร่วมกันปกป้องและธำรงไว้ ในวาระรำลึก 51 ปี 14 ตุลา กระผมขอให้พวกเราทุกคนได้รำลึกถึงวีรชนผู้กล้า จดจำบทเรียนจากอดีตและร่วมกันสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ บนพื้นฐานของความยุติธรรมเสรีภาพความเสมอภาค เพื่ออนาคตของประเทศชาติ ลูกหลานของเรา ตามเจตนารมย์ของวีรชนผู้กล้า 14 ตุลาในอดีตต่อไป