ไม่พบผลการค้นหา
กรมการค้าภายใน หารือผู้ผลิตผู้ค้าปลีก กำหนดราคาสุกรมีชีวิตขายในประเทศห้ามเกิน 80 บาท/กก. หมูเนื้อแดงห้ามเกิน 150 บาท/กก. เนื้อสันห้ามเกิน 160 บาท ลั่นผู้ค้าเกินราคาสมควรมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี ปรับสูงสุด 1.4 แสนบาท เผยหากสถานการณ์ยืดเยื้อพร้อมออกคำสั่งจำกัดปริมาณส่งออก-ระงับส่งออกชั่วคราว

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า หลังจากกรมการค้าภายในได้ประชุมหารือกับผู้ผลิตสุกรเมื่อวันที่ 17 ก.ค. และประชุมกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา และได้ข้อสรุปร่วมกันสำหรับการแก้ปัญหาราคาสุกรเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค คือ 1) ฟาร์มผู้เลี้ยงจะขายสุกรมีชีวิตเพื่อขายในประเทศ ไม่เกินกิโลกรัมละ 80 บาท 2) ผู้ค้าปลีก ตกลงกำหนดราคาเนื้อแดง (รวมเนื้อไหล่ เนื้อสะโพก) ต้องไม่เกินกิโลกรัมละ 150 บาท และราคาเนื้อสันต้องไม่เกินกิโลกรัม 160 บาท 

โดยจะยืนราคานี้ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และหากสถานการณ์ราคาสุกรมีชีวิตเพื่อชำแหละในประเทศยังสูงเกินกิโลกรัมละ 80 บาทอยู่ กรมการค้าภายในจะเสนอคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ให้เป็นสินค้าควบคุมในลำดับถัดไป เป็นมาตรการขั้นที่ 2 

แล้วหลังจากนี้ หากสถานการณ์ราคายังไม่ดีขึ้นจะมีมาตรการดูแลในอีก 2 ขั้นตอนเพิ่มเติม ได้แก่ พิจารณาจำกัดปริมาณส่งออกสุกรมีชีวิตให้ไม่เกินวันละ 50,000 ตัว จากปัจจุบันส่งออกวันละ 10,000 ตัวจากกำลังการผลิตทั้งประเทศวันละไม่ 70,000 ตัว และขั้นตอนที่ 4 คือ ออกคำสั่งระงับการส่งออกสุกรมีชีวิตชั่วคราว

“ณ วันนี้ ราคาสุกรมีชีวิตส่งออก ขายราคาเท่าไร เราจะไม่ก้าวล่วง แต่กรณีราคาสุกรมีชีวิตที่ขายเพื่อชำแหละขายภายในประเทศต้องไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลฯ เนื้อแดงต้องไม่เกิน 150 บาทต่อกิโลฯ และเนื้อสันขอปรับขึ้นนิดหนึ่งแต่ไม่เกิน 160 บาทต่อกิโลกรัม” นายวิชัย กล่าว

พร้อมกับชี้แจงว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาสุกรในประเทศปรับตัวขึ้นในช่วงนี้มีสาเหตุหลักสืบเนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านประสบปัญหาโรคไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ตั้งแต่กลางปี 2562 ขณะที่ในประเทศไทยดูแลโรคได้ จึงทำให้ปริมาณความต้องการสุกรมีชีวิตของไทยที่ส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับปัจจัยเรื่องอุปสงค์-อุปทาน กลุ่มผู้ค้าต้องการสินค้าจึงเสนอราคาซื้อสูงขึ้น ส่วนผู้ขายบางรายเห็นโอกาสปรับขึ้นราคา

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมการค้าภายในยืนยันตามคำยืนยันของผู้เลี้ยงสุกรที่มาประชุมร่วมกันว่า ปริมาณสุกรไม่ได้ตึงตัว

“ราคาสุกรมีชีวิตกิโลฯ ละ 80 บาท ถือว่าได้กำไรแล้ว เพราะต้นทุนอยู่ที่ไม่เกิน 70 บาท และจากการสำรวจหมูชำแหละขายในห้างสรรพสินค้ายังไม่มีห้างใดขายเกิน 150 บาท/ กก.” นายวิชัย กล่าว

พร้อมกันนี้ ยังเปิดเผยว่า กรมการค้าภายในได้ส่งทีมไปสำรวจตลาดสดในเขตกรุงเทพฯ เบื้องต้นพบว่า ราคาหมูเนื้อแดงในบางตลาดมีราคาสูงเกินราคา อาทิ ตลาดพรานนก ขายกก. ละ 170 บาท, ตลาดรามอินทรา กม.2 ขาย 170 บาท, ตลาดดาวคะนอง ขาย 170-175 บาท, ตลาดเงินวิจิตร ย่านวนเวียนใหญ่ ขาย 175 บาท ส่วนตลาดพระราม 5 ขาย 145 บาท ตลาดยิ่งเจริญขาย 150-160 บาท ขณะที่โมเดิร์นเทรด เช่น บิ๊กซี ขายหมูเนื้อแดง กก.ละ 134 บาท เทสโก 140 บาท และแม็คโคร 135 บาท

ทั้งนี้ กรณีพบการขายเกินราคา มีโทษจำคุก 5 ปี โทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และหากพบขายราคาเกินสมควร ใช้มาตรา 29 โทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท

รวมทั้งตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. นี้ กรมการค้าภายในจะจัดหาสุกรชำแหละเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนในราคากิโลกรัมละ 130 บาท กระจายไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อดูแลค่าครองชีพของประชาชนที่มีรายได้น้อยและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งปริมาณจำหน่ายราคาดังกล่าวอาจไม่มาก แต่หวังว่าจะลดผลกระทบกับผู้บริโภคได้

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวด้วยว่า ราคาที่กำหนดทั้งหมูเนื้อแดงและเนื้อสันตามที่กล่างข้างต้น จะไม่ได้รวมถึงเนื้อสุกรชำแหละอนามัยที่จำหน่ายในแม็กแวลู, วิลลา และท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นสินค้าพรีเมียมที่ผู้บริโภคราคาจะแตกต่างจากเนื้อสุกรทั่วไป



ข่าวที่เกี่ยวข้อง :