ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดเผยมีโรงงานผลิตน้ำกระจายหลายพื้นที่ ไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์น้ำทะเลหนุนสูง-ภาวะน้ำแล้ง ย้ำกระบวนการผลิต RO กรองสิ่งปนเปื้อน-ค่าคลอไรด์จากน้ำทะเลตามมาตรฐาน อย.-สากล ด้าน กปน. ย้ำน้ำกร่อยบางเวลา แนะประชาชนตรวจเช็กคุณภาพผ่านแอปฯ

นายธงชัย ศิริธร ที่ปรึกษาด้านกิจการสังคมและสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ถึงผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูงและภาวะน้ำแล้งในขณะนี้ว่า สำหรับการผลิตน้ำดื่มน้ำทิพย์ ซึ่งผลิตจากโรงงานแหล่งน้ำ ไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์น้ำทะเลหนุนในขณะนี้ อีกทั้งบริษัทยังใช้ระบบ RO (Reverse Osmosis) ในการผลิต แตกต่างจากระบบการผลิตน้ำประปาทั่วไป และสามารถขจัดสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงค่าคลอไรด์จากน้ำทะเลด้วย 

ดังนั้น ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าน้ำดื่มน้ำทิพย์และผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของไทยน้ำทิพย์จะได้คุณภาพมาตรฐานทั้งของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และในระดับสากลตามข้อกำหนดของโคคา-โคลา

ทั้งนี้ ระบบ RO เป็นระบบการกรองโดยใช้เยื่อกรองเมมเบรน ที่มีความละเอียดถึง 0.0001 ไมครอนในการกรอง ที่ทำให้สารละลาย สิ่งปนเปื้อน รวมทั้งเชื้อโรคต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่ารูพรุนของเยื่อกรองเมมเบรนไม่สามารถแทรกตัวเล็ดลอดผ่านไปได้

โดยน้ำดื่มน้ำทิพย์ในปัจจุบัน มีโรงงานผลิตทั้งในต่างจังหวัดและปริมณฑล ได้แก่ ลำปาง ขอนแก่น นครราชสีมา ปทุมธานี และรังสิต ซึ่งทำให้บริษัทมีความหลากหลายทั้งแหล่งน้ำ และยืดหยุ่นในการปรับแผนการผลิตตามสภาวะตลาดได้พอสมควรหากมีความจำเป็น

รวมถึงบริษัท ไทยน้ำทิพย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่าในประเทศไทย มีความมุ่งมั่นการใช้น้ำอย่างรับผิดชอบ จึงพยายามลดปริมาณน้ำสะอาดที่ใช้ในกระบวนการผลิต และทำโครงการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อคืนน้ำสู่ธรรมชาติและชุมชนผ่านโครงการ 'รักน้ำ' อย่างต่อเนื่อง 

"จากการติดตามข่าวสาร ทราบว่ารัฐบาลมิได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้และกำลังเตรียมความพร้อมในการบริหารสถานการณ์อย่างเต็มที่ ซึ่ง คงคาดหวังให้ภาครัฐรับผิดชอบฝ่ายเดียวไม่ได้ ทุกฝ่ายคงต้องร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุดด้วย" นายธงชัย กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลเมื่อปี 2555 พบว่า น้ำดื่มน้ำทิพย์มีกำลังการผลิต 1,200 ขวดต่อนาที หรือ ประมาณ 1.7 ล้านขวดต่อวัน 

ด้านนายคมกฤช ทินกร ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญการประปานครหลวง ระดับ 10 การประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยกับรายการ 'Voice Go' ทางช่องวอยซ์ทีวี ว่า ตลอดช่วงหน้าแล้งทุกปีจะมีปัญหาน้ำเค็มเข้ามาในระบบการผลิต ซึ่งมีผลให้น้ำประปามีรสกร่อยในบางวัน ไม่ใช่ทุกวัน ดังนั้น กปน.ซึ่งดูแลการให้บริการน้ำประปาในกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ จึงจัดบริการจุดจ่ายน้ำเพิ่มขึ้นมา 18 จุดไว้บริการน้ำดื่มให้กับประชาชน ทั้งในฝั่งตะวันตกและตะวันออก แม้ว่าปัญหาน้ำรสชาติกร่อยจะเกิดกับฝั่งตะวันออกเท่านั้นก็ตาม แต่ก็จะเปิดบริการจุดจ่ายน้ำดื่มให้ฝั่งตะวันตกด้วย 

สำหรับการผลิตน้ำประปาในช่วงฤดูแล้งยืนยันว่า มีน้ำประปาใช้สำหรับการอุปโภคแน่นอน ส่วนด้านบริโภค หากพบว่าน้ำประปามีรสกร่อยก็จะมีจุดบริการน้ำดื่มตามสาขาต่างๆ

"น้ำไม่ได้กร่อยทุกวัน ก็จะเป็นน้ำจืดสนิท ประชาชนสามารถสำรองน้ำจากก็อกในบ้านได้ เพราะโอกาสที่น้ำจะกร่อยไม่ได้เกิดติดต่อกันหลายวัน จึงขอให้ประชาชนติดตามคุณภาพน้ำใกล้ๆ บ้านทางออนไลน์ ทั้งทางเว็บไซต์ของการประปานครหลวงและแอปพลิเคชันการประปานครหลวง ซึ่งจะทำให้ทราบว่า ณ วันนั้นๆ คุณภาพน้ำในละแวกบ้านท่านเป็นเช่นไร" นายคมกฤช กล่าว 

พร้อมแนะนำวิธีตรวจสอบคุณภาพน้ำจากสถานีวัดคุณภาพน้ำใกล้บ้าน ผ่านแอปพลิเคชัน MWA onMobile เข้าไปที่ช่อง "คุณภาพน้ำ" จะสามารถตรวจสอบคุณภาพใกล้บ้านได้ โดยดูที่ค่าคลอไรด์ คือ ถ้ามากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อลิตร ก็จะมีรสปะแล่มๆ จะเริ่มรู้รสได้ แม้จะยังดื่มได้ก็ตาม 

สำหรับชาวสวนในจังหวัดนนทบุรีจะได้รับผลกระทบจากช่วงฤดูแล้ง กปน. ยังมีค่าเยียวยาแก่ชาวสวนในพื้นที่ที่ดูแลทุกปี ซึ่งผู้ว่าการ กปน. จะชี้แจงในเร็วๆ นี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :