ไม่พบผลการค้นหา
ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยให้ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ข้อหากระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์ เสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ พร้อมเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง กก.บห. ทษช.เป็นเวลา 10 ปี

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 7 มี.ค. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนำโดยนายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยในคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ในฐานะผู้ถูกร้องตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) กรณีกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยศาลมอบหมายให้นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย

โดยศาลได้พิจารณาใน 3 ประเด็น ประเด็นที่ 1 เป็นเหตุให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

โดยศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวด้วยมติเอกฉันท์ยุบพรรคไทยรักษาชาติ เนื่องจากพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562 ได้เสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี สมควรเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อโดยรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคไทยรักษาชาติ จึงเป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะส่งผลให้ระบอบการเมือง การปกครองของไทยแปรเปลี่ยนไปสู่สภาพอันเดียวกับระบอบการเมืองที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐและมีพระบรมวงศานุวงศ์ใช้อำนาจหน้าที่ทางการเมืองในการปกครองประเทศ สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงราชย์แต่มิได้ทรงปกครองต้องถูกเซาะกร่อนทำลาย บ่อนทำลายให้เสื่อมทราม 

อนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีเจตนารมณ์สำคัญประการหนึ่ง มุ่งลดเงื่อนไขความขัดแย้งให้ประเทศสงบสุขบนฐาน รู้รักสามัคคีตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยและประเพณีที่เหมาะสมกับสถานการณ์และลักษณะสังคมไทย อีกทั้งรัฐธรรมนูญบัญญัติปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน

"การนำสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์มาฝักใฝ่พรรคการเมืองเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความเป็นกลางทางเมือง อยู่เหนือการเมือง และเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนเสื่อมโทรม และจะก่อให้เกิดการตำหนิติเตียน ความไม่สมัครสมานสามัคคีระหว่างเจ้านายกับราษฎร ซึ่งขัดต่อรากฐานหลักการการปกครองของประเทศไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข"

ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุถึงคำวินิจฉัยในประเด็นที่ 1 ด้วยว่า การใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญรับรองนั้น ย่อมต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์กระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และต้องมิใช่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพที่จะส่งผลเป็นการบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนคติรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมโทรมไป ด้วยเหตุฉะนี้ ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของนานาอารยะประเทศจึงบัญญัติให้มีกลไกปกป้องระบอบการปกครองจากการถูกบั่นทอนบ่อนทำลายโดยการใช้สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองที่เกินขอบเขตของบุคคลหรือพรรคการเมืองไว้ด้วยเสมอ

ไทยรักษาชาติ de8c470ca2af_16185713_190307_0023.jpg

แม้พรรคไทยรักษาชาติจะมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้โดยสมบูรณ์ แต่การใช้สิทธิและเสรีภาพในการกระทำการใดๆ ของพรรคการเมือง ย่อมต้องอยู่บนความตระหนักว่า การกระทำนั้นจะไม่เป็นการอาศัยสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองที่ได้รับมาจากรัฐธรรมนูญ ให้มีผลกระทบย้อนกลับมาทำลายหลักการพื้นฐาน บรรทัดฐาน คุณค่า และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง เพราะประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามนิติราชประเพณีของไทยนั้น มั่นคงสถานะและเอกลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ของไทยมาแต่โบราณว่าพระองค์จักทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ไทย ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกชนชั้น วรรณะ เพศและวัย ทรงเคารพรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และโบราณราชประเพณี และทรงอยู่เหนือการเมือง จึงต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง ทั้งยังทรงต้องระมัดระวังมิให้สถาบันกษัตริย์ของไทยต้องถูกนำไปเป็นคู่แข่งหรือฝักฝ่ายทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดอย่างเคร่งครัด 

เพราะหากถูกกระทำด้วยวิธีการใดๆ ให้เกิดผลเป็นไปเช่นนั้น สภาวะความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมสูญเสียไป เมื่อเสียความเป็นกลางทางการเมืองก็ย่อมไม่สามารถดำรงพระองค์หรือสถาบันทรงอยู่เหนือการเมืองได้ ซึ่งถ้าปล่อยให้การเป็นไปเช่นนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะไม่ทรงอยู่ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมของประชาชนชาวไทยอีกต่อไป นั่นย่อมทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทย จักต้องเสื่อมโทรมลง หรือถึงกับต้องสูญสิ้นไป ซึ่งหาควรปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้นไม่

ถ้าพรรคการเมืองใดกระทำล้มล้างหรืออาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุุข พรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นย่อมถูกลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 (1) และ (2) แล้วแต่กรณีจะอ้างความไม่รู้ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือความเห็นความเชื่อของตนให้หลุดพ้นความรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นมิได้

ศาลรัฐธรรมนูญ 8198.jpg

ถึงแม้กฎหมายไม่ได้บัญญัตินิยามศัพท์คำว่าล้มล้าง และปฏิปักษ์ไว้ แต่ทั้งสองคำนั้นเป็นคำในภาษาไทยธรรมดาที่มีความหมายตามที่ใช้และรู้โดยทั่วไป ซึ่งศาลย่อมรู้ได้เองว่า ล้มล้าง หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสิ้นสลายไปไม่ให้ธำรงอยู่หรือมีอยู่ต่อไปอีก ส่วนคำว่าปฏิปักษ์นั้น ไม่จำเป็นต้องรุนแรงหรือมีเจตนา จะล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำเป็นต้องตั้งตนให้เป็นศัตรูฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่ลักษณะขัดขวาง หรือสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้า หรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผล เซาะกร่อน บ่อนทำลายเกิดความชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง

เมื่อการกระทำของผู้ถูกร้องได้กระทำไปโดยรู้สำนึกและโดยสมัครใจอย่างแท้จริง ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องย่อมทราบดีว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทั้งยังเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้ว แต่ยังคงดำรงสมาชิกพระบรมจักรีวงศ์ การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์ฝักฝ่ายทางการเมือง 

ทั้งยังเป็นการกระทำที่วิญญูชน คนไทยทั่วไปเชื่อได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยที่เป็นศูนย์รวมใจของคนในชาติย่อมนำมาสู่ความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยลให้ปรากฏผล มุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการสุ่มเสี่ยงสถานะที่จะอยู่เหนือการเมือง และดำรงความเป็นกลางทางการเมือง อันเป็นจุดประสงค์เริ่มต้นของการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดทราม อ่อนแอลงเข้าลักษณะของการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 92 (2) อย่างชัดแจ้งแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามมาตรา 92 วรรคสอง 

นุรักษ์ มาประณีต ประธาน ศาลรัฐธรรมนูญ ca2af_16185713_190307_0019.jpg
  • มติ 6 ต่อ 3 เสียงเพิกถอนสิทธิลงเลือกตั้ง กก.บห.

ประเด็น 2 คณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องจะถูกเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 92 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือไม่ โดยศาลมีมติ 6 ต่อ 3 เสียงเห็นว่าคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติที่กระทำความผิดเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562 ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 10 ปี

โดยศาลวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ถูกร้องกระทำการให้เป็นเหตุยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 วรรคหนึ่ง (2) และศาลมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้องแล้วจึงชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีสิทธิเพิกสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งในวันดังกล่าวคือวันที่ 8 ก.พ. 2562 อันเป็นวันที่เป็นการกระทำที่เป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง

มีข้อพิจารณาต่อไปว่าเมื่อเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติแล้ว จะต้องเพิกถอนสิทธิระยะเวลาเท่าไร เห็นว่าการกำหนดระยะเวลาของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองอย่างหนึ่งต่อผู้อาสาทำประโยชน์ต่อบ้านเมืองในฐานะ ส.ส. จึงพิจารณาให้ได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรระหว่างพฤติการณ์ของความร้ายแรงของการกระทำให้ได้สัดส่วนกับโทษที่จะได้รับ ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลเมื่อพิจารณาลักษณะการกระทำของผู้ถูกร้องที่วินิจฉัยมา การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังไม่ถึงขนาดเป็นการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้ง การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อการปกครองของประเทศชาติ 

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความสำนึกรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติที่น้อมรับพระราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมทันทีที่ภายหลังได้รับทราบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ จึงเห็นสมควรกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องมีกำหนดเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ซึ่งจะสอดคล้องกับระยะเวลาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรคสอง ที่ห้ามผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องที่จะไปจดทะเบียนพรรคขึ้นใหม่หรือไปบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ดังนั้น จึงให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติที่ดำรงตำแหน่งอยู่เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำความผิดเป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง

sek-จรุงวิทย์ ภุมมา-นายทะเบียนพรรคการเมือง กกต.-คดียุบพรรค ทษช.
  • เอกฉันท์ห้าม กก.บห.ทษช. ไปตั้งพรรคใหม่ 10 ปี

ประเด็นที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติจากคำสั่งยุบพรรค จะไม่สามารถไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ได้ภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรคสอง

ส่วนการร้องสอดและการยื่นคำร้องของบุคคลอื่น รวมทั้งนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ศาลมีความเห็นว่าไม่มีเหตุอันสมควรให้เป็นคู่กรณีจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องและมีคำสั่งไม่รับคำร้อง

  • เปิด 13 ชื่อถูกตัดสิทธิลงเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติเป็นเวลากว่า 30 นาที โดยฝ่ายผู้ร้องมีพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นตัวแทนผู้ร้องเข้าฟัง ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้องนำโดย ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรคอีก 13 คน และแกนนำอาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มาร่วมรับฟัง

สำหรับกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ ที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ประกอบด้วย 1.ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค

2.นายฤภพ ชินวัตร รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1

3.น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร รองหัวหน้าพรรคคนที่ 2

4.นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 3

5.นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล รองหัวหน้าพรรคคนที่ 4

6.นายจุลพงศ์ โนนศรีชัย กรรมการบริหารพรรค

7.นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค

8.นายต้น ณ ระนอง รองเลขาธิการพรรคคนที่ 1

9.นายวิม รุ่งวัฒนจินดา รองเลขาธิการพรรค

10.นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ รองเลขาธิการพรรคคนที่ 3

11.นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ

12.นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค

13.นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ เหรัญญิกพรรค

ขณะที่นายรุ่งเรือง พิทยศิริ ได้ลาออกจากกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2562