เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 8 เม.ย. ที่อาคารรัฐสภา ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งเป็นการประชุมสภาสมัยวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวาระที่สอง เป็นวันที่ 2
โดย พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานการประชุม แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า มีสมาชิกเข้าร่วมประชุม 366 คน เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด 731 คน สามารถเปิดการประชุมได้
ที่ประชุมเริ่มมีการพิจารณาในมาตรา 42 ที่กรรมาธิการ เพิ่มข้อความในการออกเสียงประชามติ ด้วยการลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีการอื่น
วีระกร คําประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า เห็นไม่สมควรในการเพิ่มความดังกล่าว เพราะในหน่วยออกเสียงประชามติ มีการกาบัตรอยู่แล้ว ปัจจุบันประชาชนก็กาบัตรตามปกติ ไม่ได้มีปัญหาอะไร โดยเข้าใจวิธีการเป็นอย่างดี
“ท่านอย่าเข้าใจว่าประชาชน เขาจะเข้าใจอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบสารสนเทศอย่างที่ท่านเข้าใจนะครับ ท่านต้องเข้าใจว่าประชาชนมีหลายชนชั้น มีหลายอายุ แม้วัยรุ่นเข้าใจ แต่คนอายุ 80 ปีขึ้นไป เขาไม่ได้เข้าใจระบบเหล่านี้ ไม่รู้ว่าเขียนลงไปทำไม จะเขียนเพื่อแสดงว่าประเทศไทย มีความเจริญก้าวหน้าทางสารสนเทศหรืออย่างไรไม่ทราบ เขียนให้มันฟุ่มเฟือยไปเรื่อย” วีระกร กล่าว
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การลงคะแนนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับมาตรา 12 ที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว ไม่สามารถตัดออกได้ นอกจากนี้ ในชั้นกรรมาธิการยังยืนยันว่า การลงคะแนนด้วยอิเล็กทรอนิกส์ สามารถตรวจตอบได้ และการลงคะแนนของอิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่วิธีหลักในการออกเสียงประชามติ เพราะวิธีหลักยังเป็นการออกเสียงด้วยการกาบัตร แต่วิธีนี้มีไว้เพื่อปกป้องสิทธิของคนไทย ที่ไม่สามารถออกเสียงด้วยการกาบัตรได้
โดยที่ประชุมลงมติ 388 ต่อ 0 งดออกเสียง 1 เห็นด้วยให้เพิ่มความตามกรรมาธิการ
สำหรับมาตรา 42 ยังมีบทบัญญัติว่าการออกเสียงประชามติในต่างประเทศด้วย โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมาธิการ ชี้แจงว่า สำหรับการนับคะแนนในต่างประเทศนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งบัตรบัตรลงคะแนนประชามติกลับมายังประเทศไทยไม่ทันกรอบเวลา เหมือนการเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2562 ที่บัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ส่งกลับมาไม่ทัน ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์เป็นวงกว้าง
สมชัย กล่าวว่า ดังนั้น กรรมาธิการจึงออกแบบให้สามารถนับคะแนนจากสถานทูตได้ โดยมีคนไทยในต่างประเทศเป็นสักขีพยาน แล้วส่งผลการนับคะแนนมายัง กกต. ก่อนจะส่งบัตรประชามติตามมาภายหลัง ซึ่งเป็นวิธีที่มีความสะดวกว่า ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบันกว่า
เตะถ่วง! ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ส.ว.ข้องใจองค์ประชุมน้อย
การประชุมดำเนินมาถึงเวลา 14.19 น. สมาชิกรัฐสภาที่ร่วมประชุมเริ่มมีจำนวนน้อยด้วยเหตุที่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยลายกพรรคเพราะมี ส.ส.ในพรรคติดโควิด-19 ทำให้ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ต้องกดสัญญาณเรียกสมาชิกหลายครั้ง เพื่อให้มาลงมติเป็นรายมาตรา
ทำให้ ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย หารือว่า เข้าใจดีกว่าประธานกลัวจะไม่ครบองค์ประชุม จึงขอถามว่า ถ้าเสียงไม่ถึงครึ่งแล้วเลิกประชุม ผลของกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นอย่างไร จะมีการเปิดสมัยวิสามัญอีกหรือไม่
ชวน ชี้แจงว่า กฎหมายฉบับนี้เปิดประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ 2 ครั้งแล้ว และจะไม่มีเป็นครั้งที่ 3 โดยก่อนหน้านี้ ตนได้ขอความร่วมทุกพรรคให้เข้าร่วมประชุม สำหรับคนที่ไม่ได้มีความเสี่ยงขอให้เข้าร่วมประชุม กฎหมายฉบับนี้หากไม่ผ่านวันนี้ ก็จะค้างไปสู่การพิจารณาในสมัยการประชุมหน้า ขอให้พวกเราใช้ความอดทน
ต่อมากิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลุกขึ้นเสนอนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ ระบุว่า จำนวนสมาชิกมันแปลกๆ ควรตรวจสอบด้วยการขานชื่อ
ขณะที่ ชวน แจ้งว่า ไม่ได้แปลกอะไร ขอกันได้หรือไม่ เพื่อประโยชน์ของชาติ และยืนยันว่าองค์ประชุมครบ เพราะนั่งอยู่ข้างบนเห็นหมด ขณะที่บางท่านมาประชุม แต่ไม่ได้แสดงตัวก็เท่านั้น
ด้าน สมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า เนื่องจากผู้เข้าร่วมประชุมน้อย ขอให้ประธานระมัดระวัง ป้องกันการเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดข้อบังคับและกฎหมาย
ทำให้ กิตติศักดิ์ ลุกขึ้นกล่าวอีกว่า “อย่าฝืนต่อไปเลยครับ ส.ว.ให้ความร่วมมือ 200 กว่าท่าน แต่ส่วนอื่นไม่ทราบ”
ชวน จึงกล่าวว่า “ขอร้องอย่ากล่าวหาคนอื่น ส.ว.ก็ไม่ได้มาครบ ไม่มีฝ่ายใดมาครบ”
ขณะที่ คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงว่า ส.ว.มีการกล่าวหาว่าอาจมีการเสียบบัตรแทนกันเหมือนทำตัวดี สาดขี้ให้คนอื่น ทั้งที่กฎหมายนี้เสนอโดยรัฐบาล แต่เรามาช่วยให้กฎหมายผ่านไปได้ ยังจะมาพูดเช่นนี้อีก
เวลา 14.50 น. ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แจ้งที่ประชุมว่า ขอเชิญผู้ควบคุมเสียงของรัฐบาล วุฒิสภา ฝ่ายค้าน พบตนข้างนอก และขอพักการประชุม 10 นาที
จากนั้นเวลา 15.05 น. ที่ประชุมกลับมาเข้าสู่วาระการประชุมอีกครั้ง โดย ชวน ประกาศ เลื่อนการประชุมออกไป แม้จะไม่ได้นับองค์ประชุม แต่อยากให้องค์ประชุมมีความสมบูรณ์ พร้อมให้ที่ประชุมอ่านพระบรมราชโองการปิดประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.นี้ จากนั้นได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 15.20 น. ทันที