สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือไม่เคยเปิดเผยว่าหากคิมจองอึนในวัย 36 ปี "ไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือได้" อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเพราะอาการป่วยหรือเสียชีวิต ก็ยังไม่มีการยืนยันว่าใครจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจคนต่อไป
ตำแหน่งผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือเป็นที่จับตาของคนทั้งโลก เพราะผู้นำคนใหม่นี้ไม่ได้เพียงแค่สืบทอดอำนาจของตระกูล 'คิม' ที่ทรงอิทธิพลเท่านั้น แต่เขา หรือเธอ จะกลายเป็นผู้ควบคุม 'อาวุธนิวเคลียร์' ที่บรรดาชาติมหาอำนาจพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะเจรจาให้ยุติการพัฒนาอาวุธร้ายแรงนี้
เว็บไซต์ฟอร์บส อ้างอิงคำสัมภาษณ์ของนักวิเคราะห์ที่ได้ให้ข้อมูลไว้กับ Associated Press ซึ่งชี้ว่า 'คิมโยจอง' น้องสาวแท้ๆของคิมจองอึน มีโอกาสสูงที่สุดในการสืบทอดอำนาจต่อจากพี่ชาย โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่ามีความเป็นไปได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เพราะเธอได้รับความไว้ใจจากคิมจองอึนในการปฏิบัติภารกิจสำคัญ เช่น การเยือนเกาหลีใต้เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกในปี 2561 รวมถึงเป็นตัวแทนทางการทูตในพบปะกับประธานาธิบดีมุนแจอินของเกาหลีใต้
ทั้งนี้ ตามรายงานของหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ระบุว่า คิมโยจอง เกิดเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2532 ขณะที่หน่วยข่าวกรองของเกาหลีใต้ กล่าวว่าเธอเกิดเมื่อปี 2530 โดย 'คิมโยจอง' เป็นลูกสาวคนเล็กสุดเพียงคนเดียวของคิมจองอิล อดีตผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ กับภรรยาเชื้อสายญี่ปุ่น โคยองฮุย และเป็นพี่น้องร่วมมารดากับคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน แม้คิมจองอึนจะมีพี่ชายต่างมารดา แต่ก็เสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย และอาศัยอยู่ต่างประเทศอีก 1 ราย
อย่างไรก็ตาม เธอไม่ใช่เพียงตัวเลือกเดียวของเกาหลีเหนือเท่านั้น และสังคมนิยมเพศชายก็อาจเป็นอุปสรรคสำคัญของการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของเธอได้
(ข่าวที่เกี่ยวข้อง : คิมโยจอง ผู้หญิงทรงอิทธิพลแห่งเกาหลีเหนือ)
แม้คิมโยจองจะเป็นตัวเก็งอันดับ 1 แต่นักวิเคราะห์ก็มองด้วยว่า ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในพรรคแรงงานเกาหลี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในสภาประชาชนสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ อาจรวบรวมเสียงสนับสนุนได้มากพอที่จะผลักดันแนวคิด 'ผู้นำร่วม' (collective leadership) ให้เป็นความจริงขึ้นมาได้
'โชรยองเฮ' ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาประชาชนสูงสุด อันเป็นตำแหน่งทางพิธีการ ซึ่งได้รับตำแหน่งดังกล่าวเมื่อปีที่แล้ว เสนอแนวคิดเรื่อง 'ผู้นำร่วม' ซึ่งคณะกรรมการกรมการเมืองอาจเป็นผู้คัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งด้านการบริหารต่างๆ ตามความเหมาะสม และจะนำไปสู่การสิ้นสุดระบอบสืบทอดอำนาจตามสายเลือด หรือสิ้นสุดการปกครองของตระกูลคิมในเกาหลีเหนือที่กินเวลายาวนานมาถึง 3 รุ่นก็เป็นได้
หาก 'คิมโยจอง' น้องสาวแท้ๆ ของคิมจองอึนได้ขึ้นสืบทอดอำนาจ ก็อาจเป็นแค่ในระยะเวลาชั่วคราวเท่านั้น เพราะในอดีต การสั่งสมบารมีและประสบการณ์ทางการเมืองในเกาหลีเหนือต้องใช้เวลายาวนานกว่านี้มาก สมัย 'คิมจองอิล' บิดาของคิมจองอึนและคิมโยจอง ใช้เวลาราว 20 ปีกว่าจะได้รับสืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุด ขณะที่ 'คิมจองอึน' มีเวลาเตรียมตัวราว 1 ปี เพราะคิมจองอิลจากไปอย่างกะทันหันด้วยโรคหัวใจ
'คิมจองชอล' พี่ชายของทั้งคิมจองอึนและคิมโยจอง เป็นคนหนึ่งที่มีสิทธิสืบทอดอำนาจตามสายเลือด แต่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับแวดวงการเมืองและการปกครองเกาหลีเหนือมานานแล้ว
คำให้การของ 'แทยองโฮ' อดีตทูตเกาหลีเหนือแปรพักตร์ที่ลี้ภัยไปเกาหลีใต้ ระบุว่า คิมจองชอลต้องการใช้ชีวิตอย่างสงบและเล่นดนตรีเท่านั้น ปัจจุบันเขายังอาศัยอยู่ต่างประเทศ แต่ไม่ได้เปิดเผยว่าอยู่ที่ไหน ขณะที่ 'คิมจองนัม' พี่ชายต่างมารดาอีกคนหนึ่ง ถูกลอบสังหารเสียชีวิตที่สนามบินในกรุงกัวลาลัมเปอร์ตั้งแต่ปี 2560
ส่วนคนในตระกูลคิมที่เคยมีบทบาทอย่างมากในแวดวงการเมืองเกาหลีเหนือ คือ 'คิมคยองฮุย' น้องสาวของอดีตผู้นำคิมจองอิล จึงมีศักดิ์เป็นอาของคิมจองอึนและคิมโยจอง แต่เธอไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนมากนักหลังจากที่คิมจองอึนสืบทอดอำนาจปกครองเกาหลีเหนือเมื่อปี 2554 และมีรายงานว่าคิมจองอึนลงโทษประหารชีวิต 'จางซองแท็ก' สามีคิมคยองฮุย ผู้เป็นอาเขยของเขาเอง
คิมคยองฮุยหายหน้าไปนานโดยสื่อเกาหลีเหนือรายงานว่าเธอต้องพักฟื้นเพราะอาการป่วย แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีภาพของคิมคยองฮุยออกงานพิธีระดับประเทศพร้อมกับคิมจองอึนปรากฏผ่านสื่อเกาหลีเหนืออีกครั้งหนึ่ง
หน่วยข่าวกรองของเกาหลีใต้เปิดเผยว่าคิมจองอึนนั้นมีทายาทสำหรับสืบสกุล และมีสิทธิเป็นผู้สืบทอดอำนาจได้ตามสายเลือด โดยเขามีบุตร 3 คนกับภรรยาของเขา รีโซลจู ผู้ซึ่งได้รับการประกาศว่าเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของเกาหลีเหนือในเดือนมกราคม 2555
โดยลูกคนโตของคิมมีอายุ 10 ปี และคนเล็กสุดเกิดเมื่อปี 2560 นั่นหมายความว่าลูกๆทั้ง 3 คนจำเป็นจะต้องพึ่งหาผู้แทน หรือผู้ช่วยทางการเมือง หากว่าลูกคนใดคนหนึ่งของคิมจองอึนจะต้องขึ้นมารับตำแหน่งต่อจากพ่อในฐานะทายาทรุ่นที่ 4
แต่ท้ายที่สุดแล้วใครจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจ ก็ขึ้นอยู่ความความจริงหนึ่งเดียวที่ว่า 'คิมจองอึนยังมีชีวิตอยู่หรือไม่'
คิมจองอึน ปรากฏตัวในที่สาธาณะครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะเข้ารับการผ่าตัดโรคหลอดเลือดหัวใจเมื่อวันที่ 12 เม.ย. และเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ซึ่งเป็นวันครบครอบวันเกิดของคิมอิลซุง ผู้ก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือนั้น ไม่มีการปรากฏตัวของคิมจองอึน ที่จะต้องมาร่วมงานในวันสำคัญของประเทศวันดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดข่าวลือว่า ผู้นำเกาหลีเหนืออาจจะมีอาการทรุดลงหลังจากการผ่าตัดในครั้งนี้ และสื่อออนไลน์บางแห่งก็รายงานว่าเขาถึงแก่อสัญกรรมแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการออกมาแต่อย่างใด
ขณะที่ในวันที่ 25 เม.ย. คิมจองอึน ก็ไม่ได้ปรากฏตัวในการเฉลิมฉลองวันครบรอบการก่อตั้งกองทัพปฏิวัติประชาชนเกาหลี (KPRA) เช่นกัน โดยสื่อเกาหลีเหนือรายงานเพียงประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งกองทัพฯ เท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: