ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายสลัม 4 ภาค เรียกร้องรัฐแก้วิกฤตโควิด ด้วยสวัสดิการถ้วนหน้า ชี้คนจนกำลังจะอดตายจากนโยยายที่ไม่มีมาตรการรองรับ จวกระบบ AI ล้มเหลว เยียวยาด้วยระบบลงทะเบียนชิงโชค

เครือข่ายสลัม 4 ภาค จัดเสวนาและแถลงข่าว เสียงจากผู้ไม่มีกิน สะท้อนมาตรการเยียวยารัฐบาลและข้อเสนอ โดยนางสาวนุชนารถ แทนทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า รัฐบาลยังช่วยเหลือไม่ทั่วถึง ทั้งนโยบายที่ออกมายังทำให้ชาวบ้านทะเลาะกัน ดังนั้นควรทบทวนและใช้การเยียวยาแบบถ้วนหน้า ขณะที่ชาวชุมชนแออัดเดือดร้อนมานานแล้วและยิ่งถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์โควิด -​19 โดยปัจจุบันเครือข่ายสลัม 4 ภาค พยายามช่วยเหลือชาวชุมชนแออัด ด้วยการรับบริจาคและแจกจ่ายสิ่งของ โดยให้แต่ละชุมชนตรวจสอบกันเองว่า คนกลุ่มไหนเดือนร้อนที่สุด เพราะของบริจาคไม่เพียงพอทุกครอบครัว

การคัดกรองแบบเหมารวมที่ล้มเหลวของภาครัฐ

นางสมบุญ คงคา ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ยืนยันว่า มาตรการเคอร์ฟิวและนโยบายอยู่บ้านหยุดเชื้อชาติและปิดกิจการบางอย่าง สิ่งแรกที่กระทบคืออาชีพของคนในชุมชนแออัด ที่จำนวนมากเก็บและขายของเก่า, เป็นแรงงานอิสระหรือกรรมกร จึงขาดรายได้จุนเจือครอบครัว ที่ปัญหาหนักหน่วง เพราะภาครัฐไม่มีมาตรการรองรับนโยบายที่ออกมา

นางสาวเนืองนิช ชิดนอก กรรมการบริหาร เครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวถึงระบบ AI ที่ระบุอาชีพผิดพลาด เหมารวมและคัดกรองล้มเหลว ทั้งการลงทะเบียนยุ่งยาก แค่กดผิดก็ลงทะเบียนไม่ได้อีก ทำให้หลายคนเข้าไม่ถึง รวมถึงให้อาชีพอิสระลงทะเบียน แต่ให้ระบุข้อมูลนายจ้างด้วย และเมื่อคนในชุมชนขาดรายได้ ก็จำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบรายวันที่มีดอกเบี้ยสูง และไม่มีทรัพย์สินที่จะเข้าโรงรับจำนำแล้ว

นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ จากโครงการรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า กล่าวว่า ปี 2563 คนจนในไทยเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1 ล้าน 4 แสนคน ขณะที่ "เส้นความยากจน" ปี 2562 อยู่ที่ 2,710 บาท ข้อมูลสำรวจคนจน 70 เปอร์เซ็นต์ รายได้ลดลง ในจำนวนนี้ 60 เปอร์เซ็นต์ รายได้ลดลงทั้งหมด อีก 30 เปอร์เซ็นต์รายได้ลดลงครึ่งหนึ่ง

ขณะที่ยังเห็นว่ารัฐบาลยังคงใช้การจัดการแบบสังคมสงเคราะห์ที่ล้มเหลวมาแล้วตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช.จึงต้องทบทวนแนวทางเป็นระบบถ้วนหน้า จัดเป็นสวัสดิการของรัฐ ตั้งฐานที่เส้นความยากจน โดยเฉพาะช่วงโควิด -​19 ที่ ทุกกลุ่มอาชีพได้รับผลกระทบยิ่งต้องใช้ระบบถ้วนหน้า ซึ่งเป็นแนวทางที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด และหลายประเทศดำเนินการอยู่ ไม่ใช่การเยียวยา ที่เหมือนการลงทะเบียนชิงโชคอย่างที่เป็นอยู่ในไทย และ คำว่า "เราไม่ทิ้งกัน" เป็นเพียงวาทกรรม

7 ข้อเรียกร้องฟื้นวิกฤตด้วยสวัสดิการถ้วนหน้า

จากนั้น ได้ร่วมกันแถลงการณ์ "คนไม่มีกินกำลังจะอดตาย" เรียกร้องให้แก้วิกฤตโควิด ด้วยสวัสดิการถ้วนหน้า พร้อมมีข้อเสนอ ประกอบด้วย

1) มาตรการเยียวยา 5,000 บาท ให้ใช้ระบบถ้วนหน้า สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือการใช้มาตรการจ่ายเงินรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เป็นเวลา 2 เดือน โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยและมีสวัสดิการรองรับ ทั้งข้าราชการและรัฐวิสาหกิจชั้นสูง, ส.ส. และ ส.ว. ให้งดรับสิทธิ์นี้ได้ วนผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ควรสนับสนุนค่าอุปกรณ์การศึกษารายหัว และลดค่าหน่วยกิตการศึกษา ค่าหอพักมหาวิทยาลัยให้นักศึกษา

2) ลดค่าบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน 50 เปอร์เซ็นต์ อย่างน้อย 3 เดือน งดภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าจำเป็นพื้นฐาน อย่างน้อย 6 เดือน

3) ให้สถาบันการเงินงดชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอย่างแท้จริง อย่างน้อย 3 เดือน ยุติการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อและที่อยู่อาศัย 12 เดือน ลดดอกเบี้ยหนี้สินเกษตรกร หนี้การศึกษา และ หนี้ SME

4) ผ่อนปรนให้มีการเปิดพื้นที่ค้าขายหรือเปิดตลาด จะทำให้คนเดือดร้อนสามารถประกอบอาชีพและมีความปลอดภัย โดยเข้มงวดในการจัดการจัดพื้นที่ระยะห่างเพื่อดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาด

5) ให้รัฐบาลออกประกาศห้ามเจ้าของที่ดิน หน่วยงานรัฐ ไล่รื้อประชาชนออกจากที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ยุติการเก็บค่าเช่าที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย และดำเนินคดี ซึ่งเคยเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นแล้ว จากกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทยปิดประกาศไล่รื้อชุมชนแออัดริมทางรถไฟ ใน จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมา ทั้งที่อยู่ในระหว่างการเจรจาและมีข้อตกลงร่วมกับรัฐบาล

6) ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบการใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท งบประมาณสำหรับฟื้นฟูและเยียวยา 400,000 ล้านบาท เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด - 19 โดยใช้กลไกผ่านทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นกลไกที่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชนทั้งคนจนเมืองและคนจนในชนบท และมีหลักประกันการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้ความเดือดร้อนได้โดยตรง

7) รัฐควรพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมให้เป็นระบบถ้วนหน้า เพียงพอต่อการดำรงชีพโดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน 

โดยเครือข่ายสลัม 4 ภาค เชื่อว่า การดำเนินนโยบายตามแนวทาง "สวัสดิการถ้วนหน้า" จะเป็นมาตรการที่ยั่งยืนในการสร้างหลักประกันให้ประชาชนผ่านพ้นวิกฤตนี้ และเอื้อให้ประชาชนทุกชนชั้นที่มีความสามารถและความสร้างสรรค์ มีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :