คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาในหัวข้อ "การปล่อยชั่วคราวทางปฏิบัติที่ขัดหลักรัฐธรรมนูญตามมาตรา 29 วรรค 2" โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าปัญหาความยุติธรรมของประเทศไทยเรื่องใหญ่ที่สุดคือ "คนล้นคุก" ซึ่งอาจสูงกว่า 370,000 คน โดยกว่าร้อยละ 30 เป็นผู้ต้องขังที่รอการพิพากษา จึงเป็นคำถามที่ตามมาว่าในคดีอาญาซึ่งมีหลักว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด ว่าบุคคลใดกระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้
ซึ่งข้อกำหนดของศาลไม่สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเกิดปัญหาว่าคนจนประกันตัวไม่ได้โดยมีพื้นฐานมาจากการใช้เงินประกันตัว ดังนั้นเมื่อคนจนไม่มีเงินวางหลักประกันก็ต้องติดคุก ส่วนคนรวยก็ได้รับการปล่อยชั่วคราว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญญา เห็นว่าการใช้และตีความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงต้องอยู่ภายใต้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาคือผู้บริสุทธิ์ และ หลักการสำคัญ ของกฎหมายไม่มีมาตราใดเลยที่พูดถึงเรื่องจำนวนเงินหรือการเรียกหลักประกันการใช้ดุลยพินิจเรียกหลักประกันที่เกินควรไม่ได้ "คนต้องติดคุกเพราะกระทำความผิดแต่ต้องไม่ติดคุกเพราะไม่มีเงินประกัน ซึ่งปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 6หมื่นคน"
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หยิบยกปัญหาและข้อเสนอแนะมาพูดคุย ซึ่งเห็นว่าศาลควรดำเนินการสั่งให้ การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวตรงตามรัฐธรรมนูญกฎหมายและระเบียบ เมื่อศาลสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ศาลฎีกา ผู้ต้องหาไม่อาจร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนว่าศาลสั่ง โดยละเมิดสิทธิมนุษยชน
ส่วนการแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการอ่านคำสั่งประกันของศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาโดยใช้ระบบไอที อ่านจากศาลสูง อาจทำให้ความลับรั่วไหล และเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์หรือเรียกรับผลประโยชน์ กรณีดังกล่าวต้องได้รับการทบทวนแก้ไข
ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติและอัยการสูงสุดควรวางระเบียบว่าการคัดค้านการประกันตัวต้องมีความชัดเจน เพราะที่ผ่านมามีหลายครั้งที่เหตุผลไม่ชัดเจน จึงเสนอว่ากรณีไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ต้องมีรายละเอียดที่มากเพียงพอ
ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ผู้แทนประธานกรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่าจะนำกฎหมายที่เป็นปัญหาไปปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะการปล่อยชั่วคราวที่ผ่านมาเคยมีประสบการณ์ในลักษณะดังกล่าวและมีโอกาสเข้าไปอยู่ในเรือนจำและพบปัญหาที่เกิดขึ้น
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน แสดงความกังวลถึงการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาคดีหรือการปล่อยชั่วคราว และในฐานะคนหนึ่งที่เป็นผู้ประสบภัย จากการใช้ 'กฎโจร' ช่วงรัฐประหาร ไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าจะสามารถตรวจสอบการใช้ดุลพินิจได้อย่างไร จึงเสนอให้นำประมวลจริยธรรม มาเป็นหลักในการใช้ดุลพินิจ และจำเป็นต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งการยึดหลักรัฐธรรมนูญการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ดังนั้นในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ พร้อมผลักดันแก้ไขกฎหมายร่วมกับฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่เห็นว่าควรเขียนให้ชัดเจนกรณีการจะปล่อย หรือไม่ปล่อยตัว ไม่ใช้การตีความ หรือหลักทรัพย์มาเป็นเกณฑ์ เพราะถ้าคนจะหนีไม่เกี่ยวจะรวยหรือจน นอกจากนี้ยังเสนอเรื่องประมวลจริยธรรม ที่ต้องกำหนดเป็นบรรทัดฐาน ไม่ให้เป็นเพียงเสือกระดาษเหมือนปัจจุบัน