ชื่อของวงร็อคสัญชาติรัสเซีย ‘BI-2’ ปรากฏในหน้าสื่ออีกครั้ง ภายหลังมีรายงานว่า พวกเขาถูกจับกุมที่ จ.ภูเก็ต โดยตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ในข้อหาไม่ได้ขอวีซ่าทำงานเพื่อแสดงคอนเสิร์ตอย่างถูกต้อง ก่อนที่จะถูกปรับคนละ 84 ดอลลาร์ และยึดหนังสือเดินทาง รวมถึงสุ่มเสี่ยงต่อการถูกเนรเทศออกจากประเทศไทย ขณะที่รัฐบาลกลางรัสเซียมองว่า พวกเขาคือ “ผู้สนับสนุนการก่อการร้าย” หลังมีจุดยืนต่อต้าน ‘ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ’ ของรัสเซีย
รายงานฉบับหนึ่งของ The Moscow Times เปิดเผยถึงคำให้การของสมาชิก BI-2 ที่ระบุว่า สมาชิกจำนวนหนึ่งถือสองสัญชาติคือ ‘อิสราเอล-ออสเตรเลีย’ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล และนักการทูตในประเทศไทยจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีเป้าหมายจะส่งตัวสมาชิกกลับอิสราเอล
“มีนักการทูตระดับสูงจากสถานทูตรัสเซียเข้ามาแทรกแซงกระบวนการดังกล่าว ทำให้ทางการไทยต้องยกเลิกกำหนดการตามเดินนั้นไป…” หนึ่งในสมาชิกวงเปิดเผย
ขณะที่ฝ่ายการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลกลางของรัสเซียต่างยึดมั่นในจุดยืนว่า พวกเขาเหล่านี้คือ ‘ภัยความมั่นคงทางการเมือง’ อย่าง ‘อังเดรย์ ลูวอย’ สมาชิกสภาดูมาแห่งรัสเซียจากพรรค LDPR มีความเห็นว่า วงร็อค BI-2 คือ ‘จอมหลอกลวง’ และมีวาทะว่า “เร็วๆ นี้จะได้เต้นแท็ปต่อหน้าเพื่อนร่วมห้องขังในรัสเซีย” เช่นเดียวกับ ‘มาเรีย ซาคาโรวา’ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียที่มองพวกเขาคือ “ผู้สนับสนุนการก่อการร้าย”
โดยพวกเขาถูกประหัตประหารทางอาญาจากรัฐบาลกลางรัสเซียทันที หลังมีจุดยืนต่อต้าน ‘ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ’ ของรัสเซียที่บุกถล่มยูเครน และ ‘เอกอร์ บอร์ทนิค’ นักร้องนำของวงปฏิเสธที่จะทำการแสดงบนเวทีต่อหน้าสัญลักษณ์ Z (Za pobedu) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า เรื่องแรกสุดที่รัฐบาลไทยต้องทำในเบื้องต้นคือ วงดนตรีร็อคที่ถูกทางการรัสเซียขอให้ส่งตัวกลับมีหมายจับ หรือข้อหาอะไรหรือไม่ ซึ่งต้องไปไล่ดูว่า การที่เขาต้องการตัวนั้นสอดคล้องกับข้อตกลงสนธิสัญญาต่างตอบแทนแลกเปลี่ยนอะไรหรือไม่ โดยอาจจะใช้เวลาสอบถามไปทางกระทรวงการต่างประเทศ หรือตำรวจตรวจคนเข้าเมือง
รศ.ดร.ปณิธา ยังกล่าวอีกว่า เวลาต่างประเทศต้องการขอให้ส่งตัวผู้ต้องหากลับสู่ประเทศนั้นจะส่งความต้องการมาในลักษณะ 2 ประเภท ได้แก่ ความต้องการอย่างเป็นทางการ กล่าวคือ รัสเซียจะแจ้งความต้องการผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะอยู่บนพื้นฐานของสนธิสัญญา และข้อแลกเปลี่ยนหลายอย่าง กับอีกประเภทคือ ความต้องการอย่างไม่เป็นทางการ โดยจะเป็นการส่งผ่านความต้องการมาทางผู้นำระดับสูง ซึ่งวิธีการอย่างไม่เป็นทางการนี้สามารถทำได้โดยง่าย และรวดเร็ว แต่จะมีปัญหาที่ตามมา อย่างกรณีของ ‘แรงงานอุยกูร์’
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า ในเรื่องของวีซ่าเข้าประเทศไม่ใช่ประเด็น เพราะปัจจุบันรัสเซียก็อยู่ในมาตรการวีซ่าฟรีของรัฐบาลไทย แต่กรณีของวงดนตรีร็อค BI-2 หากพิสูจน์หลักฐานตามกระบวนการแล้วพบว่า เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย หรือไม่มีการเสียภาษีอย่างถูกกฎหมายก็สามารถส่งกลับประเทศได้ทันที เพราะทำการละเมิดกฎหมายไทย แต่ทั้งนี้ไม่รู้ว่า ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ประธานาธิบดีรัสเซียจะต่อสายโดยตรงกับ เศรษฐา หรือไม่
รศ.ดร.ปณิธาน ยังยกตัวอย่างถึงกรณีของ ‘วิคเตอร์ บูท’ พ่อค้าอาวุธสงครามที่ถูกจับกุมตัวในไทยเมื่อปี 2553 หลังปฏิบัติการล่อซื้อของสำนักงานปราบปรามยาเสพติดของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ หรือดีอีเอ เมื่อปี 2551 ซึ่งทางการไทยในขณะนั้นได้ส่งไปให้ทางสหรัฐฯ จึงทำให้เราต้องปฏิเสธรัสเซีย แต่นั่นก็อยู่บนกรอบพื้นฐานที่เราสามารถปฏิเสธประเทศใดประเทศหนึ่งได้
แต่ทั้งหมดเหล่านี้รัฐบาลไทยต้องทำอย่างโปร่งใส ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมา หากไปตกลงกันเบื้องหลัง เช่นกรณีอุยกูร์ ซึ่งทางอัยการสูงสุดฝ่ายต่างประเทศจะต้องเป็นคนดูเรื่องพวกนี้
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า ประเด็นนี้มันค่อนข้างมีความหมิ่นเหม่ หากวงดนตรีร็อค BI-2 ถูกมองว่าเป็น ‘ปฏิปักษ์ทางการเมือง’ กับรัฐบาลรัสเซียไม่สามารถส่งคืนได้ เพราะผิดกติกาสากล แต่ถ้ารัฐบาลรัสเซียมองว่าเข้าข่าย ‘ผู้ก่อการร้าย’ ต้องไปดูเรื่องข้อตกลงระหว่าง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระหว่างไทย และรัสเซีย ดังนั้นต้องไปดูทาง สมช. ว่า ความต้องการดังกล่าวมันเข้ามาทางนั้นหรือเปล่า แล้วแต่ว่ารัฐบาลจะเลือกปฏิเสธ หรือให้ความร่วมมือ ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ และผลกระทบที่ตามมา
รศ.ดร.ปณิธาน ยังยกตัวอย่างการส่งตัวที่เป็นผลประโยชน์ให้แก่ไทย อาทิ กรณีของ ‘ฮัมบาลี’ หรือ ‘ริดวน อิซามุดดีน’ ผู้นำกลุ่มญะมาอะฮ์ อิสลามียะห์ ที่ได้ชื่อว่าอยู่เบื้องหลังเหตุวางระเบิดบาหลี ซึ่งถูกจับกุมในไทยเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2546 ก่อนจะส่งตัวไปยังสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งกรณีของ ‘มูฮัมหมัด ซาลีม’ หรือ ‘มุนนา จินกรา’ หนึ่งในเครือข่ายกลุ่มก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ ‘ดี-คัมปะนี’ ที่รัฐบาลอินเดียต้องการตัว ทางการไทยก็ส่งไปยังปากีสถาน เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องการเมือง
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลไทยจะกระทำอยู่ 2 อย่างคือ ส่งคืนต้นทาง เพื่อไม่ให้มีการหลบหนีมายังประเทศไทย และใช้ไทยเป็นแหล่งซ่องสุม และอีกกรณีคือ รัฐบาลจะต้องพิจารณาถึงความสุ่มเสี่ยง หากส่งตัวกลับไปแล้วไม่ปลอดภัยก็ให้พักรอในเมืองไทยก่อนหาจังหวะไปยังประเทศที่ 3 เช่น สหราชอาณาจักร สวีเดน หรือสหรัฐฯ ซึ่งเราต้องไปเป็นธุระให้ นี่คือนโยบาย และหลักปฏิบัติที่รัฐบาลไม่ค่อยชี้แจงกัน
รศ.ดร.ปณิธาน ยังกล่าวถึงความยากลำบากในการตัดสินใจของรัฐบาลอีกว่า รัฐบาลนี้ยังไม่มีรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงที่จะกำกับดูแล ดังนั้นเรื่องนี้ผู้นำในรัฐบาลที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดคงเป็น ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่จะสามารถชี้ได้ว่า ทางการไทยควรจัดการกับเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร
ในประเด็นนี้ รศ.ดร.ปณิธาน ให้ความเห็นว่า อาจจะไม่ได้กระทบโดยตรงมากนัก เพียงแต่มีข้อบัญญัติไว้ว่า ห้ามไม่ให้ส่งตัวกลับไปเผชิญอันตราย ขณะที่ สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Right Watch ประจำประเทศไทย ยืนยันชัดเจนว่า รัฐบาลห้ามส่งบุคคลไปเผชิญสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงจะหายตัวและได้รับความทรมาน ซึ่งประเทศรัสเซียเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กลุ่มที่เป็นศัตรูกับรัฐบาล คือกลุ่มคนเดียวกันที่ปูติน ‘หมายหัว’ และจ้องจะเล่นงานให้ได้
สุณัย กล่าวอีกว่า วงดนตรีร็อคดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะได้รับเช่นนั้น และกฎหมายระหว่างประเทศก็ระบุชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้ส่งตัวกลับไปเผชิญอันตราย ดังนั้นมันมีกฎหมายทั้งไทย และระหว่างประเทศล็อคเอาไว้เพื่อไม่ให้ไทยส่งตัววงดนตรี BI-2 กลับรัสเซีย หากจะเนรเทศ ต้องเป็นประเทศที่แน่ใจว่า พวกเขาจะไม่ได้รับอันตราย
สุณัย ยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะกระทบกับการพิจารณาสถานะไทยเข้าชิงตำแหน่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) เนื่องจาก เศรษฐา เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2566
เศรษฐาให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า สิทธิมนุษยชนในรัฐบาลนี้จะไม่เหมือนรัฐบาลประยุทธ์ ดังนั้นเมื่อให้คำมั่นสัญญาไว้แล้ว ประชาชนทั่วโลกก็ย่อมทวงสัญญาว่า นายกฯ จากเมืองไทยจะทำได้อย่างที่พูดไหม
สุณัย กล่าวต่อว่า เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ระหว่างประเทศ สื่อระหว่างประเทศต่างเล่นประเด็นนี้ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จำนวนผู้เข้าชมข่าวรวมแล้วหลักแสนคน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องคิดหน้าคิดหลังดีๆ เพราะหากละเมิดพันธะกฎหมายไทย หรือกฎหมายระหว่างประเทศแล้วนั้นจะกระทบกับหลายๆ เรื่องที่ เศรษฐา เคยให้คำมั่นสัญญาไว้
ขณะที่ท่าทีของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา ด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “ยังไม่ได้รับรายงาน” อาจเป็นภาพสะท้อนที่รัฐบาลไทยยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร
โดย สุณัย มองว่า อาจจะอยู่ระหว่างการตัดสินใจของรัฐบาลที่ยังไม่อยากแถลงท่าที เพราะรัสเซียก็มีอิทธิพลกับไทยเยอะ ขณะที่ประเทศฝ่ายประชาธิปไตย และองค์กรสิทธิฯ ทั่วโลกต่างกดดัน “ส่งกลับไปไม่ได้” ดังนั้น รัฐบาลไทยคงใช้ท่าทีที่จะไม่แถลงอะไรจนกว่าจะมีการตัดสินใจที่ชัดเจน
“ไม่เชื่อว่า รัฐบาลจะไม่รับรู้ เขารู้แล้ว แต่เลือกที่จะหลบเลี่ยงมากกว่า หรืออาจจะเป็นการรอการตัดสินใจของผู้นำรัฐบาล ฉะนั้นเราก็ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด หากท้ายที่สุดมีการส่งตัวกลับไปยังรัสเซีย หรือเบลารุส ชะตากรรมของวงดนตรีร็อคคงตายแน่” สุณัย กล่าว
สายตาของประชาคมโลกต่างพุ่งเป้ามายังท่าทีของรัฐบาลไทยที่นำโดย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งให้คำมั่นสัญญาต่อนานาประเทศว่าจะฟื้นฟูสิทธิมนุษยชน ให้แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาลยังเน้นย้ำเรื่องการยกระดับการทูต จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เรื่องดังกล่าวกลายเป็น ‘เผือกร้อน’ ที่จะชี้วัดสถานะด้านสิทธิฯ ของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 รัฐบาลไทยซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ในขณะนั้น) ได้มีมติที่ประชุม ครม. อนุมัติลงนาม ร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน และการดำเนินการให้สนธิสัญญามีผลบังคับใช้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการปราบปรามอาชญากรอย่างมีประสิทธิภาพมาแล้ว
ท้ายที่สุด ‘รัฐบาลกลางรัสเซีย’ จะมองว่า วงดนตรีร็อค BI-2 เป็นผู้สนับสนุนการก่อการร้าย และเป็นอาชญากรทางการเมือง แต่อย่างไรเสีย นี่จะเป็นจุดชี้วัดสถานะความมั่นคงทางด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง
ถือเป็นจุดท้าทายต่อประชาคมโลกที่ ‘เศรษฐา-ปานปรีย์’ จะต้องคิดหนักในการนำพาประเทศกลับมาเบ่งบานอีกครั้งไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่หลายฝ่ายมีความเชื่อมั่น และเดินหน้าไปหลายๆ ด้าน แต่ยังรวมถึงสถานะทางด้านสิทธิมนุษยชนที่ยังคงถูกตั้งคำถามอยู่เนืองๆ ทั้งในประเทศ และนอกประเทศ