ไม่พบผลการค้นหา
“รัฐประหาร 49 นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของความฉิบหายทั้งหมด”

แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือถ้าพูดเชิงวิชาการแล้วอาจไม่จริงอย่างที่ว่า เพราะเอาเข้าจริงอาการผิดปกติของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ น่าจะเริ่มต้นชัดเจนหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2500 แต่นี่คือประโยคที่เราเห็นร่วมกัน ระหว่างตะเวนเดินทางไปหลายจุดในกรุงเทพฯ คนเริ่มต้นประโยคทำมาหากินด้วยอาชีพขับแท็กซี่ 

หากติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงหลังรัฐประหาร 2557 น่าจะพอคุ้นชื่อ คุ้นหน้าอยู่บ้าง สำหรับโชเฟอร์ที่ชื่อ ‘วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ’ หรือกึ๋ย เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘เลือกตั้งที่(รัก)ลัก’ ในวันวาเลนไทน์เมื่อปี 2558 เพื่อกระตุกเตือนสังคมไทยที่ถูกบังคับกลับสู่ระบอบเผด็จการทหารอีกครั้ง 

กิจกรรมนั้นต้องการให้เห็นแค่เพียงว่า เราเคยมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 แต่ถูกฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยทำทุกวิถีทางเพื่อปูพรมแดงรอรับล้อตีนตะขาบเข้ายึดบ้านเมือง แม้เป็นเพียงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ทั้งยังไม่ทันได้เริ่มทำกิจกรรม เขาก็ถูกควบคุมตัว ดำเนินคดีไปพร้อมกับอานนท์ นำภา, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ

หลังก้าวขาขึ้นรถ คาดเข็มขัดนิรภัย ปรับองศาทิศทางแอร์ ทักทายกันด้วยภาษาจำเลย “คดีจบหรือยังพี่” รถแท็กซี่สีชมพูมุ่งออกจากหอสมุดแห่งชาติ ย้อนรอยไปตามเส้นทางของโชเฟอร์อีกคนที่ชื่อ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ เจ้าของรถแท็กซี่สีม่วงที่ขับพุ่งชนรถถังเมื่อ 16 ปีก่อน 

“เรียบร้อยแล้ว ยกฟ้อง” คำตอบจากโชเฟอร์ หลังหักพวงมาลัยมุ่งสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า

วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ
ลานพระบรมรูปทรงม้า: TAXI vs. TANK

“นี่แหละ แถวๆ นี้แหละ” เขาพูดพร้อมชี้นิ้วไปทางลานพระบรมรูปทรงม้า ระหว่างรถจอดติดไฟแดงอยู่ที่แยกถนนราชดำเนินตัดถนนศรีอยุธยา 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2549 เพียง 11 วันหลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ประกาศรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลทักษิณ2 นวมทอง ไพรวัลย์ ชายวัย 60 ปี ตัดสินใจแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการขับรถแท็กซี่ โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง  ทะเบียน ทน 345 กรุงเทพมหานคร พุ่งชนรถถังเบา M41A2 Walker Bulldog ป้ายทะเบียนตรากงจักร 71116 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

ในช่วงแรก แม้จะไม่มีรายละเอียดเบื้องหลังของปฏิบัติการครั้งนั้น แต่เรื่องราวนี้ก็ถูกบันทึกเป็นข่าวกรอบรองบนหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์หลายหัว เว้นก็เพียงหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 

“ข่าวแกคนทั่วไปที่ไม่ได้สนใจการเมือง อาจจะไม่เห็นในตอนนั้น รู้สึกว่ามันก็จะเป็นข่าวกรอบสาม กรอบสี่ ไม่ถึงขนาดปัง! เฮ้ยมีคนต่อต้านรัฐประหาร และประเด็นของการรับรู้มันก็มีแค่มีแท็กซี่คนหนึ่งขับรถไปชนรถถัง ไม่ได้มีการขยายความต่อไปว่า นี่คือการต่อต้านการรัฐประหาร”

กึ๋ยช่วยอธิบายความสงสัยต่อการรับรู้ข่าวสารในช่วงนั้น และให้ข้อมูลต่อไปว่า ข่าวที่เกี่ยวข้องกับนวมทอง ส่วนใหญ่ล้วนมาจากการให้สัมภาษณ์จากฝั่งคณะรัฐประหาร ภายใต้ช่วงเวลาที่ถูกฉายให้เห็นถึงการเฉลิมฉลอง ประเทศไทยกำลังเดินทางเข้าสู่ยุคใหม่ ไม่มีแล้วรัฐสภาเผด็จการ ไม่มีแล้วการคอร์รัปชั่น ไม่มีแล้วโครงข่ายสายใยของตระกูลชินวัตร การลุกขึ้นต่อต้านของคนธรรมดาคนหนึ่งดูจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ในช่วงเวลาของความยินดี

“คนบ้าการเมือง คนเพี้ยน คนเครียด และคนที่ถูกจ้างมา” คือบทสรุปของนวมทอง บทละครนี้ถูกสร้างขึ้นขณะที่เขานอนรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บสาหัสกว่าครึ่งเดือน 

“นี่คือสิ่งที่ฝ่ายผู้มีอำนาจมักจะใช้เวลาคนมีความตื่นตัวทางการเมือง ก็จะพยายามทำให้คนนั้นเป็นพวกบ้า บ้าการเมือง ทำให้เรื่องการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ทำให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ใช่เรื่องปกติ ยิ่งผู้มีอำนาจปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น คนที่ไม่เห็นด้วยเขาก็ต้องการให้สังคมได้ยินเสียง ลุงแกก็คงคิดแบบนั้น ชนแม่งเลย แล้วแกเอาจริง ไม่ได้มาชนหยอกๆ”  

ไฟจราจรสลับเป็นสีเขียว ขณะที่รถเคลื่อนตัวผ่านหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า กึ๋ยยังมองหาจุดที่นวมทองพุ่งชน เขาไม่แน่ใจว่าจุดนั้นอยู่ด้านซ้ายหรือขวาของอนุสาวรีย์ ก่อนรถเคลื่อนผ่านไปเขาว่า 

“น่าเสียดาย ถ้าเป็นเมื่อก่อน เราจะขับรถเข้าไปด้านในได้ ไม่มีรั้วกั้นแบบนี้ เมื่อก่อนผมขับตัดไปรัฐสภา ไปเขาดิน ตอนนี้ไม่ให้เข้าแล้ว ข้างในเป็นอะไรก็ไม่รู้ตอนนี้”

อะไรกันที่ทำให้คนขับแท็กซี่อินกับการเมือง เป็นหนึ่งในคำถามระหว่างเดินทางไปจุดหมายถัดไป กึ๋ยเงียบไปชั่วอึดใจ ก่อนจะยกสำนวนจีนขึ้นมาเปรียบเทียบ “อ่านหนังสือหมื่นเล่ม เดินทางหมื่นลี้ เคยได้ยินไหม” 

เขาอธิบายสภาพการทำงานของคนขับแท็กซี่ว่า โดยพื้นฐานแล้วคนที่ยึดอาชีพนี้ส่วนมากเป็นคนชนชั้นล่าง หรือถ้าขยับขึ้นมาหน่อยก็เรียกว่า ชนชั้นกลางระดับล่าง และงานขับรถส่งผู้คนถือเป็นงานลงทุน ลงแรง คนขับเป็นผู้แบกรับต้นทุนทุกอย่าง 

ถึงจะเป็นกลุ่มค่อนล่างค่อนกลางของสังคม แต่แท็กซี่มีความพิเศษกว่าหลายอาชีพ กึ๋ยเล่าต่อว่า แท็กซี่สามารถเข้าไปได้ทั้งพื้นที่เรียกได้ว่าหรูหราที่สุด และพื้นที่เรียกได้ว่าเป็นสลัมของคนเมือง การได้เข้าไปเห็นการชีวิตของผู้คนย่อมทำให้แท็กซี่เห็นความเหลื่อมล้ำ ถ้าไม่ติดกรอบคิดเรื่องบุญทำกรรมแต่ง ใครบ้างจะไม่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็นอยู่ต่อหน้าว่า ทำไมคนเราต่างกันได้ขนาดนี้ 

“แต่ละวันคนขับแท็กซี่เดินทางไม่ต่ำกว่าร้อย หรือสองร้อยกิโลฯ รับผู้โดยสารไม่รู้กี่คน พวกเขาเรียนรู้จากการเดินทาง เรียนรู้จากผู้คน”

แม้จะเป็นอาชีพที่ดูจะไม่มีเวลาว่างนั่งอ่านหนังสือ ตำราเป็นเล่มๆ แต่อย่าได้ดูถูกว่าแท็กซี่เป็นพวกไม่รู้ความ ดีไม่ดี แท็กซี่อาจจะเสพข่าวสารมากกว่าลูกค้าที่โบกรถจากผับย่านทองหล่อ หรือโรงแรมหรูใจกลางเมือง 

กึ๋ย อธิบายต่อว่า นอกจากจะมีผู้โดยสารเป็นเพื่อนร่วมทางแล้ว คนที่อยู่ใกล้ชิดกับแท็กซี่มากที่สุดคือ เจ้าของเสียงจากสถานีวิทยุ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกาศข่าว นักวิชาการที่มาออกรายการ นักวิเคราะห์การเมือง ดีเจจัดรายการฝีปากกล้า และที่สำคัญก่อนหน้านี้ วิทยุ คือพื้นที่ของการส่งต่อข้อมูลข่าวสาร ความคิดความเชื่อ และอุดมการณ์ อย่างเปิดกว้าง ก่อนจะถูกบั่นทอนหลังการรัฐประหารเป็นต้นมา

“สมัยก่อนต่อให้คุณไม่สนใจการเมืองเลย แล้วคุณเปิดฟังแค่สถานีที่มีแต่เพลงทั้งวันทั้งคืน คุณก็หนีไม่พ้นข่าวต้นชั่วโมง”

พอจะเข้าใจได้อยู่สำหรับคำอธิบาย แต่อะไรกันที่ทำให้คนอย่างนวมทองตัดสินใจพลีชีพตัวเอง หัวจิตหัวใจมันต้องใหญ่ และหนักแน่นขนาดไหน เป็นไปไม่ได้ที่จะได้คำตอบนี้จากนวมทองโดยตรง 

กึ๋ยชวนให้ย้อนกลับไปอ่านจดหมายลาตายของนวมทองอีกครั้ง เขาว่า ในนั้นได้บันทึกคำตอบไว้หมดแล้ว นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์ของ จอม เพชรประดับ นักข่าว ITV ในเวลานั้น เขาเป็นนักข่าวคนแรก และคนเดียวที่มีโอกาสนั่งคุยอย่างจริงจังกับนวมทอง

“ที่ที่ผมจะพาไปต่อ ก็คือที่ที่แกให้สัมภาษณ์กับคุณจอม”

วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ
อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา: ลุงไม่อยากอยู่ร่วมกับเผด็จการ 

รถเข้าโค้งรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มุ่งหน้าไปยังแยกคอกวัว ถัดจากสิ่งปลูกสร้างที่คอยย้ำเตือนว่า ประเทศนี้เคยมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เกาะกลางถนนประดับประดาด้วยซุ้มใหญ่โตตลอดทาง กึ๋ยเคาะไฟเลี้ยวทางซ้าย ก่อนเทียบจอดข้างฟุตปาธ เราเห็นคนไร้บ้านหลายสิบชีวิตกำลังต่อคิวรอรับอาหารบริจาค กับคนขายกระดาษแห่งความหวังตั้งโต๊ะเรียงรายตลอดทาง

กึ๋ยพาเดินรอบอนุสรณ์สถาน และชี้ไปที่ปีกซ้ายของสถานที่ เขาเดาว่า จอมน่าจะนั่งสัมภาษณ์นวมทองแถวนั้น เขาเห็นว่าเวลานั้นน่าจะมีแค่ ITV เพียงที่เดียวที่ให้พื้นที่กับนวมทองได้อธิบายถึงสาเหตุที่ขับรถชนรถถัง เพราะทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารสื่อหลักทั้งหลายต่างก็นำเสนอไปในทางเดียวกันหมด 

จอม เพชรประดับ เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไท ถึงการนำเสนอข่าวของนวมทองว่า เขาอัดเทปบันทึกการสัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2549 หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ เขาบอกกับนวมทองอย่างตรงไปตรงมา เทปนี้ยังเผยแพร่ไม่ได้ เพราะคณะรัฐประหารประกาศใช้กฎอัยการศึก ต้องรอให้มีการยกเลิกก่อน ถัดมาประมาณ 15 วัน เขาได้รับสายจากนวมทอง “คุณจอมครับ เก็บเทปนั้นไว้ให้ดีๆ” 

จอมไม่คิดว่านั่นคือ การเร่งเร้าให้รีบออกอากาศ เพราะนวมทองเข้าใจถึงสถานการณ์ดี และเขาก็ไม่รู้ด้วยว่า นั่นคือการโทรมาเพื่อร่ำลา กระทั่งเช้ารุ่งขึ้นปรากฎข่าวชายผู้ขับแท็กซี่ชนรถถังตัดสินใจแขวนคอตายที่สะพานลอยหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 

หลังจากนั้น ITV ตัดสินใจนำเทปสัมภาษณ์ออกอากาศ แน่นอนว่าครั้งนั้นพวกเขาได้รับหนังสือเตือนจาก ‘คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ’ ว่าไม่ควรนำเสนอเรื่องดังกล่าวเพราะจะเป็นการนำไปสู่ความขัดแย้งและความแตกแยก หรือเป็นชนวนความไม่สมานฉันท์ของคนในชาติ

“ต้องการให้โลกรู้ ต้องการสร้างประวัติศาสตร์ ว่าปฏิวัติครั้งนี้มีแท็กซี่ชนรถถัง จนกระทั่งตัวตาย ลุงบอกตรงๆ ว่าลุงไม่อยากจะอยู่ใต้อำนาจเผด็จการ”

“ดูต่างชาติอะไรเขาเจริญแล้ว ประเทศเราถ้าปฏิวัติอีกมันก็เหมือนกับพม่า ลุงพลีชีพเพื่อชาติได้ ถ้าลุงไม่ทำแล้วใครจะทำ ท่านรองโฆษกฯ บอกว่ามันไม่น่าจะมีการพลีชีพเพื่อประชาธิปไตยได้ หรืออาจจะมารับจ้างอะไรทำนองนั้น ลุงว่าพูดแบบนี้เป็นการปรามาส คนไทยเขาไม่ดูถูกกันแบบนี้หรอก” 

“ชาติบ้านเมืองเรามันจะต้องไปไกลกว่านี้เยอะ แล้วนี่คุณต้องมานับหนึ่งใหม่ ไม่ใช่หยุดอย่างเดียว แต่อาจจะต้องถอยหลัง แล้วคนอื่นเขานำไปเท่าไหร่ บ้านเมืองเรามันต้องดีกว่านี้ ไม่ใช่เอะอะก็ปฏิวัติ ลุงมองว่านี่มันอำมาตยาธิปไตย คุณรักษาฐาน คุณสร้างรัฐทหาร เวลานี้ถ้าคุณลองเปิด SMS ให้ออกความเห็นในโทรทัศน์ได้นะ คุณจะหูชาตาลาย” นี่คือส่วนหนึ่งที่นวมทองให้สัมภาษณ์ไว้กับจอม คิดไม่ออกว่าตรงไหนที่นำไปสู่ความขัดแย้ง

กึ๋ย เล่าด้วยว่าอนุสรณ์สถานแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงที่สัมภาษณ์เท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่นวมทองคิดจะมาแขวนคอตายด้วย เขาไม่ได้ติดต่อสื่อสารกับวิญญาณได้ แต่เรื่องนี้ถูกบันทึกไว้ในจดหมายลาตายของนวมทอง หลายคนที่เคยอ่านจดหมายของนวมทองอาจจะไม่เคยเห็นเนื้อหาในส่วนที่ว่า ไม่แปลก เพราะจดหมายของนวมทองมี 2 ฉบับ 

ฉบับแรกที่เผยแพร่เป็นที่รับรู้กันทางสาธารณะเขียนขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม 2549 แต่อีกฉบับถูกเขียนขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม เวลา 21.30 สถานที่เขียนคือบริเวณด้านหน้าเซ็นทรัลลาดพร้าว กระดาษที่เขาใช้ได้มาจากโรงแรมรอยัล รัตนโกสินทร์ และอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมาเขาก็นั่งรถเมล์ไปแขวนคอตายที่สะพานลอยไทยรัฐ

กึ๋ย ถอดความจำจางๆ เกี่ยวกับจดหมายฉบับนั้นว่า นวมทองตั้งใจจะมาแขวนคอที่อนุสรณ์สถานฯ แต่พบว่ามีคนพลุกพล่านเลยไม่มีโอกาสได้ทำ ทำไมนวมทองเลือกที่นี่เป็นที่แรก กึ๋ยยืนคิดสักพักก่อนตอบว่า 

“ถ้าแกคิดจะพลีชีพ เพราะไม่อยากอยู่กับเผด็จการ แกก็คงอยากมาอยู่กับวีรชนประชาธิปไตยแทน”

วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ
สดมภ์นวมทอง: ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก

เรากลับขึ้นรถอีกครั้ง รอบนี้ใช้เวลาพอสมควรกับการเดินทางจากเขตพระนคร ไปเขตจตุจักร บทสนทนามากมายเกิดขึ้นบนแท็กซี่ ทั้งสภาพการทำงานในช่วงโควิด การเข้ามาของแอปไรเดอร์ การปรับตัวของคนขับแท็กซี่ ไปจนทั้งเรื่องสัพเพเหระ ไถ่ถามความเป็นไปของมิตรสหายหลายคนที่ไม่ได้พบหน้ามานาน 

“พี่ว่าทุกวันนี้ แท็กซี่คันนั้นยังอยู่ไหม” คำถามนี้คงไปสะกิดความทรงจำบางส่วนของกึ๋ยเข้า เขาว่าตอนครบรอบ 10 ปีนวมทองพลีชีพ ‘เอก’ เพื่อนคนหนึ่งของเขาได้ขอให้ช่วยตามหารถแท็กซี่ของนวมทอง เพราะอยากจะซื้อเก็บไว้เพื่อทำพิพิธภัณฑ์ในอนาคต 

“ผมลองไปอ่านข่าวเก่าๆ เจอว่ารถคันนั้นเป็นรถเช่าของสหกรณ์แห่งหนึ่ง เมื่อก่อนเคยเห็นรถของสหกรณ์นี้บ่อยๆ แต่เดียวนี้ไม่ค่อยเจอแล้ว ลองค้นเบอร์ก็เจอแล้วโทรไป มีคนรับด้วย  ถามไปว่าตอนนี้ยังมีรถรุ่นนี้ สีนี้ เลขทะเบียนนี้อยู่ไหม คนรับสายก็บอกว่ามันรถเก่าแล้ว ไม่รู้ยังอยู่หรือเปล่า ถ้าหาจริงๆ ต้องไปดูที่โกดัง แล้วเหมือนเขาไม่ค่อยอยากจะช่วยประสานเท่าไหร่ มันต้องใช้เวลาเยอะ ผมก็เลยไม่ได้ตามต่อ”

“จริงๆ มันน่าเสียดายเหมือนกันที่เราเพิ่งมาคิดกันได้ตอนมันผ่านมา 10 ปีแล้ว ถ้าคิดกันตั้งแต่แรกๆ คงตามได้ไม่ยาก”

กึ๋ยว่า สิ่งแทนความทรงจำเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่มีอยู่ตอนนี้เหลือน้อยลงทุกวัน แม้แต่หมุดคณะราษฎรยังถูกถอดออกได้ อะไรที่ทำลายได้ ฝั่งเผด็จการก็คงทำลายไปเรื่อยๆ เขาพูดขณะขับรถมุ่งหน้าไปยังสดมภ์นวมทอง 

“จริงๆ สดมภ์ลุงนวมทองนี่ก็เพิ่งมาสร้างหลังจากผ่านปี 53 มา ผมจำไม่ได้ว่าปีอะไร แต่ตอนนั้นณัฐวุฒิ (ใสยเกื้อ) เป็นรัฐมนตรี แกมาเปิดงานด้วย แต่ก่อนหน้านั้นพวกเราพากันไปจัดกิจกรรมรำลึกง่ายๆ ก็คือทำบล็อกไปพ่นสี เคืองอย่างเดียวตอนเขาทำสดมภ์ เขาไปทาสีทับสีที่เราไปพ่นไว้ แต่คิดว่าน่าจะยังมีบางจุดเหลืออยู่”

“ตอนนี้แถวนั้นเขากำลังทำท่อระบายน้ำใหม่นะ เห็นว่าชัชชาติเขาจะทำทางวิ่ง” ช่างภาพร่วมแชร์เรื่องราว กึ๋ยว่า ดีเหมือนกัน แต่ถ้าทำให้ตรงนั้นเป็นจุดนั่งพัก และมีเรื่องราวของนวมทองให้คนมาวิ่งได้เห็น ได้อ่าน น่าจะดีกว่า เขาเชื่อว่าชัชชาติเป็นผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้ง คงจะมองเห็นความสำคัญในประเด็นนี้

แท็กซี่จอดเทียบจุดรอรถเมล์ใต้สะพานลอยไทยรัฐ ศาลารอรถเมล์หายไปแล้ว แต่แท่งสดมภ์นวมทองใต้สะพานลอยยังตั้งเด่น มองไปที่เสาใต้ทางด่วนยังมีสีเปร์ยที่กึ๋ยกับเพื่อนเคยพ่นไว้ ตัวหนังสือบนสดมภ์บันทึกประโยคทอง “เกิดมาชาติหน้าคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก”

“บางวันผมขับผ่านตรงนี้ ถ้าไม่มีผู้โดยสารผมก็จะบีบแตรทักทายแกหน่อย เป็นความระลึกถึงแกนะ ไม่ได้เป็นไสยศาสตร์อะไรหรอก มันก็ได้บอกตัวเองว่า เฮ้ย มันยังมีนักสู้คนหนึ่งว่ะ ที่สู้ถึงขั้นสละชีวิตตัวเองได้ มันก็ทำให้เรามีกำลังใจในการต่อสู้ ในการเคลื่อนไหวถ้ามีโอกาส”

ใช้เวลาที่สดมภ์ไม่นาน ก่อนแยกย้าย กึ๋ยอาสาพาเรากลับไปหอสมุดแห่งชาติ เพราะรถออฟฟิศจอดทิ้งไว้ที่นั่น “แล้วนี่เสร็จงานยัง จะแวะจิบสักขวดสองขวดไหม หลังป้อมพระสุเมรุ” เขาถามหลังส่งเราถึงจุดหมาย