เว็บไซต์รัฐสภาได้สรุปผลงานสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ปีที่ 3 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง วันที่ 1 พ.ย. 2564 - 28 ก.พ. 2565 ซึ่งรวบรวมโดย สำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ ในสมัยประชุมดังกล่าวมี ญัตติที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้ว มีญัตติที่สภามีมติส่งรัฐบาลดำเนินแล้ว จำนวน 3 เรื่อง รวม 15 ญัตติ
1.เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ประกอบด้วย
1) ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ผู้เสนอ อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ
2) ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้รัฐบาลดำเนินการตรวจสอบกรณีการสลายการชุมนุมชาวบ้านจะนะหน้าทำเนียบฯ เมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค. 2564 และตรวจสอบความผิดปกติของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะใหม่ให้ครบทุกมิติ ผู้เสนอ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
3) ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรส่งข้อคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้รัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินการ ผู้เสนอ สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย
4) ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษากรณีการไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงผลการเจรจาปัญหาระหว่างกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นกับผู้แทนรัฐบาล ผู้เสนอ ซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะยา พรรคประชาชาติ
5) ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณากรณีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ต่อกลุ่มประชาชนจากจะนะ จ.สงขลา ที่มาชุมนุมเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อลดความขัดแย้งผู้เสนอ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์
สาระ : โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในเขตพื้นที่อำเภอจะนะที่มีเป้าหมายว่าจะขยายรายได้และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการโครงการดังกล่าวมีทั้งชาวบ้านในพื้นที่ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการจัดรับฟังความคิดเห็นโดยรัฐที่ไม่เป็นธรรม การไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างรัฐกับชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงและท้ายที่สุดมีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น จึงสมควรให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมศึกษาผลกระทบจากโครงการดังกล่าวอย่างครบทุกมิติ รวมถึงการหาแนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว
ผลการดำเนินการ : สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้ส่งญัตติดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ในคราวประชุมมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 15 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันที่ 9 ธ.ค. 2564
2.ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษามาตรการและผลกระทจากนโยบายการเปิดประเทศ ซึ่งเป็นญัตติเสนอด้วยวาจา
ผู้เสนอ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะยา พรรคประชาชาติ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย สะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุุรี พรรคเศรษฐกิจไทย นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย และ นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้เสนอมาเป็นหนังสือ
โดยสาระ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมกันพิจารณาถึงผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจเกี่ยวกับการเปิดประเทศ โดยจะต้องมีแผนและยุทธศาสตร์และกระบวนการขั้นตอนในการเข้ามาในประเทศไม่ควรยุ่งยาก โดยการเปิด ประเทศเพื่อที่จะนำเงินเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น รัฐบาลควรที่จะเร่งดำเนินการแก้ไขเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศ หากว่าไม่ดำเนินการเช่นนั้นจะทำให้การเปิดประเทศจะไม่ประสบความสำเร็จหรือได้รับประโยชน์ประกอบกับการระบาดของโรคโควิดยังเป็นอันตราย เพราะอัตราการได้รับวัคซีนของประชาชนยังน้อยอยู่
ดังนั้นจึงต้องเสนอญัตติดังกล่าวเพื่อให้สภาฯ พิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศ รวมทั้งผลกระทบต่อประชาชนด้านอื่นๆ ด้วย และให้สภามีมติและส่งผลการพิจารณาให้รัฐบาลรับไปดำเนินการ
ผลการดำเนินการ : สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติส่งรัฐบาลด าเนินการ ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 5(สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ) วันพฤหัสบดีที่ 11 พ.ย. 2564
3.ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรื่องการปกปิดการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของรัฐบาล ทำให้สุกรและสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น (ญัตติเสนอด้วยวาจา) ผู้เสนอ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย
สาระ : โรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร หรือโรค African Swine Fever (ASF) เป็นโรคที่เกิดขึ้นมานานเป็นเวลากว่าร้อยปีแล้ว โดยโรคนี้ไม่มีวัคซีนและไม่มียารักษา แต่ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรปไม่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้เพราะว่าประเทศเหล่านั้นมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ในปี พ.ศ. 2561 โรค ASF ได้อุบัติขึ้นในประเทศจีน และได้แพร่ระบาดไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในทวีปเอเชียตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2561 - 2562
จนปัจจุบันโรคนี้ได้กระจายไปแล้วใน 34 ประเทศ และทุกประเทศต่างยอมรับว่ามีการระบาดของโรคเกิดขึ้นจริงในส่วนของประเทศไทย เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต่างรู้ดีว่ามีการระบาดของโรค ASF ในประเทศมานานแล้วโดยแพร่ระบาดมาจากประเทศจีน เข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และเริ่มระบาดในพื้นที่ จ.เชียงราย จ.พะเยาและจังหวัดในภาคเหนือตอนบนทั้งหมด เมื่อปี พ.ศ. 2562 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทยจึงได้ระดมเงินจากเกษตรกรด้วยกันเองได้ประมาณ 200 ล้านบาทเพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้ในการป้องกันไม่ให้โรคนี้ระบาดไปทั่วประเทศ แต่กรมปศุสัตว์กลับไม่ยอมรับและปกปิดข้อเท็จจริง องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ว่าประเทศไทยไม่ได้มีการระบาดของโรค ASF แต่อย่างใด
และมีหลายเหตุการณ์ที่แสดงว่ารัฐบาลต้องการปกปิดการระบาดของโรค ASF ในประเทศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนายทุนบางกลุ่ม เช่น เมื่อเริ่มมีการระบาดในพื้นที่จังหวัดพะเยา กรมปศุสัตว์สั่งห้ามขนย้ายสุกรออกจากพื้นที่จังหวัดพะเยาโดยเด็ดขาด แต่กลับอนุญาตให้ส่งเนื้อหมูซีกจากบริษัทใหญ่ออกจากพื้นที่ไปจำหน่ายได้ทั่วประเทศ นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2562- 2563 ยังมีการส่งออกสุกรไปยังประเทศจีนกว่า 2 ล้านตัวผ่านทางด่านเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งหากมีการประกาศว่ามีโรคระบาด ASF ในไทย จะทำให้การขนย้ายสุกรทำได้ยาก และทำให้นายทุนที่เกี่ยวข้องเสียผลประโยชน์เป็นเงินจำนวนมาก
ผลการดำเนินการ : สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติส่งรัฐบาลดำเนินการในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3ครั้งที่ 23 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 20 ม.ค. 2565
สภาเห็นด้วยญัตติ กมธ. 44 ญัตติ คว่ำญัตติ กมธ.ศึกษาขุดคลองไทย
ขณะเดียวกันสภาฯ ยังมีมติตั้งหรือมอบหมายให้คณะกรรมาธิการการพิจารณาซึ่งสภาได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการแล้ว และสภามีมติเห็นกับข้อสังเกตและส่งให้คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 7 คณะ รวม 44 ญัตติ
ส่วนญัตติที่สภามีมติตั้งหรือมอบหมายให้ คณะกรรมาธิการพิจารณาซึ่งสภาได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการแล้ว สภามีมติไม่เห็นชอบ จำนวน 1 คณะ รวม 9 ญัตติ คือ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ จำนวน 9 ญัตติ
โดยสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณารายงานการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และมีมติไม่เห็นชอบด้วยกับรายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 24 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ วันศุกร์ที่ 21 ม.ค. 2565 และ ครั้งที่ 29 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ วันศุกร์ที่ 4 ก.พ. 2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง